xs
xsm
sm
md
lg

ร่าง พ.ร.บ.คุมน้ำเมาอยู่หน้าห้อง "ชลน่าน" รอเซ็นส่งเข้า ครม. ควบคุมโรคค้านร่างธุรกิจจ่อขายเสรี แจงเหตุคลอดเกณฑ์เมาครองสติไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรคเผยร่าง พ.ร.บ.คุมน้ำเมา อยู่หน้าห้อง "ชลน่าน" แล้ว รอเซ็นส่งเข้า ครม. หวังประกบร่างกลุ่มธุรกิจในสภา แจงทำความเห็นค้านไปแล้ว หลังพบดิสรัปต์ กม.เดิม ปล่อยผีขายเสรี โฆษณาทำโปรโมชั่น ยันฉบับ สธ.ปรับนิยามเข้มขึ้น ปิดช่องโหว่ "ตราเสมือน" ยันไม่ปรับเวลาห้ามจำหน่าย แจงยังกำหนดเกณฑ์เมาครองสติไม่ได้ เหตุบางคนไม่ถึง 50 มก.% ก็วูบแล้ว

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีเครือข่ายภาคประชาชน ยื่นข้อเรียกร้องถึงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้เร่งส่งร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้าไปประกบกับร่างของภาคประชาชนและธุรกิจ ที่จ่อเข้าสภา เนื่องจากกังวลกฎหมายฉบับกลุ่มธุรกิจที่ปลดล็อกดื่มเสรี 24 ชั่วโมง โฆษณาทำโปรโมชั่นได้เต็มที่ ว่า เรามีการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับของกระทรวงสาธารณสุข เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มีนายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ซึ่งได้สั่งการให้เร่งเพื่อนำไปประกบกับร่างอีก 2 ฉบับ โดยขณะนี้ร่างกฎหมายของเรานำเสนอไปยัง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แล้ว เพื่อลงนามนำเสนอเข้าสู่ ครม.ต่อไป ซึ่งเราแก้ไขให้มีความเข้มข้นขึ้น อย่างเรื่องของโฆษณา กฎหมายเดิมแบ่งวรรคไม่ชัดเจน ก็จะมีความชัดเจนมากขึ้น มิเช่นนั้นจะเป็นข้ออ้างของผู้ประกอบการอยู่ตลอดเวลา อันนี้ก็จะเห็นว่าอะไรที่ทำได้หรือทำไม่ได้


ถามว่ากังวลหรือไม่ถ้ากฎหมายฉบับของภาคธุรกิจมีการขับเคลื่อนไปไกลกว่า แล้วจะสวนทางกับกฎหมายของ สธ. นพ.ธงชัยกล่าวว่า เชื่อว่าสังคมน่าจะเข้าใจเรื่องของตัวกฎหมายว่า ทำเรื่องอะไรระหว่างเศรษฐกิจและการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน อย่างไรเรื่องคุ้มครองสุขภาพของประชาชนเราก็ยืนอยู่ตรงนี้ แต่การตัดสินใจจะทำอย่างไรเป็นเรื่องของสภา ซึ่งเรายืนยันเรื่องสุขภาพของประชาชน

ถามว่าเรื่องเวลาห้ามจำหน่ายร่างกฎหมายฉบับใหม่ของ สธ.ยังยืนยันเวลาเดิมหรือไม่ นพ.ธงชัยกล่าวว่า ยังยืนยันเหมือนเดิม เพราะการกำหนดเวลาห้ามขายใหม่ นั้นจะต้องออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ใช้อำนาจจาก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขั้นตอนต้องผ่านไปที่คณะกรรมการนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีนายภูมิธรรม เป็นประธาน ถึงนำเข้า ครม.และออกมาเป็นประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข

ถามว่าจะไม่มีการปรับเวลาให้สอดคล้องกับนโยบายอย่างเปิดผับตี 4 นพ.ธงชัยกล่าวว่า การปรับเวลานั้น กรมควบคุมโรคที่ดูแล พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกฮอล์ คงไม่ได้เป็นผู้เสนอ แต่ถ้าใครเสนอมาก็อยู่ที่คณะกรรมการฯ ว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งปัจจุบันก็ยังอยู่ถึงเที่ยงคืน ถ้าสิ่งไหนมีผลกระทบต่อสุขภาพเราก็พยายามดูแลแทนประชาชน

