xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลวิจัยผู้ป่วยอาการแทรกซ้อนจากการใช้กัญชาในกาฬสินธุ์ พบใช้กัญชาจริงเพียงร้อยละ 16-40 บางส่วนอ้างกัญชาเพื่อเลี่ยงกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดผลการวิจัยระดับปริญญาเอก ศึกษาผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนจากการใช้กัญชาในจังหวัดกาฬสินธุ์ พบอาจใช้กัญชาจริงเพียงร้อยละ 16-40 มีการใช้ยาบ้าหรือยาจิตเวชที่มีอาการก้าวร้าวและหลอน มากกว่ากลุ่มที่มีประวัติเรื่องกัญชาอย่างเดียว และผู้ป่วยแจ้งว่าใช้กัญชาเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย มีความผันผวนของการวินิจฉัยของแต่ละโรงพยาบาลสูง ผู้ป่วย 9 ใน 10 คนที่มา รพ.มีอาการไม่รุนแรง กลับบ้านได้ในวันแรกหรือนอนเพียง 1 คืน

น.ส.จุฑามาศ ภูนีรับ และคณะ จัดทำรายงานผลการศึกษาผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนจากการใช้กัญชาในจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก โดยการเก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดช่วงปีงบประมาณ 2566 (1 ต.ค.65 – 30 กย.66) ได้ข้อสรุปผลการศึกษา ดังนี้

1. การวินิจฉัยอาการจากกัญชามีความคลาดเคลื่อนสูง อาจจะเกิดจากกัญชาจริงเพียง ร้อยละ 16 - 40 (อย่างมาก)

2. อาการที่มา แสดงถึงการใช้ยาบ้าหรือยาจิตเวช ที่มีอาการก้าวร้าวและหลอน มากกว่ากลุ่มที่มีประวัติเรื่องกัญชาอย่างเดียว และการที่ผู้ป่วยแจ้งว่าใช้กัญชา (อาจจะไม่ได้ใช้จริงหรือใช้ร่วมกัน) เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย

3. มีความผันผวนของการวินิจฉัยของแต่ละโรงพยาบาลสูง ซึ่งน่าจะเป็นเพราะใช้ข้อมูลจากประวัติเท่านั้น และแพทย์แต่ละคนอาจจะมีมาตรฐานการวินิจฉัยที่แตกต่างกัน

4. ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 9 คน ใน 10 คน ที่มา รพ. มีอาการไม่รุนแรง กลับบ้านได้ในวันแรก หรือนอนเพียง 1 คืน

ข้อเสนอแนะ

1. พัฒนาระบบการรายงานและการสอบสวนสาเหตุภาวะแทรกซ้อนจากการใช้กัญชาให้เป็นมาตรฐาน เช่น ตั้งเกณฑ์มาตรฐานการวินิจฉัย การส่งตรวจ ฝึกอบรมแพทย์และบุคลากรให้ใช้วิธีการมาตรฐาน

2. ให้ความรู้แก่ประชาชน ไม่ให้ใช้กัญชาเกินขนาด และวิธีการแก้ไข เช่น ให้ใช้ขนาดน้อยๆ วันละครั้ง หลังอาหารเย็น ค่อยๆ เพิ่ม ถ้าง่วงเมาก็เข้าไปนอนเลย อมมะนาว เคี้ยวพริกไทย กินน้ำรางจืด เช้าวันต่อมาเมื่อกัญชาหมดฤทธิ์ก็จะหายเป็นปกติดี

3. พัฒนาระบบบริการผู้ติดยาบ้าและโรคจิตเวชที่ได้ผลดี เช่น การใช้ยากัญชาที่มี “ซีบีดี” เด่น เพราะช่วยทำให้เลิกยาบ้าได้ ลดอาการทางจิต และฟื้นฟูสมองที่ถูกทำลายได้

รายละเอียดรายงานผลการศึกษา

ร่าง
รายงานผลการศึกษา ผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนจากการใช้กัญชา จ.กาฬสินธุ์
Updated 2024-06-04 at 12.00 AM

