xs
xsm
sm
md
lg

สธ.-กลาโหม เล็งดึง รพ.ค่ายเป็น "มินิธัญญารักษ์" ดูแลติดยากลุ่มเกือบรุนแรง ใช้ "ค่ายทหาร" บำบัดทางสังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.-กลาโหม-กทม. ตั้ง 3 คณะอนุฯ เดินหน้า 50 เขต 50 รพ.กทม.เพิ่มเติม เชื่อมข้อมูลรองรับ 30 บาทรักษาทุกที่ ตั้งเป้า รพ.ค่ายทหาร เป็น "มินิธัญญารักษ์" ดูแลจิตเวช/ยาเสพติดสีส้ม-สีเหลือง ใช้พื้นที่ค่ายทหารบำบัดทางสังคม พร้อมทำค่ายทหารสุขภาพดี 4 ภาค ภาคละ 2 จังหวัด หลังกำลังพลอ้วน-โรค NCDs เพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการประสานความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ (30 บาทอัพเกรด) เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนครั้งที่ 1/2567 ว่า วันนี้ถือเป็นการประชุมครั้งแรก หลังตนลงนามคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ซึ่งมีตนและนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นที่ปรึกษา และมี นพ.โอภาส เป็นประธานกรรมการ เพื่อประสานความร่วมมือการทำงานระหว่างกระทรวงกลาโหม กทม. และ สธ. จึงได้เห็นชอบจัดตั้งคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนฯ ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือ ลดช่องว่างบริการเขตเมือง รพ.ทุติยภูมิ ตามนโยบาย รพ.กทม. 50 เขต 50 รพ.และปริมณฑล มี นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัด สธ. เป็นประธาน

"เราร่วมมือกับกลาโหม โดยอาศัยพื้นที่กองทัพอากาศ คือ รพ.ทหารอากาศ (สีกัน) ดำเนินการ รพ.เขตดอนเมือง มีระบบส่งต่อ รพ.ราชวิถี 2 (รังสิต) ถือเป็นจุดร่วมแรกสุด จุดต่อไปเราเตรียมจะเปิดเดือนหน้าคือ รพ.นพรัตนราชธานี คุ้มเกล้า เขตมีนบุรี ก็เป็นตัวอย่างการขยายแต่ละเขต ชุดนี้จะไปคุยกันในรายละเอียดว่าจะมีพื้นที่ไหนที่ควรมีการเพิ่มการเข้าถึงบริการอีกบ้าง" นพ.ชลน่านกล่าว


นพ.ชลน่านกล่าวว่า 2. คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือขับเคลื่อน 30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว มี นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัด สธ. เป็นประธาน ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยความร่วมมือเชื่อมข้อมูลระหว่าง รพ.ของกองทัพหรือกลาโหม และ รพ.ของ สธ. เพราะส่วนใหญ่กลาโหมจะมีสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ก็วางแนวจะปรับระบบรองรับอย่างไร ที่จะมาแสดงตัวตน การเบิกจ่าย ก็จะเป็นการพัฒนาไป ซึ่งเราตั้งเป้าให้รพ.ค่ายมาร่วมบัตรประชาชนใบเดียวฯ โดยช่วงนี้ต้องอาศัยเรื่องอำนาจของ ครม.ที่จะให้ความเห็นชอบเรื่องนี้ในการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าเดียวกัน เพราะมีกฎหมายที่ต้องระวังคือกฎหมาย PDPA และระบบของชั้นความลับของข้อมูล ก็ต้องไปดูรายละเอียด ส่วน รพ.ของกองทัพหากอยู่ในจังหวัดนำร่องบัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ที่เริ่มโครงการไปแล้ว ก็สามารถใช้ได้แล้ว ส่วนเฟสสอง 8 จังหวัด เราพยายามประสานจังหวัดว่า ถ้าจังหวัดไหนที่มี รพ.ค่ายอบู่ก็เป็นเป้าหมาย

