xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดคุมน้ำเมาไม่มีมติขยายเวลา "ขายเหล้า" โยนบอร์ดนโยบายชาติเคาะแทน พบยังติด กม.ปฏิวัติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มติบอร์ดคุมน้ำเมา ไม่ขยายเวลาขายเหล้า โยนบอร์ดนโยบายชาติพิจารณาแทน เหตุมีประกาศคณะปฏิวัติอีกฉบับ ต้องไปเคลียร์กฎหมายให้ชัดก่อน เผยข้อมูลผลกระทบสังคมสุขภาพชัด อุบัติเหตุจากน้ำเมาสูง 25% จยย.ล้มเอง 2-3 พันราย ส่วนนำร่อง 4 จังหวัดเปิดผับตี 4 แนวโน้มอุบัติเหตุสูงขึ้น ยังไม่มีข้อมูลด้านเศรษฐกิจ ย้ำเจตนารมณ์กฎหมาย ไม่ใช่สินค้าทั่วไปยังต้องควบคุม

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อนที่จะเดินทางออกจากที่ประชุมไปตอบกระกู้สดที่สภา โดยมอบให้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. เป็นประธานดำเนินการประชุมต่อ โดยใช้เวลาในการประชุมตั้งแต่ 09.30 - 12.00 น. หรือราว 2 ชั่วโมงครึ่ง จากนั้น นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุม

นพ.ธงชัยกล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมมีการพิจารณาเพียงวาระเดียว คือ จากการที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือมายังกระทรวงมหาดไทย สธ. และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง พิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ที่จะขยายการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารของ 4 พื้นที่ที่นำร่องเปิดสถานบริการถึงตี 4 ไปแล้ว คณะกรรมการฯ จึงมีการหารือเรื่องนี้อย่างกว้างขวางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการคลัง มท. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตำรวจ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ด้านสังคมต่างๆ ซึ่งที่ประชุมไม่ได้มีมติว่าจะขยายหรือไม่ขยาย โดยให้ไปพิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


นพ.ธงชัยกล่าวว่า ในเรื่องของความเหมาะสม คณะกรรมการฯ เห็นตรงกันว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าทั่วไป ยืนยันในเจตนารมณ์ของกฎหมายว่า เป็นสินค้าที่ต้องมีการควบคุม ซึ่งที่ประชุมมีการรายงานข้อมูล ผลกระทบทางสังคมและสุขภาพซึ่งภาพค่อนข้างชัด เช่น ช่วงเทศกาลปีใหม่ทั้งประเทศมีอุบัติเหตุจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 25% ส่วนใหญ่เป็นคนไทย หรือมีผู้ขับมอเตอร์ไซค์ล้มเองไม่เป็นคดี 2-3 พันราย หรือข้อมูลจากการขยายเปิดสถานบริการตี 4 ใน 4 จังหวัด ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งเรื่องตัวเลขเม็ดเงินจากการดื่มการท่องเที่ยวต่างๆ ส่วนเรื่องความเป็นไปได้ เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวกับเวลาจำหน่ายมี 2 ฉบับ คือ ประกาศคณะปฏิวัติ (ปว.) ฉบับที่ 253 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ออกภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่กำหนดตรงกันให้ขายช่วง 11.00 - 14.00 น. และ 17.00 - 24.00 น. ฉะนั้น ถ้าคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะแก้ไขเวลาจำหน่าย ก็จะไปขัดกับกฎหมายอีกตัว ดังนั้น จึงต้องไปดำเนินการทางกฎหมายให้ชัดเจนก่อน

"จากทั้งหมดนี้ เราก็จะนำข้อมูลทั้งหมดนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติวันที่ 19 ก.พ.นี้ เพื่อตัดสินอีกทีว่าจะมีการแก้ไขให้ขยายหรือไม่ขยาย ซึ่งหากจะมีการแก้ไขประกาศคณะปฏิวัติ ก็จะเป็นกระทรวงมหาดไทยเพราะประกาศนี้ลงนามโดยทางมหาดไทย" นพ.ธงชัยกล่าว


ถามว่า รมว.สธ.มอบนโยบายอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ นพ.ธงชัยกล่าวว่า ท่านในฐานะประธาน ก็ให้คณะกรรมการฯ ดูทุกมุม เพราะหนังสือที่มาถึงเราให้ดูเรื่องความเหมาะสมและเป็นไปได้ ถามย้ำถึงจุดยืนของ สธ.หากจะมีการแก้ไขกฎหมาย นพ.ธงชัยกล่าวว่า เราเป็นกระทรวงด้านสุขภาพและดูแลด้านสุขภาพ ถามอีกว่าจะถือเป็นความเห็นส่งไปให้คณะกรรมการนโยบายฯ ด้วยหรือไม่ นพ.ธงชัยกล่าวว่า ก็ยึดตามเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของกฎหมายและของคณะกรรมการฯ

รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ สธ. พร้อมด้วย นพ.ธงชัย และ นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้มาพูดคุยกับเครือข่ายภาคประชาชนที่รออยู่บริเวณห้องโถงชั้น 1 อาคารสำนักงานปลัด สธ. โดย รศ.นพ.เชิดชัย กล่าวสรุปว่า มติบอร์ดฯ ไม่ได้มีการปรับแก้ไข หรือขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่อย่างใด โดยเรื่องนี้ต้องเสนอคณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาเอง ปรากฎว่า ทางภาคประชาชนต่างดีใจว่า บอร์ดฯนี้ไม่มีการพิจารณาประเด็นดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น