วิธีการศึกษา
1. รวบรวมข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยด้วยรหัส F12 ทุกราย จากบันทึกเวชระเบียนย้อนหลังของผู้รับบริการในช่วงปีงบประมาณ 2566 (1 ต.ค.65 – 30 ก.ย.66) ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และผลการตรวจต่างๆ ของโรงพยาบาลทุกแห่งที่มีรายงานความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้กัญชา (Cannabinoid) ผู้ป่วยนอก จังหวัดกาฬสินธุ์ ปีงบประมาณ 2566 จากระบบ HDC Kalasin
2. สุ่มโทรศัพท์สัมภาษณ์ผู้ป่วยหรือญาติ จำนวน 18 ราย เพื่อสอบถามยืนยันความถูกต้องของข้อมูล
3. ผ่านการรับรองของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย สสจ.กาฬสินธุ์

ผลการศึกษา

การวินิจฉัยผลจากการกัญชา, การมีโรคร่วมจิตเวชหรือยาบ้า, จำนวนที่ส่งตรวจหากัญชาและผลการตรวจ
1.จำนวนผู้ป่วยที่รายงาน ทั้งหมด 198 ราย ประชากร 969,871 คน คิดเป็น ร้อยละ 0.02 หรือ 2.0 คนต่อประชากรหมื่นคน หรือ 20.4 คนต่อประชากรแสนคน

2.สามารถค้นเวชระเบียนได้ จำนวน 172 ราย คิดเป็น ร้อยละ 86.9

3.ส่งตรวจหากัญชา 62 ราย คิดเป็น ร้อยละ 36.0 ของทั้งหมด

4.ตรวจพบกัญชา 25 ราย คิดเป็น ร้อยละ 40.3 ของที่ส่งตรวจ (พิสัย 0 ถึง 100)

5.รพ.ที่ส่งตรวจมาก 3 อันดับแรก ได้แก่
    1) รพ.ก วินิจฉัยว่า เกิดจากกัญชา 18 ราย ส่งตรวจ 17 ราย พบ 0 ราย คิดเป็น ร้อยละ 0
    2) รพ.ข วินิจฉัยว่า เกิดจากกัญชา 30 ราย ส่งตรวจ 15 ราย พบ 6 ราย คิดเป็น ร้อยละ 40
    3) รพ.ค วินิจฉัยว่า เกิดจากกัญชา 10 ราย ส่ง 7 ราย พบ 4 ราย คิดเป็น ร้อยละ 57

6.มีโรคร่วมเป็นโรคทางจิตเวชหรือใช้ยาบ้า คิดเป็น ร้อยละ 50.6 (87/172)

(ดูตารางที่ 1)


การบรรยายอาการและการให้รหัสการวินิจฉัย

7.การวินิจฉัยประเภทของภาวะจากกัญชาของโรงพยาบาลต่างๆ พบว่า สามอันดับแรก ได้แก่
     1) F12 ผลจากกัญชา (ไม่จัดกลุ่มย่อย) คิดเป็น ร้อยละ 37.2
     2) F12.5 กลุ่มอาการผิดปกติแบบโรคจิต ร้อยละ 28.5
     3) F12.2 ร้อยละ 16.9 กลุ่มอาการติดยา

8.การวินิจฉัยของแต่ละโรงพยาบาลวินิจฉัยภาวะกลุ่มอาการแบบโรคจิต (F12.5) ตั้งแต่ ร้อยละ 0 ไปจนถึง ร้อยละ 80

9.โรงพยาบาลที่วินิจฉัยภาวะกลุ่มอาการแบบโรคจิต (F12.5) สามอันดับแรก ได้แก่
    1) รพ.x ร้อยละ 80.0 (24/30)
    2) รพ.y ร้อยละ 37.5 (3/8)
    3) รพ.z ร้อยละ 33.3 (1/3)

10. มี โรงพยาบาล จำนวน 6 แห่ง ที่ “ไม่ได้” วินิจฉัยภาวะกลุ่มอาการแบบโรคจิต (F12.5) เลย (ร้อยละ 0)

11. มีการบรรยายอาการที่มาโรงพยาบาล ในเวชระเบียน ที่ระบุถึงคำว่า “กัญชา” คิดเป็น ร้อยละ 16.3 (28/172)

(ดูตารางที่ 2)


หมายเหตุ: คำอธิบายรหัสการวินิจฉัยอาการผิดปกติจากกัญชา
F12 (ผลจากกัญชาที่ไม่ได้จัดกลุ่มย่อย), F12.0 (พิษเฉียบพลัน), F12.1 (การเสพอย่าง อันตราย), F12.2 (กลุ่มอาการติดยา), F12.3 (ภาวะถอนยา), F12.4 (ภาวะถอนยาที่มีภาวะเพ้อ), F12.5 (กลุ่มอาการผิดปกติแบบโรคจิต), F12.6 (กลุ่มอาการหลงลืม), F12.7 (โรคจิตที่เหลือและเกิดภายหลัง), F12.8 (ความผิดปกติอื่น), F12.9 (ไม่ระบุรายละเอียด)

