xs
xsm
sm
md
lg

เผยร่างประกาศ สธ.ให้ “กัญชา-กัญชง” เป็นยาเสพติดเฉพาะช่อดอกและสารสกัด THC เกิน 0.2%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เผยร่างประกาศ สธ.กำหนดให้ “กัญชา-กัญชง” ส่วนที่เป็นช่อดอก และสารสกัดที่มี THC เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เป็นยาเสพติดประเภท 5 เริ่มใช้บังคับ 1 ม.ค.2568 เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชน 11-25 มิ.ย.นี้

จากกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ดำเนินการนำกัญชากัญชงกลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดนั้น ล่าสุด วันนี้(11 มิ.ย.) ในเว็บไซต์ ระบบกลางทางกฎหมาย ได้มีการเผยแพร่ ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ พ.ศ. .... เพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชน ระหว่างวันที่ 11-25 มิ.ย.2567 ซึ่งรายละเอียดของร่างประกาศดังกล่าวมีดังนี้

ร่าง ประกาศกระทรวงสาธารณสุข 
 เรื่อง 
ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ พ.ศ.

โดยที่เป็นการสมควรระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด เพื่อประโยชน์ในการควบคุมกำกับดูแลยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด เป็นไปด้วยความรัดกุมรอบคอบ เพื่อนำไปใช้ในทางที่เหมาะสม

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๔ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๖๔ และมาตรา ๒๙ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษ ในประเภท ๕ พ.ศ. ....”

ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๘ เป็นต้นไป

ข้อ ๓ ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ พ.ศ. ๒๕๖๕ ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๕

ข้อ ๔ ให้ยาเสพติดให้โทษที่ระบุชื่อดังต่อไปนี้เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด

(๑) กัญชา (cannabis) พืชในสกุล Cannabis และวัตถุหรือสารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชา เช่น ยาง ยกเว้นวัตถุหรือสารดังต่อไปนี้ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕
(ก) เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก
(ข) ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
(ค) สารสกัดที่มีสารเตตระไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกิน ร้อยละ ๐.๒ โดยน้ำหนัก
(ง) เมล็ดกัญชา

(๒) กัญชง (hemp) พืชซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. subsp. sativa อันเป็นชนิดย่อยของพืชกัญชา (Cannabis sativa L.) และวัตถุหรือสารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชง ยกเว้นวัตถุ หรือสารดังต่อไปนี้ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕
(ก) เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก
(ข) ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
(ค) สารสกัดที่มีสารเตตระไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกิน ร้อยละ ๐.๒ โดยน้ำหนัก
(ง) เมล็ดกัญชง

(๓) พืชฝิ่น พืชซึ่งมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Papaver somniferum L.และPapaver bracteatum Lindl. หรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้ฝิ่นหรือแอลคาลอยด์ของฝิ่น

(๔) เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Psilocybe cubensis (Earle) Singer หรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้สาร psilocybin หรือ psilocin

ข้อ ๕ กรณียาเสพติดให้โทษตามข้อ ๔ ที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์ และควบคุมคุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกาย ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์ และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ของเครื่องมือแพทย์นั้น ให้ยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕

ประกาศ ณ วันที่ พ.ศ. ....
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากร่างประกาศนี้นีผลใช้บังคับ จะทำให้ช่อดอกกัญชากัญชง เป็นยาเสพติดประเภท 5 เพิ่มเติมจากประกาศฉบับเดิมที่ออกเมื่อวันที่ 8 ก.พ.2565 และมีผลใช้บังคับวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่ประกาศให้กัญชากัญชงเป็นยาเสพติด เฉพาะสารสกัดที่มี THC เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก








กำลังโหลดความคิดเห็น