รองศาสตราจารย์
นายแพทย์กรกฤษณ์ ชัยเจนกิจ
ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพและคลินิกกีฬา
วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา
มหาวิทยาลัยมหิดล
ปัจจุบันการดูแลสุขภาพเป็นที่สนใจของทุกคน การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา ถือเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ที่คนทั่วไปเลือกใช้เพื่อสร้างความสุข ได้ทำในสิ่งที่ตนรัก อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้คือการบาดเจ็บ โดยตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือ “หัวเข่า” ที่สามารถเกิดขึ้นทั้งในคนทั่วไปและนักกีฬา ซึ่งส่งผลรุนแรงและกระทบต่อการเล่นกีฬา และคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก จึงควรได้รับการป้องกัน ดูแล รักษา และฟื้นฟู อย่างเหมาะสม
อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอาการบาดเจ็บที่เข่า ส่งผลกระทบต่อเอ็นไขว้หน้า ผิวข้อ และโครงสร้างของ “หมอนรองกระดูกหัวเข่า” ที่ทำหน้าที่ให้ความมั่นคง รองรับแรงกระแทกที่ต่อเข่า จาการเคลื่อนไหว รูปแบบต่าง ๆ เช่น การยืน เดิน วิ่ง กระโดด หรือกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน หากเกิดการบาดเจ็บหรือฉีกขาด จะมีผลให้หัวเข่ามีอาการปวด บวม ลงน้ำหนักตัวไม่ได้ และเคลื่อนไหวได้ลดลง การบาดเจ็บหัวเข่าอาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
-การบาดเจ็บและอุบัติเหตุ : การล้ม กระแทก การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา การกระแทกหรือบิดอย่างกะทันหัน รวมถึงการเกิดอุบัติเหตุอาจทำให้หมอนรองเข่าฉีกขาดหรือเสียหายได้
-การใช้งานมากเกินไป : กิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวเข่าซ้ำ ๆ เช่น การวิ่งหรือการกระโดด อาจทำให้หมอนรองกระดูกหัวเข่าเกิดความตึงเครียดสะสม ซึ่งสามารถนำไปสู่การอักเสบ สึกหรอ และได้รับบาดเจ็บในที่สุด
-ภาวะความเสื่อม : ภาวะต่าง ๆ เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ อาจทำให้หมอนรองเข่าอ่อนลง ทำให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บมากขึ้น ภาวะเหล่านี้มักเกี่ยวข้องกับอายุหรือสภาวะทางร่างกายที่การเคลื่อนไหวพื้นฐานไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การย่อ พบว่ามีการบิดข้อเข่าเข้าด้านใน ทำให้เกิดแรงเฉือนในข้อเข่า เพิ่มโอกาสการบาดเจ็บ และเล่นกีฬาไม่ดี
ความรุนแรงของอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นในแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป ในคนทั่วไป อาจมีอาการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยไปจนถึงอาการปวดอย่างรุนแรงขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอุบัติเหตุ ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมประจำวันและคุณภาพชีวิตในหลายด้าน เช่น การเคลื่อนไหวที่ถูกจำกัด การทำงานที่อาจเกิดการบกพร่องได้ สำหรับนักกีฬา อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพของร่างกาย การฝึก และการมีส่วนร่วมในกีฬา เนื่องจากนักกีฬาส่วนใหญ่จะออกแรงผลักดันร่างกายของตนให้ถึงขีดจำกัด เพิ่มโอกาสที่จะได้รับอาการบาดเจ็บที่รุนแรงได้ การรักษาอาการบาดเจ็บจึงขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสาเหตุที่แท้จริงของอาการ ควรได้รับการดูแลรักษา จากแพทย์ หรือบุคคลจากผู้เชี่ยวชาญสหสาขาร่วมกัน เช่น นักกายภาพ นักโภชนาการ หรือนักวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อการตรวจ วินิจฉัย รักษา ฟื้นฟูสภาพร่างกายให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ โดยหลักของเวชศาสตร์การกีฬา จะเน้นใช้รูปแบบการฝึกการเคลื่อนไหว การออกกำลังกายเป็นหลัก โดยแบ่งเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้
1.ลดอาการปวด และบวม เพื่อให้เริ่มขยับได้ ลดอาการปวด บวม ผ่านการบำบัดโดยความเย็น ออกกำลังกายในน้ำ ทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกายความหนักต่ำ โดยใช้สายรัดห้ามเลือด (Blood Flow Restriction Training)
2.ฟื้นฟูข้อต่อ การเคลื่อนไหวของข้อต่อ โดยการเพิ่มความแข็งแรง การควบคุมการเคลื่อนไหว มีการขยับข้อต่อ ยืดเหยียด ด้วยออกกำลังกายในห้องออกกำลังกาย และในน้ำ
3.ฟื้นฟูกล้ามเนื้อ พัฒนาความแข็งแรง ความทนทาน เพื่อใช้ในการเคลื่อนไหว
4.ฟื้นฟูการเคลื่อนไหว การทำงานร่วมกันของกล้ามเนื้อ เพื่อให้การเคลื่อนไหวมีประสิทธิภาพสูงสุด
5.ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวเฉพาะกีฬา สร้างความมั่นใจในการเคลื่อนไหว เพื่อการกลับไปเล่นกีฬาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาการบาดเจ็บเข่า ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประชากรทั่วไปและนักกีฬา การทำความเข้าใจสาเหตุ ความรุนแรง และวิธีการรักษาถือเป็นสิ่งสำคัญ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญในการดูแลตนเอง เพื่อให้ฟื้นฟูการทำงาน การเคลื่อนไหว ของข้อเข่าได้อย่างเหมาะสมอีกครั้ง การสังเกตร่างกายตนเอง อย่างถูกต้องและ ทันท่วงที เป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นฟูสุขภาพข้อเข่าและป้องกันการบาดเจ็บได้ในอนาคต