ผู้ป่วยไตถูกเรียกเก็บเงินซ้ำซ้อน ล่าสุดช่วงสงกรานต์ถูกเก็บค่าตัวกรองล้างไต ทั้งที่ สปสช.เหมาจ่ายให้แล้ว 1,500 บาทต่อครั้ง พ้อหลายรายจ่ายไม่ไหว กังวลฟ้อง รพ.กลัวไม่มีที่ฟอกไต
นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย โพสต์เฟชบุ๊กระบุว่า เทศกาลสงกานต์ก็ไม่เว้น ยังมีเรื่องร้องเรียนขอความช่วยเหลือเรื่องการเรียกเก็บค่าตัวกรองล้างไต ทั้งๆที่หน่วยบริการก็รู้อยู่แล้วว่ามันถูกเหมาจ่ายมาอย่างชัดเจนแล้วในราคา 1,500 บาทต่อครั้ง เป็นปัญหาโลกแตกจริงๆทุกฝ่ายพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้มานานมากก็ไม่จบสักที
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กรณีผู้ป่วยไตถูกเรียกเก็บเงินซ้ำซ้อน ว่า เรื่องนี้มีผู้ป่วยโรคไตร้องเรียนมาที่สมาคมฯ ตลอด เรียกว่ากว่าครึ่งถูกหน่วยบริการบางแห่ง เรียกเก็บค่าตัวกรองล้างไตตั้งแต่ 500 800 1,000 ไปจนถึง 1,500 บาท รวมทั้งค่าเวชภัณฑ์และค่าเจาะแล็บ ซึ่งเป็นการเรียกเก็บซ้ำซ้อน ทั้งที่ สปสช.ได้เหมาจ่ายค่าบริการรวมทั้งอุปกรณ์และเวชภัณ์ค่าเจาะแล็บแล้วในราคา 1,500 บาทต่อการให้บริการต่อครั้ง ขณะเดียวกันยังมีรพ.บางแห่งทั้งๆที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช.ก็ยังเก็บค่าทำหัตถการในการ ทำเส้นฟอกไตอีก จากที่สปสช.ให้สิทธิฟรี เพราะจ่ายไปแล้ว แต่ทำไมหน่วยบริการบางแห่งยังเก็บค่าบริการเพิ่มอีก 15,000-35,000 บาท ทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้รวมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ที่ครอบคุมอยู่แล้วทำไมถึงต้องเรียกเก็บค่าส่วนต่างกับคนไข้อีก
“ยิ่งช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาพบเยอะ มีร้องเรียนมาขอความช่วยเหลือว่า เขาจ่ายไม่ไหวแล้ว อย่างปัจจุบันมีคนไข้โรคไตในระบบ 3 กองทุนสุขภาพ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการประมาณ 120,000 ราย ซึ่งทั้งหมดไม่ต้องจ่ายเงิน รัฐอุดหนุน แต่ก็ยังมีหน่วยบริการบางแห่งไม่เข้าใจ ยังเรียกเก็บ ซึ่งมองว่าไม่คุ้มทุน แต่การกำหนดราคาค่ารักษาพยาบาลได้มีการหารือกันมาก่อน โดยมีนักวิชาการ แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจนเป็นราคากลางออกมา แต่ต้องขอบคุณหน่วยบริการที่ไม่เรียกเก็บ ปฏิบัติตามข้อกำหนด ทำตามกฎระเบียบถูกต้องทุกอย่างเพื่อช่วยคนไข้” นายธนพลธ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามจะทำอย่างไรกับปัญหานี้ นายธนพลธ์ กล่าวว่า สปสช.ทราบเรื่องแล้ว เนื่องจากตนเป็นหนึ่งในกรรมการได้มีการนำเรื่องนี้มาหารือและหาทางช่วยเหลือผู้ป่วย ซึ่งสปสช.ได้ไปชี้แจงทำความเข้าใจกับหน่วยบริการที่เรียกเก็บเงิน ซึ่งก็ต้องเรียกเงินคืนให้ผู้ป่วย แต่ส่วนใหญ่ที่ร้องเรียนมายังตน คือ ร้องก่อนจะจ่ายเงิน ซึ่งทางตนได้ยกหูโทรศัพท์ถึงหน่วยบริการ ทำความเข้าใจและให้ข้อมูลกับหน่วยบริการเพื่อไม่ให้ถูกเรียกเก็บเงินก็มี แต่เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจต่อเนื่อง เพราะไม่เช่นนั้นก็จะมีการเรียกเก็บเงินกันไปเรื้อยๆแนะนำให้ผู้ป่วยร้องเรียนไปที่ สายด่วน สปสช.1330 หรือ สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งไทย ซึ่งเป็นศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง เพื่อจะได้หาแนวทางในการแก้ไขต่อไป
“ผู้ป่วยโรคไต เป็นคนไข้ที่น่าเห็นใจ เพราะหากจะไปฟ้องร้องหน่วยบริการ พวกเขาก็กังวลจะไม่มีที่ฟอกไต ซึ่งส่วนใหญ่ที่ฟอกไตทุกวันนี้ก็จะใกล้บ้าน ถ้าต้องย้ายไปไกลบ้าน ก็จะมีเรื่องค่าใช้จ่ายและปัจจัยอื่นอีก ดังนั้น เราก็พยายามช่วยเหลือ พูดคุยกับหน่วยบริการเพื่อให้เข้าใจตรงนี้” นายกสมาคมฯ กล่าว
เมื่อถามว่าผู้ป่วยต้องฟอกไตบ่อยแค่ไหน และตัวเครื่องกรองที่ถูกเรียกเก็บเงินมีระยะเวลาการใช้งานอย่างไร นายธนพลธ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยฟอกไตเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง แต่ตัวกรองไม่ได้ต้องเปลี่ยนทุกครั้ง ใช้เฉลี่ย 10-15 ครั้ง แต่อย่าลืมว่าอุปกรณ์เหล่านี้อยู่ภายใต้สิทธิประโยชน์ทั้งหมด กล่าวคือ ผู้ป่วยไม่ต้องจ่ายเพิ่มไม่ว่าสิทธิประกันสุขภาพใด ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการเพราะปัจจุบันนี้สิทธิประโยชน์ในการรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายครอบคุมทั้งหมด