25 เครือข่ายบุก สธ.ค้านเพิ่มเวลาขายเหล้า ระหว่างประชุมบอร์ดคุมน้ำเมา ให้กำลังใจ สธ.ยืนข้างประชาชน อย่าอุ้มธุรกิจ ชี้แค่เปิดผับตี 4 เดือนเดียว กทม.ตายจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ภูเก็ต 35% อย่าเพิ่มภาระชุดกาวน์ให้ต้องเปื้อนเลือดทั้งวัน ลั่นหากดึงดันจะไล่นายกฯ พร้อมปักหลักรอฟังผลประชุม ด้าน "ชลน่าน" ดอดจากที่ประชุมไปตอบกระทู้สด
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. เมื่อเวลา 09.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เหยื่อเมาแล้วขับ เครือข่ายแท็กซี่สามล้อ ไรเดอร์ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง สหภาพแรงงาน แรงงานนอกระบบ องค์กรด้านเด็ก สตรี ครอบครัว และภาคประชาชน รวม 25 เครือข่าย เดินทางมายื่นเรื่องต่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้กำลังใจคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่จะมีการประชุมในวันนี้ในเวลา 09.30 น. โดยมีวาระการพิจารณาขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและข้อเสนอของกลุ่มธุรกิจ โดย ขอให้ยืนหยัดคัดค้านการขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการยื่นหนังสือ แกนนำเครือข่ายได้ปราศรัยคัดค้านนโยบายดังกล่าว โดยย้ำว่าจะเพิ่มผลกระทบแก่ประชาชน เพิ่มความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เพิ่มภาระบุคลากรทางการแพทย์ สวนทางและกระทบกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ โดยย้ำว่าการออกนโยบายต่างๆ ต้องคำนึงถึงประชาชน ไม่ใช่แค่อุ้มกลุ่มนายทุน โดยอ้างเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว และขอให้ สธ.ยืนอยู่ข้างประชาชน ซึ่งเครือข่ายฯ มั่นใจจุดยืนของ สธ.จะอยู่ข้างประชาชน แต่ไม่มั่นใจในรัฐบาล พร้อมมีการแสดงละครล้อเลียน "หยุดเพิ่มเวลาขายเหล้าเบียร์ ประชาชนเสี่ยงเจ็บตาย คนขายรวย" โดยยืนยันว่าจะปักหลักชุมนุมจนกว่าจะทราบผลการประชุม
นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาข้อมูลปรากฎชัดจากขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนถึงตี 4 ในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัดเพียงเหตุผลเดียว เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนเพียง ม.ค.เดือนเดียวในปี 2567 เทียบเดือนเดียวกันในปี 2566 พบข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่มีน้ำเมาเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นชัดเจน โดย กทม.เพิ่มถึง 46.6% ภูเก็ตเพิ่ม 35.7% เชียงใหม่เพิ่ม 22.5% ส่วนชลบุรี และเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี เพิ่มกว่า 10% สิ่งเหล่านี้ไม่มีการพูดถึง แต่เร่งดำเนินการถือเป็นการเหยียบอยู่บนความตายของประชาชน นโยบายดิจิทัลวอลเลตไม่ทำให้คนตาย แต่การขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้คนตาย การตัดสินใจนโยบายอยากให้ศึกษาข้อมูลรอบด้านไม่ใช่คิดจากความมักง่าย หากยังดึงดันอาจจะถึงเวลาที่พวกเราต้องไล่นายกฯ