ถามถึงกรณีร่างฉบับใหม่จะมีเรื่องของตราเสมือน ที่ใช้โลโก้ของน้ำเมาแต่ปรับให้ไปอยู่ในผลิตภัณฑ์พวกน้ำหรือโซดาด้วยหรือไม่ นพ.ธงชัยกล่าวว่า ก็อยู่ในร่างฉบับใหม่เหมือนกัน เพราะตราเสมือนเข้าข่ายการโฆษณาโดยสภาพ วิธีจึงผิดไปโดยสภาพ แต่การวินิจฉัยต่างๆ ต้องมีหลักฐานประกอบ ส่วนจะมีการเเพิ่มโทษหรือไม่นั้นต้องรอดูรายละเอียด เพราะเมื่อร่างกฎหมายเข้าสู่สภาก็ต้องไปมีการแปรญัตติอีก


ด้าน นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า เบื้องต้นเคยมีการถามความเห็นมาถึงร่างกฎหมายของฉับกลุ่มธุรกิจ เราก็ทำความเห็นไปแล้วว่าไม่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยเพราะอะไร แต่สุดท้ายสภาจะเป็นคนกำหนดว่าจะดำเนินการอย่างไร จึงอาจจะต้องมีกลไกไปขอร้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าพรรครัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ร่วมด้วยช่วยกันในแง่ของการคิดว่า มุมมองและผลกระทบที่ตามมาสำหรับประชาชนคืออะไรอย่างไร เพราะเมื่อไรผ่านกฎหมายไปแล้ว สุดท้ายสิ่งที่ตามมาใครเป็นผู้รับผลกระทบ ไม่มีใครตามมาช่วยเหลือ เช่น เวลาเกิดอุบัติเหตุเมาแล้วขับ สุดท้ายคนเสียชีวิตก็บอกว่าเป็นไปตามยถากรรม ยังไม่มีกองทุนมาช่วยดูแลต่างๆ อย่างชัดเจน เราคงเสนอมาตรการและให้ข้อมูลเชิงวิชาการที่ถูกต้อง แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องเป็นกลไกทางสภาที่จะพิจารณาออกมาอย่างไร รวมถึงกฤษฎีกาที่จะต้องไปแปรญัตติต่างๆ กว่ากฎหมายจะออกมา ต้องขอความร่วมมือส่วนนั้นด้วย แต่เราไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายที่คิดว่าจะมีการดิสรัปต์กฎหมายเดิมเกือบทุกข้อ โดยเฉพาะเรื่องเวลาการขาย

ถามว่าจะประกบกับอีก 2 ร่างทันใช่หรือไม่ นพ.นิพนธ์กล่าวว่า จะพยายามให้เร็วที่สุด อยู่ที่กระบวนการอื่นๆ ที่นอกเหนืออำนาจของกรม เราก็ห่วงเรื่องเวลาอยู่ ถามอีกว่าเรื่องการห้ามขายน้ำเมาให้คนเมาที่ครองสติไม่ได้ จะมีการปรับให้ชัดเจนด้วยหรือไม่ นพ.นิพนธ์กล่าวว่า เราอยากปรับให้ชัดเจน แต่หากจะเอาตามข้อมูลวิชาการหรือทางการแพทย์ คำว่า "ครองสติไม่ได้" บางคนกินไม่ถึง 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แล้วครองสติไม่ได้ก็มี เพราะบางคนแพ้แอลกอฮอล์ แต่อาการครองสติไม่ได้จริงๆ แล้ว เบื้องต้นเอาแบบคนทั่วไปที่ตรวจแอลกอฮอล์ คือจะเกิน 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ที่จะหมดสติ เบลอ ไม่รู้เรื่อง ขณะที่ยูโฟเรีย หรือภาวะสนุกสนาน เคลิบเคลิ้ม จะอยู่ที่ 50-100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่เรื่องการขายส่วนใหญ่ร้านค้าไม่ได้หยุดขาย บางทีอย่างที่เห็นเป็นข่าว หมดสติมานอน ตรงนี้คือเกิน 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว แต่แค่ไม่มีใครมานั่งวัด

ถามถึงกรณีเมื่อพบเด็กเยาวชนเมาแล้วขับ ที่ให้ตรวจสอบร้านค้าย้อนหลัง ต้องออกมาเป็นกฎหมายใน พ.ร.บ.หรือต้องออกประกาศเพิ่มเติมหรือไม่ นพ.นิพนธ์กล่าวว่า การสืบกฎหมายเป็น ป.วิอาญาโดยสภาพ เหมือนสืบหาพยานหลักฐานประกอบการดำเนินคดี เพราะเป็นคดีทางอาญา เจ้าพนักงานสอบสวนมีอำนาจตามกฎหมายโดยสภาพ ไม่ต้องออกกฎหมาย ขอแค่เอากฎหมายไปบังคับใช้จริง กรณีเด็กต่ำกว่า 18 ปี ก็จะผิด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ส่วนอายุไม่ถึง 20 ปี จะผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเอาผิดว่าใครขายให้และกินที่ไหน


กำลังโหลดความคิดเห็น