xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ระดม 5 เสือ 200 อำเภอ สร้างเครือข่าย "ชุมชนล้อมรักษ์" บำบัดยาเสพติด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ระดม 5 เสือ จาก 200 อำเภอ 31 จังหวัด สร้างเครือข่าย "ชุมชนล้อมรักษ์" บำบัดผู้ติดยาเสพติดในชุมชน ย้ำให้หมดอาการ นำผู้ป่วยไปกักขังหรือลงโทษ ไม่ช่วยแก้ปัญหา ต้องเน้นสมัครใจ ครอบครัวและชุมชนร่วมแก้ ช่วยกลับมาใช้ชีวิตปลอดภัย

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่อิมแพค ฟอรั่ม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (CBTx) “ชุมชนล้อมรักษ์” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

นพ.ชลน่านกล่าวว่า นายกฯ ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด และกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ให้ทุกภาคส่วนบูรณาการทำงานร่วมกัน ภายใต้นโยบาย “ปลุกชุมชนให้เข้มแข็ง เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ปราบปรามสกัดกั้นยึดทรัพย์ผู้ค้า ขจัดข้าราชการทุจริตพัวพันยาเสพติดให้สิ้น” โดยในส่วนของ สธ. ให้ความสำคัญกับการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ด้วยกระบวนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดโดยชุมชนมีส่วนร่วม (CBTx) หรือ “ชุมชนล้อมรักษ์” ร่วมกับการรักษาทางการแพทย์ เนื่องจากการติดยาเสพติดถือเป็นความเจ็บป่วยที่ซับซ้อน ทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต สังคมและการดำเนินชีวิต และเป็นโรคเรื้อรังที่กลับเป็นซ้ำได้อีก ต้องได้รับการบำบัดรักษาที่มีประสิทธิภาพแบบรอบด้านและต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยยาเสพติดกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัยทั้งต่อตนเอง ครอบครัวและชุมชน


“การรักษาในระยะสั้นแค่ให้หมดอาการ หรือการลงโทษ หรือการนำผู้ป่วยออกจากชุมชนไปกักขังชั่วคราว ไม่ใช่วิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ ต้องส่งเสริมให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดโดยสมัครใจ โดยค้นหาเชิงรุกด้วยมาตรการเชิงบวก ส่งต่อให้หน่วยงานสาธารณสุขคัดกรองเข้ารับการบำบัดอย่างเหมาะสม และเตรียมความพร้อมก่อนส่งกลับเข้าสู่ชุมชน เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งครอบครัวและชุมชนเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดสำเร็จได้อย่างยั่งยืน” นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่านกล่าวว่า สำหรับการขับเคลื่อนภารกิจ “ชุมชนล้อมรักษ์” ให้บรรลุเป้าหมาย จะใช้กลไกของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ซึ่งมาจากหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ เป็นแกนหลักในการประสานและสนับสนุนการบูรณาการการทำงานร่วมกันของ 5 ภาคีเครือข่ายเข้มแข็ง ได้แก่ ทหาร ตำรวจ นายอำเภอ นายก อบต. และสาธารณสุขอำเภอ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างประสิทธิภาพ เพื่อสร้าง “ชุมชนล้อมรักษ์” ในทุกอำเภอ โดยการประชุมครั้งนี้มี 5 ภาคีเครือข่ายเข้มแข็ง จาก 200 อำเภอ ใน 31 จังหวัด จำนวน 1,095 คน มาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานด้านยาเสพติด เพื่อพัฒนารูปแบบการดำเนินงาน CBTx ภายใต้แนวคิด “สร้างความสุข เติมความรัก โอบอุ้มสังคมให้อบอุ่น เพื่อเป้าหมาย คืนคนสู่สังคมอย่างปลอดภัย” ต่อไป

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้เกี่ยวข้องยาเสพติดทั้งหมดตัวเลขประมาณ 1.5 ล้านคน ซึ่งมีผู้ใช้ที่พร้อมเป็นผู้ค้าได้ตลอด ส่วนผู้เสพที่มีอาการก็เข้าสู่การบำบัดทางการแพทย์ มีสถานบำบัดรองรับ ทั้งสถาบันธัญญารักษ์ มินิธัญญารักษ์ สถาบันจิตเวชต่างๆ โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป พร้อมรองรับบำบัดรักษา อย่างการรักษาระยะเฉียบพลันที่มีอาการคลุ้มคลั่ง ก็จะใช้เวลารักษา 1-2 สัปดาห์ เปลี่ยนให้เป็นระยะรองเฉียบพลัน รักษาประมาณไม่เกิน 2 สัปดาห์ รวมๆแล้วไม่เกิน 3 สัปดาห์ จากนั้นเมื่อหายแล้วก็เข้าสู่การบำบัดระยะยาว ซึ่งมีมินิธัญญารักษ์มารองรับเกือบทุกอำเภอแล้ว ดูแลลองเทิร์มแคร์ อาจจะ 3-4 เดือน เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อต้องเข้าสู่ศูนย์ฟื้นฟูทางสังคมก็จะอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ เป็นการฟื้นฟูสภาพร่างกาย จิตใจ อาชีพ แต่เราก็พบว่าเมื่อพวกเขากลับสู่ชุมชน มี 2 ใน 3 กลับไปเสพซ้ำ จึงต้องอาศัยชุมชนมาช่วย ที่เรียกว่า ชุมชนล้อมรักษ์ มาช่วยเหลือกันเพื่อไม่ให้ผู้เสพที่รักษาหายแล้วกลับไปเสพอีก

สิ่งสำคัญคือ ชุมชนต้องทำงานต่อเนื่องอย่างยั่งยืน ซึ่งพชอ.มีส่วนสำคัญมาก ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ มีหลายชุมชนเป็นต้นแบบช่วยเหลือจัดการปัญหายาเสพติดอย่างดี อย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ให้การสนับสนุนและมอบรางวัลให้แก่ชุมชนที่เข้มแข็ง สามารถทำเรื่องนี้ได้อย่างยั้งยืน

“การที่พวกเขาจะอยู่ในสังคมได้ คือต้องได้รับการรักษาทางกาย ทางปัญญา ทางใจ และอาชีพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เขาอยู่ในสังคมได้ สิ่งที่ทำให้อยู่ในสังคมไม่ได้ ส่วนหนึ่งคือไม่มีอาชีพ ไม่ได้รับการยอมรับ ถูกตีตรา สังคมตัดเขาออกไป ทำให้ต้องกลับไปเสพซ้ำ ดังนั้น 5 ภาคีเครือข่าย และทุกภาคส่วนต้องช่วยกันเพื่อให้ผู้เสพได้รับการบำบัดรักษาและกลับคืนสู่สังคมโดยได้รับการยอมรับให้ได้ ซึ่งอัตราการกลับสู่สังคมได้ เรามีเป้าหมายขอให้ได้ 62 จาก 100 คนที่ผ่านกระบวนการและติดตามอย่างต่อเนื่อง 1 ปีโดยต้องไม่กลับไปเสพซ้ำ ซึ่งผมเชื่อว่าความเป็นชุมชนเข้มแข็งจะอยู่ได้มากกว่า 1 ปี ดังนั้น มิติแห่งการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยเพื่อเข้าสู่การบำบัดจึงสำคัญมาก” รมว.สาธารณสุข กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น