xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจ “แพทย์อินเทิร์น” พบพึงพอใจฝึกเพิ่มพูนทักษะมากขึ้น ปลัด สธ. กำชับ ผอ.รพ.ดูแลใกล้ชิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจความคิดเห็น “แพทย์อินเทิร์น” เดือนเมษายนที่ผ่านมา พบมีความพึงพอใจในการฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะมากถึงมากที่สุด อาจารย์แพทย์ดูแลใกล้ชิด ภาพรวมเป็นไปในทิศทางที่ดี กำชับผู้อำนวยการโรงพยาบาลดูแลสร้างสมดุลการทำงานและการใช้ชีวิต เชื่อสถานการณ์แพทย์ในระบบจะดีขึ้น

วันนี้ (10 พ.ค.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขพยายามให้การดูแลแพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือแพทย์อินเทิร์นอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องของการลดภาระงาน ดูแลค่าตอบแทนและสวัสดิการ เพื่อลดปัญหาการลาออกและคงบุคลากรให้อยู่ในระบบมากที่สุด โดยล่าสุด สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (สบพช.) ได้ติดตามสำรวจความพึงพอใจการฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างวันที่ 9 - 22 เมษายน 2567 โดยมีแพทย์อินเทิร์นร่วมตอบแบบสอบถามรวม 546 คน พบว่า ร้อยละ 70 มีความพึงพอใจโดยรวมในระดับมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 85 มีความพึงพอใจที่ได้รับประสบการณ์การเรียนรู้และการฝึกทักษะมากถึงมากที่สุด โดยระบุถึงจุดเด่นของโรงพยาบาลที่เพิ่มพูนทักษะ ดังนี้ ได้รับการดูแลใกล้ชิดขณะฝึกเพิ่มพูนทักษะจากอาจารย์ ร้อยละ 45.52, ได้ค่าตอบแทนที่เพียงพอ ร้อยละ 19.23 และมีภาระงานที่เหมาะสม ร้อยละ 12.82 ซึ่งในภาพรวมถือว่าเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดี

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า การสำรวจครั้งนี้ ยังทำให้ได้ทราบถึงความต้องการและข้อเสนอแนะของแพทย์อินเทิร์นในเรื่องต่างๆ อาทิ ควรเพิ่มจำนวนแพทย์เพิ่มพูนทักษะมากขึ้น ขอให้อาจารย์แพทย์ช่วยเหลือในการปรึกษาดูแลผู้ป่วย เป็นต้น ซึ่งยืนยันว่าผู้บริหารพร้อมรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้เกิดการดูแลที่เหมาะสม โดยข้อเสนอต่าง ๆ เหล่านี้ จะได้แจ้งกำชับให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกแห่งที่มีแพทย์เพิ่มพูนทักษะดูแลใกล้ชิด เน้นการปรับระบบงานภายใน สร้างสมดุลการทำงานและการใช้ชีวิต ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่เรื่องสัดส่วนของแพทย์ที่ไม่เท่ากันในแต่ละอำเภอซึ่งส่งผลโดยตรงต่อเรื่องของภาระงาน ได้ย้ำนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในการดูแลเคลื่อนย้ายบุคลากรมาช่วยกัน ตามนโยบาย “หนึ่งจังหวัดหนึ่งโรงพยาบาล” (One Province One Hospital)


กำลังโหลดความคิดเห็น