การจัดกลุ่มของอาการที่บันทึกในเวชระเบียน

12. อาการที่บันทึกในเวชระเบียน ในภาพรวม ส่วนใหญ่จะเป็น กลุ่มอาการง่วงเมา 83 ราย (48.3 %), กลุ่มอาการหลอน 48 ราย (27.9 %) และ กลุ่มอาการก้าวร้าว 35 ราย (20.3 %)

13. ถ้านับเฉพาะคนที่มีแต่ประวัติเรื่องกัญชาเท่านั้น จะพบว่า ส่วนใหญ่จะเป็น กลุ่มอาการง่วงเมา 31 ราย (67.4 %), กลุ่มอาการหลอน 7 ราย (15.2 %) และ กลุ่มอาการก้าวร้าว 4 ราย (8.7 %)

เปรียบเทียบอาการของกลุ่มที่มีประวัติเรื่องกัญชาเพียงอย่างเดียว กับ กลุ่มที่มีประวัติเรื่องอื่นๆด้วย (ใช้ยาบ้า/มีโรคทางจิตเวช)

14. เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่มีเฉพาะประวัติเรื่องกัญชาเพียงอย่างเดียว กับกลุ่มที่มีประวัติเรื่องอื่นๆด้วย (ใช้ยาบ้า/มีโรคทางจิตเวช) พบว่า กลุ่มที่มีประวัติเรื่องการใช้ยาบ้า/ยาทางจิตเวช จะมีอาการกลุ่ม “ก้าวร้าว” และกลุ่มอาการ “หลอน” มากกว่า กลุ่มที่มีแต่ประวัติเรื่องกัญชาเพียงอย่างเดียว (24.6 % vs 8.7 % และ 32.5 % vs 15.2 %) และแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value เท่ากับ 0.022 และ 0.025, ตามลำดับ)

15. ผู้ที่มีประวัติเรื่องกัญชาอย่างเดียว ส่วนใหญ่จะมีอาการกลุ่มง่วงวิงเวียน (ร้อยละ 67.4) มากกว่ากลุ่มที่มีประวัติเรื่องการใช้ยาบ้า/ยาทางจิตเวช (ร้อยละ 41.3 %) แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value เท่ากับ 0.002)

(ตารางที่ 4)


ระดับความรุนแรงของอาการ ประเมินจากการต้องนอนพักรักษาในโรงพยาบาล

16. ระดับความรุนแรงของอาการ พบว่า ส่วนใหญ่สามารถกลับบ้านในวันแรกที่มา รพ. เท่ากับ 129 ราย (75.0%), ต้องพักรักษาใน รพ. เท่ากับ 43 ราย (25.0 %)

17. เมื่อคำนวณ รวมจำนวนคนที่ได้กลับบ้านตั้งแต่วันแรก กับคนที่ได้นอนพักรักษาใน รพ. 1 คืน เท่ากับ 157 ราย (91.3 %)

(ตารางที่ 5)


อภิปราย

1.จากทั้งหมด 172 ราย มีการส่งตรวจหากัญชาในร่างกายเพียง ร้อยละ 36 แสดงว่า อีกร้อยละ 64 วินิจฉัยจากประวัติเท่านั้น จึงมีโอกาสผิดพลาดสูง

2.และที่ส่งตรวจ ก็ตรวจพบกัญชา เพียง 25 ราย คิดเป็น ร้อยละ 40.3 ของที่ส่งตรวจเท่านั้น แสดงว่าวินิจฉัยผิดพลาดไป ร้อยละ 60 ในคนที่ส่งตรวจ

3.คนใช้สารเสพติดรุนแรง เช่น ยาบ้า จะอ้างว่าตนใช้กัญชา เพราะกัญชาไม่ผิดกฎหมาย ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้ หรือใช้ร่วมกับยาบ้า และผู้ป่วยบางรายขณะมา รพ. อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถให้ประวัติที่ถูกต้อง ชัดเจนกับเจ้าหน้าที่ได้

