ใครที่มีอาการสารพัดปวดแบบนี้บ้าง? ปวดเมื่อย ปวดคอ บ่า ไหล่ ปวดหลัง ปวดขา ปวดเข่ากระบอกตา ปวดร้าวขึ้นศีรษะ เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม ฯลฯ คุณอาจเผชิญกับสภาวะโครงสร้างร่างกายที่ไม่สมดุลอยู่ อีกทางเลือกหนึ่งของการดูแลสุขภาพ คือการตรวจโครงสร้างร่างกายจะทำให้คุณรู้จักร่างกายดีขึ้น รู้ศักยภาพที่แท้จริงของร่างกาย ปรับร่างกายให้อยู่ในภาวะที่สมดุล
คุณเพ็ญพิชชากร แสนคำ นักกายภาพบำบัดจาก คลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) มาให้ข้อมูลเรื่องนี้ว่า การตรวจโครงสร้างร่างกาย คือการตรวจเช็คความสมดุลของกระดูกและกล้ามเนื้อ เทียบกับความสมบูรณ์แบบของโครงสร้างร่างกายในทางกายวิภาคศาสตร์
โครงสร้างร่างกายที่สมดุล แนวแกนกลางกระดูกสันหลังหากมองจากทางด้านหลัง จะอยู่ในแนวตรง มองทางด้านข้าง จะมีความเว้านูนช่วงคอ และหลังพอประมาณ ไม่มากและไม่น้อยเกินไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีการกระจายน้ำหนักของศีรษะและลำตัวถูกแบ่งเบาออกจากข้อต่อกระดูกสันหลัง
แต่หากแนวการวางตัวของกระดูกสันหลังมีการบิดคด การเรียงตัวไม่ตรง โค้งของกระดูกสันหลังน้อยหรือมากไป ก็มักส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อในร่างกาย และส่งผลต่อแรงที่กดลงสู่ข้อต่อ อาจมีอาการปวดเมื่อยในร่างกายได้ง่ายกว่าปกติ ง่วงหงาวหาวนอนทั้งที่นอนมาก หรืออาจจะสังเกตเห็นความไม่สมดุลในร่างกายได้อย่างชัดเจน เช่น ไหล่งุ้ม หลังค่อม คอยื่น กระดูกต้นคอปูดนูน สะโพกบิด เอวคอดไม่เท่ากัน บ่าสองข้างไม่เท่ากัน หน้าเบี้ยว ฝ่าเท้าคว่ำหรือแบนไม่เท่ากันสองข้าง ฯลฯ ลักษณะของร่างกายดังที่กล่าวมา หากมีความไม่สมดุลจนมองเห็นได้อย่างชัดเจน อาจเห็นด้วยตัวเองจากการมองภาพรวมร่างกายจากการส่องกระจก หรือมีคนทักบ่อยๆ นั่นก็หมายความว่าโครงสร้างร่างกายเรามีความไม่สมดุลเกิดขึ้นแล้ว
ซึ่งวิธีการตรวจโครงสร้างร่างกายด้วยตัวเอง ด้วยการมองผ่านกระจก กระจกต้องมองเห็นตลอดความสูงของร่างกาย หรือไม่ก็มองเห็นศีรษะจรดเข่าทั้งสองข้าง ใส่เพียงเสื้อชั้นในและกางเกงใน จะได้เห็นชัดเจน ยืนหน้ากระจก ย่ำเท้าอยู่กับที่สัก 5 ครั้ง แล้วยืนวางขาสองข้างแบบสบายๆ ไม่เกร็ง
1. ดูโครงหน้าซ้าย/ขวา ว่ามีคางบิด คอเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งหรือไม่
2. ดูระดับบ่า ทั้งสองข้าง มีข้างไหนสูง/ต่ำกว่าอีกข้างหรือไม่
3. ดูระดับกระดูกไหปลาร้า สองข้างเปรียบเทียบกัน มีสูง หรือนูนชัดออกมามากกว่าอีกด้านหรือไม่
4. ดูระดับหน้าอกทั้งสองข้าง มีบิดออกด้านนอกมากกว่าอีกฝั่ง หรือสูง/ต่ำ กว่าอีกฝั่งหรือไม่ ชายโครงทั้งสองนูนออกมาเท่ากันหรือไม่
5. ดูระดับเชิงกราน โดยดูจากเอวคอดทั้งสองฝั่ง มีด้านไหนสะโพกยัก เอวสูงกว่าอีกด้านหรือไม่
6. ดูความบิดหมุนของกระดูกสะบ้าที่เข่า มีด้านไหนที่บิดเข้าใน หรือบิดออกนอกมากว่าหรือไม่
7. ฝ่าเท้า มีเท้าล้มเข้าด้านใน หรือเท้าแบนที่ด้านใดด้านหนึ่งหรือไม่
หากพบว่ามีเพียง 2 ใน 7 ข้อ ก็บ่งบอกได้ว่า มีความไม่สมดุลของโครงสร้างร่างกาย อาจจะก่อให้เกิดอาการปวดเมื่อยง่ายกว่าคนทั่วไป หรืออาจส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อที่หนักมากกว่าปกติ ผลกระทบระยะยาวอาจทำให้เป็นโรคร้ายแรงได้ ฯลฯ
และถ้ายังไม่มั่นใจ เราสามารถตรวจโครงสร้างร่างกายโดยละเอียด เพื่อจะทำให้เราได้ทราบถึงความผิดปกติของระบบกระดูกกล้ามเนื้อ ทราบถึงความบิดคด ความแอ่น ความโค้งนูนของกระดูกสันหลังที่ผิดปกติไป
ซึ่งความไม่สมดุลเหล่านี้หากเราแก้ไขและดูแลได้ทันท่วงทีจะทำให้สามารถแก้ไขความผิดปกตินี้ได้ และยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้ายแรงอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับความเสื่อมของร่างกาย เช่น หมอนรองกระดูกเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม คอเสื่อมทับเส้นประสาท เป็นต้น ทั้งนี้โรคที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญในร่างกาย เช่น โรคหลอดเลือด โรคไขมันในเลือดสูง หรือแม้แต่โรคอัลไซเมอร์ เพราะโรคร้ายแรงเหล่านี้หากระบบโครงสร้างร่างกายไม่สมดุล ประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวก็น้อยลง การเผาผลาญในร่างกายลดลง ก็เสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงเหล่านี้ได้
การตรวจโครงสร้างร่างกาย ไม่ต้องรอให้มีอาการปวด แต่เราสามารถตรวจเช็คโครงสร้างร่างกายได้เลยทุกเพศทุกวัย เพราะเมื่อรู้จักร่างกายตัวเองดีแล้ว เราจะรู้แนวทางในการดูแลรักษาต่ออย่างถูกต้องเหมาะสมกับตัวเรา และจะเป็นผู้ได้ชื่อว่าสุขภาพดี แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยได้อย่างแท้จริง