และ 3.คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพจิต/ยาเสพติด ค่ายทหารสุขภาพดี และการจัดระบบบริการทางการแพทย์ร่วมกันในเขตสุขภาพ (One Region One Hospital) โดยมี นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองปลัด สธ. เป็นประธาน ซึ่งการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด มี 2 ส่วน คือ บำบัดทางการแพทย์ และด้านสังคม ซึ่งจะมีการคัดกรองคัดแยกผู้ป่วย โดยมีความร่วมมือ 5 ภาคีหลักในชุมชนมาช่วยค้นหา ส่งให้สถานพยาบาลคัดกรอง เราแบ่ง 4 สี คือ สีแดง อาการรุนแรง แนวโน้มก่อความรุนแรง SMI-V สีส้มเริ่มมีอาการเห็นชัด ยังไม่ก่อรุนแรง สีเหลือง เสพยาเสพติดมีอาการจิตเวชร่วมด้วยอยู่ในระยะสงบ และสีเขียว เสพไม่มีอาการ ซึ่งบำบัดทางการแพทย์เราจะร่วมมือกองทัพ รพ.ค่ายทหาร อาจเข้าสู่โครงการมินิธัญญารักษ์ ดูแลผู้ป่ยกลุ่มสีส้มและสีเหลือง ส่วนกรณีสีแดงเบื้องต้นต้องเข้าห้องฉุกเฉินทุกที่เพื่อระงับอาการและส่งเข้า รพ.จิตเวชหรือ รพ.ธัญญารักษ์ ต้องดูแลโดยแพทยืเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน


"รพ.ค่ายทหารสามารถเข้าเป็นมินิธัญญารักษ์เหมือน รพ.สธ.ที่กระจายทั่วประเทศ หลังจากดูอาการบำบัดทางการแพทย์ หากผ่านจะส่งต่อฟื้นฟูทางสังคม ซึ่งศูนย์ฟื้นฟูมี 3 ส่วนคือ ของมหาดไทย กองทัพ คือ ค่ายทหาร มี ประมาณ 60 แห่ง และฟื้นฟูโดยชุมชนบำบัดเป็นฐาน (CBTx) ทางกองทัพก็จะร่วมตั้งแต่เข้าเป็นมินิธัญญารักษ์ และฟื้นฟูทางสังคมที่จะอยู่ในค่ายทหารหรือ CBTx ล้อมรักษ์ หรือผสมกัน" นพ.ชลน่านกล่าว

ถามต่อว่า รพ.ค่ายทหารมีความพร้อมเข้ามินิธัญญารักษ์แล้ว หรือต้องไปเซตระบบก่อนให้สามารถดูแลผู้ป่วยสีส้มสีเหลืองได้ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราต้องไปคุยกับทาง รพ.ค่ายในการเตรียมความพร้อมเรื่องอาคาร สถานที่ เครื่องมืออุปกรณ์และคนที่ต้องเตรียมได้ทัน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไร งานนี้ต้องรอบคอบพอสมควรและเป็นเรื่องเร่งรัด เพราะที่นายกฯ แถลงนโยบายต่อรัฐสภาจะต้องลดปัญหายาเสพติดภายใน 1 ปี ก็เป็นนัยที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ


นพ.ชลน่านกล่าวว่า ที่ประชุมพูดถึงเรื่องค่ายทหารสุขภาพดี ซึ่งสถานการณ์สุขภาพกำลังพลกองทัพบกประเทศไทย (2560-2564) พบว่า ความชุกของภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนเพิ่มจากร้อยละ 42 เป็นร้อยละ 44 อัตราความชุกโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น ไขมันในเลือดสูงร้อยละ 74.5 ความดันโลหิตสูง ร้อยละ 26.5 และเบาหวาน ร้อยละ 11.4 เราจึงจะใช้ค่ายทหารเป็นต้นแบบผู้นำด้านสุขภาพ ลักษณะเป็นองค์กร คือ สุขภาพดีทั้งมิติส่วนบุคคล ครอบครัว และสังคมโดยรวม ซึ่งแนวทางกรมอนามัยวางหลักเกณฑ์วิธีการไปพูดคุยกับทางค่าย ว่าจะเป็นค่ายทหารสุขภาพดีมีตัวชี้วัดอะไร ต้องำเนินการอะไรรองรับ เราตั้งเป้า 4 ภูมิภาค 4 ทัพภาค ถ้าได้ภาคละ 2 จังหวัดนำร่อง จะเป็นต้นแบบองค์กรสุขภาพดี


กำลังโหลดความคิดเห็น