4.การตรวจพบกัญชาในร่างกาย ก็ไม่ได้หมายความว่าอาการที่ทำให้ผู้ป่วยมา รพ. เกิดจากกัญชาเพราะกัญชาอยู่ในร่างกายได้นานนับเดือน

5.โรงพยาบาลที่ส่งตรวจมาก 3 อันดับแรก ได้แก่
      1) รพ.ก ส่งตรวจ 17 ราย (พบ 0 ราย คิดเป็น ร้อยละ 0) วินิจฉัยว่า เกิดจากกัญชา 18 ราย แปลว่า มีโอกาสวินิจฉัยผิดไป ร้อยละ 100
      2) รพ.ข ส่งตรวจ 15 ราย (พบ 6 ราย คิดเป็น ร้อยละ 40 ) วินิจฉัยว่า เกิดจากกัญชา 30 ราย แปลว่า มีโอกาสวินิจฉัยผิดไป ร้อยละ 60
      3) รพ.ค ส่งตรวจ 7 ราย (พบ 4 ราย คิดเป็น ร้อยละ 57) วินิจฉัยว่า เกิดจากกัญชา 10 ราย แปลว่า มีโอกาสวินิจฉัยผิดไป ร้อยละ 43

6.ถ้าสมมติว่า ส่งตรวจทุกคน (172 คน) ก็จะมีคนที่พบกัญชาในร่างกาย ได้มากสุด ร้อยละ 40.3 (worst case scenario) คิดเป็น 69 คน ซึ่งคิดเป็นความชุกในประชากร เท่ากับ ร้อยละ 0.01 หรือ 7.1 คนต่อประชากรแสนคน แต่ความเป็นจริง จำนวนน่าจะน้อยกว่านี้มาก

7.ดังที่กล่าวไปแล้วว่า การตรวจพบกัญชาในร่างกาย ไม่ได้แปลว่า อาการที่เกิดขึ้นเกิดจากกัญชา เพราะกัญชาสามารถสะสมอยู่ในไขมันของร่างกายนับเป็นเดือน

8.มีข้อสังเกตว่า บางโรงพยาบาลที่วินิจฉัยภาวะกลุ่มอาการแบบโรคจิต (F12.5) มากกว่าโรงพยาบาลอื่นๆ อย่างชัดเจน (ร้อยละ 80) ทั้งๆที่ โรงพยาบาลแห่งนั้น ตรวจหากัญชาน้อยมาก ตรวจเพียง 1 ราย เท่านั้น จากผู้ป่วยที่มา 30 ราย
9.การวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ใช้การซักประวัติเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับความรู้ ความชำนาญ และทัศนคติของแพทย์ ทำให้พบความไม่สม่ำเสมอของการวินิจฉัยได้สูงมาก ดังข้อค้นพบในการศึกษานี้ว่า แต่ละโรงพยาบาลวินิจฉัยภาวะกลุ่มอาการแบบโรคจิต (F12.5) มีช่วงตั้งแต่ ร้อยละ 0 ไปจนถึงร้อยละ 80 ของจำนวนผู้ป่วยที่มา รพ.

10.การวินิจฉัยภาวะกลุ่มอาการแบบโรคจิต (F12.5) ไม่ได้แปลว่า คนไข้เป็นโรคจิต คนไข้อาจจะมีอาการหลอนแบบชั่วคราว ซึ่งมากัญชาหมดฤทธิ์ก็หายเป็นปกติ ไม่ใชเป็นโรคจิต เพราะรหัสการวินิจฉัยโรคจิต คือ F20 – F29)

11.สอดคล้องกับที่พบว่า ไม่มีใครได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น F12.7 (โรคจิตที่เหลือและเกิดภายหลัง) เลย

12.การตรวจพบกัญชา เพียง 25 ราย คิดเป็น ร้อยละ 40.3 ของที่ส่งตรวจ (พิสัย 0 ถึง 100) และผู้ป่วยที่มามีโรคร่วมเป็นโรคทางจิตเวชหรือใช้ยาบ้า คิดเป็น ร้อยละ 50.6 (87/172) เพราะผู้ป่วยที่ใช้สารเสพติดรุนแรง เช่น ยาบ้า มักจะแจ้งว่าตนใช้กัญชา เพราะไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้น จึงมีโอกาสเกิดความคลาดเคลื่อนในการวินิจฉัยสูงมาก