“ปัญหาผลกระทบจากเหล้า บุคลากรทางการแพทย์ คุณหมอจะใส่เสื้อกาวน์ที่เปื้อนเลือดแบบนี้ทั้งวันทั้งคืน ไม่ต้องหลับต้องนอน คุณรับไหวหรือไม่ สธ.รับไหวหรือไม่ นายกฯ เศรษฐาถุงเท้าแดงรับไหวหรือไม่ ต้องเอาหัวใจคิด เอาความเป็นมนุษย์มาคิด ดังนั้น การขยายเวลาขายเหล้าเท่ากับเพิ่มภาระทางการแพทย์ และนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่จะไม่เป็นประโยชน์เลย ย้อนแย้ง ทำไปทำไม ผมไม่ได้ด่ากระทรวงฯ เราตั้งใจให้กำลังใจ เราต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ที่นี่ แต่เราจำเป็นต้องพูด เราไม่เชื่อว่าถ้าไปพูดที่ทำเนียบ นายกฯ เศรษฐาจะฟังพวกเรา นายกฯแบบนี้เราไม่เอา” นายชูวิทย์ กล่าว
นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจุดขายเหล้าเบียร์มากกว่า 5.8 แสนจุด และที่แอบขายอีกมหาศาล โดยขายได้ 2 ช่วง คือ 11.00 - 14.00 น. และ 17.00 - 24.00 น. รวม 10 ชั่วโมงต่อวัน แต่ส่งผลให้มีคนบาดเจ็บและตายจากอุบัติเหตุที่มีสุราเข้าไปเกี่ยวข้องกว่า 5.3 หมื่นรายต่อปี เฉลี่ยวันละ 145 คน หรือ 6 คนต่อชั่วโมง ดังนั้น หากขยายเวลาเพิ่ม ผลกระทบก็จะมากขึ้นเท่าตัว ประเทศรับความเสียหาย เสียงบประมาณดูแลรักษามหาศาล ไม่นับรวมค่าเสียโอกาสจากการทำงานและอื่นๆ ซึ่งประมาณการความสูญเสียจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบมากถึง 1.6 แสนล้านบาท จึงเป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย วันนี้เราเดินทางมาเพื่อ
1.ให้กำลังใจที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขอให้ยึดประโยชน์และสุขภาพประชาชน 2.คัดค้านแนวคิดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่พยายามขายเวลาขายเครื่องดิ่มแอลกอฮอล์ ฝาก รมว.สธ.เรียนนายกฯ ว่ามีคนจำนวนหนึ่งคัดค้านและไม่เห็นด้วย อยากให้ฟังให้รอบด้าน ไม่อยากให้ซ้ำรอยกัญชา และ 3.อยากให้รัฐบาลไปศึกษาสิ่งที่ทำมาแล้วเรื่องการขยายเวลาเปิดผับตี 4 ว่าเป็นอย่างไรบ้าง และก่อนที่จะตัดสินใจเลือกกำหนดนโยบายเรื่องเพิ่มเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยสิ่งที่รัฐบาลและ สธ.ควรเร่งดำเนินการคือ มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะตามมาให้เป็นรูปธรรมก่อนที่จะพิจารณาเวลาขายน้ำเมา เช่น แก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก เพิ่มโทษผู้ที่เมาแล้วขับ ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต เพื่อเปิดช่องว่างการรอลงอาญา ทำให้ติดคุกกันจริงๆ หรือการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความเข้มข้น ไม่ให้อ่อนแอลงตามข้อเสนอของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ต่อมา รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ สธ. พร้อมด้วย นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นตัวแทนรับข้อเสนอ โดย รศ.นพ.เชิดชัยกล่าวว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พิจารณา
เวลา 10.30 น. นพ.ชลน่าน ได้ออกจากห้องประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่ได้เดินทางออกทางด้านหน้าอาคารสำนักปลัด สธ.ตามปกติ เนื่องจากภาคประชาชนยังปักหลักรอฟังผลการประชุมอยู่โถงอาคาร แต่เร่งรีบเดินไปขึ้นรถที่จอดด้านหลังอาคาร ซึ่งผู้สื่อข่าวตะโกนถามว่า เครือข่ายภาคประชาชนจะขอพบ นพ.ชลน่านระบุว่า มีเวลาให้พบแน่นอน เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า เครือข่ายฯ น้อยใจเนื่องจากท่านอยู่ในห้องประชุม แต่กลับไม่ยอมลงมาพบเพื่อพูดคุย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จะรีบไปตอบกระทู้ก่อน เพราะว่าเป็นกระทู้สด