สธ.หารือ สปสช.เคลียร์ปัญหาเบิกจ่ายผ่านระบบ FDH แจงได้เงินเร็วใน 72 ชม. เฉพาะ 12 จังหวัดที่นำร่อง 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ส่วนจังหวัดอื่นไม่เกิน 45 วัน รอทยอยเข้าร่วมตามเฟส พร้อมจัดทำแผนขับเคลื่อนพื้นที่ กทม. หนุนจัดซื้อยาฉีดจิตเวช 32 ล้านบาท จับตาประชุม Provider Board ครั้งแรก พ.ค.นี้
เมื่อวันที่ 30 เม.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สธ.และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพ สอดรับและตอบสนองต่อความต้องการบริการของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ตนพร้อม นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ได้นำผู้บริหารทั้ง 2 หน่วยงานประชุมหารือร่วมกันเป็นครั้งที่ 3 มีประเด็นสำคัญ คือ เรื่องแรก การขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ได้มีการติดตามผลการดำเนินงานและอุปสรรคในช่วงที่ผ่านมา โดยเรื่องการเบิกจ่ายผ่าน MOPH Financial Data Hub ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง สธ.และ สปสช. ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 28 เม.ย. 2567
มีการเชื่อมข้อมูลกับหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัด สธ.ครบทั้ง 902 แห่ง (100%) ส่วนหน่วยบริการสังกัดกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต และกรมอนามัย เชื่อมข้อมูลได้ 57 แห่ง (84%) มีการส่งข้อมูลเบิกจ่ายแล้ว 898 แห่ง สามารถนำส่งข้อมูลไปยังระบบประมวลผลของ สปสช.
ได้ครบถ้วน และ สปสช.อนุมัติและโอนเงินสำเร็จ
สำหรับข้อกังวลจากหน่วยบริการเกี่ยวกับการได้รับเงินชดเชยค่าบริการสาธารณสุข สปสช. แจ้งว่าจะเป็นไปตามการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ แต่ละระยะ โดยระยะที่ 1 และ 2 รวม 12 จังหวัด มีการตรวจสอบผ่านระบบ On Screen Review สามารถโอนเงินให้หน่วยบริการได้ภายใน 72 ชั่วโมง แต่หน่วยบริการที่นอกเหนือจากนี้ ยังต้องใช้ระบบตรวจสอบเดิมที่ใช้เวลาไม่เกิน 45 วัน จึงเสนอให้ สปสช. จัดทำ Dashboard เพื่อติดตามกำกับข้อมูลการเบิกจ่ายทั้งหน่วยบริการนำร่องใน 12 จังหวัด และหน่วยบริการอื่นๆ โดยให้ สปสช. พิจารณาใช้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการเบิกจ่าย เพื่อไม่ให้การจัดสรรงบประมาณล่าช้า และไม่เป็นภาระของหน่วยบริการ นอกจากนี้ ยังมีการเสนอ (ร่าง) แผนการขับเคลื่อน 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ในพื้นที่ กทม. ซึ่งในที่ประชุมเสนอทีม สปสช. ให้ขอความคิดเห็นร่วมกับ กทม.ซึ่งเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบดำเนินการเป็นหลัก
เรื่องที่ 2 ยาฉีดจิตเวช สำหรับผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงก่อความรุนแรงต่อสังคม (SMI-V) ซึ่งเป็นยาฉีดออกฤทธิ์ยาวคุณภาพสูง ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติร่วมกันให้ดำเนินการ โดยในระยะแรกมีงบประมาณจาก สปสช. จำนวน 32 ล้านบาท เพื่อใช้ในการซื้อยา และกรมสุขภาพจิตสมทบอีก 7 แสนบาท เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูล และกำกับ ติดตาม ผลการดำเนินงาน
เรื่องที่ 3 การผลักดันการดำเนินงานด้านการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ ได้แก่ ไตและดวงตา ให้มีการสนับสนุนงบประมาณสำหรับบุคลากร และปรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนสุขภาพให้เหมาะสม
เรื่องที่ 4 คณะอนุกรรมการพัฒนาและสนับสนุนหน่วยบริการในการให้บริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (Provider board) เพื่อให้เกิดการรับฟังความคิดเห็นของฝั่งผู้ให้บริการในการพัฒนาระบบหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ นั้น จะมีการจัดประชุมครั้งแรกภายใน พ.ค.นี้