13.เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่มีเฉพาะประวัติเรื่องกัญชาเพียงอย่างเดียว กับกลุ่มที่มีประวัติเรื่องอื่นๆด้วย (ใช้ยาบ้า/มีโรคทางจิตเวช) พบว่า กลุ่มที่มีประวัติเรื่องการใช้ยาบ้า/ยาทางจิตเวช จะมีอาการกลุ่ม “ก้าวร้าว” และกลุ่มอาการ “หลอน” มากกว่า กลุ่มที่มีแต่ประวัติเรื่องกัญชาเพียงอย่างเดียว (24.6 % vs 8.7 % และ 32.5 % vs 15.2 %) และแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value เท่ากับ 0.022 และ 0.025, ตามลำดับ) จึงยืนยันข้อค้นพบในข้อ 12 ที่ว่าเป็นเพราะผู้ป่วยใช้ยาบ้าหรือยาจิตเวช มักจะแจ้งว่าตนใช้กัญชา เพราะไม่ผิดกฎหมาย

14.ผู้ที่มีประวัติเรื่องกัญชาอย่างเดียว ส่วนใหญ่จะมีอาการกลุ่มง่วงวิงเวียน (ร้อยละ 67.4) อาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อกัญชาหมดฤทธิ์ ไม่มีผลตกค้างใดๆ

15.การที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.0 (129/172) แพทย์ให้กลับบ้านได้ในวันที่มาโรงพยาบาล ไม่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และเมื่อคำนวณโดยรวมเอาจำนวนคนที่ได้กลับบ้านตั้งแต่วันแรกบวกกับจำนวนคนที่ได้นอนพักรักษาใน รพ. 1 คืน จะเท่ากับ 157 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 91.3 % แสดงว่า อาการที่เกิดขึ้น ไม่รุนแรง ดังนั้น การคำนวณว่ามีค่ารักษามากมายนั้น จึงไม่น่าจะเป็นจริง น่าจะเป็นคำนวณจากสถิติที่คลาดเคลื่อน มีอคติ

สรุปผลการศึกษา

1. การวินิจฉัยอาการจากกัญชามีความคลาดเคลื่อนสูง อาจจะเกิดจากกัญชาจริงเพียง ร้อยละ 16 - 40 (อย่างมาก)

2. อาการที่มา แสดงถึงการใช้ยาบ้าหรือยาจิตเวช ที่มีอาการก้าวร้าวและหลอน มากกว่ากลุ่มที่มีประวัติเรื่องกัญชาอย่างเดียว และการที่ผู้ป่วยแจ้งว่าใช้กัญชา (อาจจะไม่ได้ใช้จริงหรือใช้ร่วมกัน) เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย

3. มีความผันผวนของการวินิจฉัยของแต่ละโรงพยาบาลสูง ซึ่งน่าจะเป็นเพราะใช้ข้อมูลจากประวัติเท่านั้น และแพทย์แต่ละคนอาจจะมีมาตรฐานการวินิจฉัยที่แตกต่างกัน

4. ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 9 คน ใน 10 คน ที่มา รพ. มีอาการไม่รุนแรง กลับบ้านได้ในวันแรก หรือนอนเพียง 1 คืน

ข้อเสนอแนะ

1. พัฒนาระบบการรายงานและการสอบสวนสาเหตุภาวะแทรกซ้อนจากการใช้กัญชาให้เป็นมาตรฐาน เช่น ตั้งเกณฑ์มาตรฐานการวินิจฉัย การส่งตรวจ ฝึกอบรมแพทย์และบุคลากรให้ใช้วิธีการมาตรฐาน

2. ให้ความรู้แก่ประชาชน ไม่ให้ใช้กัญชาเกินขนาด และวิธีการแก้ไข เช่น ให้ใช้ขนาดน้อยๆ วันละครั้ง หลังอาหารเย็น ค่อยๆ เพิ่ม ถ้าง่วงเมาก็เข้าไปนอนเลย อมมะนาว เคี้ยวพริกไทย กินน้ำรางจืด เช้าวันต่อมาเมื่อกัญชาหมดฤทธิ์ก็จะหายเป็นปกติดี

3. พัฒนาระบบบริการผู้ติดยาบ้าและโรคจิตเวชที่ได้ผลดี เช่น การใช้ยากัญชาที่มี “ซีบีดี” เด่น เพราะช่วยทำให้เลิกยาบ้าได้ ลดอาการทางจิต และฟื้นฟูสมองที่ถูกทำลายได้


กำลังโหลดความคิดเห็น