xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.รับแพทย์อินเทิร์นแฮปปี้มากขึ้น เร่งแก้ปัญหา 3 เขตสุขภาพบุคลากรน้อย ปัดคำสั่งหลังโซเชียลแชร์ห้ามจ้างแพทย์เอกชน-ตปท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัด สธ. เผยปัญหาแพทย์อินเทิร์นน้อยลง ผอ.รพ.ทุกแห่งดูแล ลงพื้นที่ส่วนใหญ่บอกมีความสุขในการทำงาน ภาระงานอยู่เวรโอทีส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์กำหนด เร่งดูแลสมดุลภาระงานหนัก ไม่ให้หมดไฟทำงาน แต่ย้ำข้าราชการต้องทุ่มเททำงานเพื่อประชาชนด้ว เร่งแก้ปัญหา 3 เขตสุขภาพบุคลากรน้อย กว่าเขตอื่น ปัดคำสั่งหลังโซเชียลแชร์ห้ามจ้างแพทย์เอกชน/ตปท.

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าเรื่องการแก้ปัญหาภาระงานแพทย์อินเทิร์น หรือแพทย์ที่จบใหม่ และต้องไปเพิ่มพูนทักษะใน รพ.รัฐ ว่า เรื่องของแพทย์อินเทิร์นปัญหาต่างๆนั้น จากข้อมูลพบว่า ปีนี้ปัญหาจะน้อยลงกว่าเดิม เนื่องจาก ผอ.รพ.ทุกแห่งให้ความสำคัญในการดูแลแพทย์จบใหม่หรือแพทย์อินเทิร์น ซึ่งตนลงพื้นที่ต่างจังหวัดได้พูดคุยกับน้องๆ แพทย์อินเทิร์น ส่วนใหญ่บอกว่ามีความสุขในการทำงาน แต่ก็มีงานหนักอยู่เช่นกัน ซึ่งก็ต้องบอกว่า ทุกคนเสียสละเพื่อประชาชน

“จากการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งให้สำรวจข้อมูลอีกครั้ง โดยภาระงานที่อยู่เวรโอที นอกเวลาราชการตามแพทยสภากำหนดไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์กำหนด เพียงแต่บางช่วงที่หนัก อย่างขาดแพทย์ หมอลาออกกะทันหัน หมอป่วย แต่ไม่ได้เป็นปัญหาทั้งปี เพราะทั้งปีโดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ ซึ่งกระทรวงฯกำลังดูว่าจะออกเป็นประกาศช่วยอะไรได้หรือไม่ ที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย สิ่งสำคัญต้องไม่ลืมว่า นอกจากบทบาทเป็นแพทย์ พยาบาล ทุกคนของสธ.ยังเป็นข้าราชการ กฎข้อหนึ่งของราชการต้องทุ่มเททำงานให้ประชาชน จึงยังไม่แน่ใจว่าจะออกระเบียบตรงนี้ แต่เราไม่อยากให้เกิดภาระหนักของบุคลากรมากเกินไป เพราะถ้าเป็นมากจะหมดไฟทำงาน ซึ่งพยายามดูอยู่ เพราะภาระงานก็ยังไม่หมดไป ยังมีอยู่” ปลัดสธ. กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงฯ สัญจรที่ จ.พะเยา มี ผอ.รพ. มี นพ.สสจ. มาประชุมร่วมกัน ซึ่งได้สั่งการว่า ปีนี้การกระจายแพทย์ต้องมุ่งเน้นจำนวนและเชิงคุณภาพ โดยเชิงจำนวน เขตที่มีปัญหาบุคลากรการแพทย์ คือ เขตสุขภาพที่ 2 ภาคเหนือตอนกลาง เขตสุขภาพที่ 8 ภาคอีสานตอนบน เขตสุขภาพที่ 10 ภาคอีสานตอนล่าง โดยกระทรวงฯจะแก้ปัญหา 3 เขตให้มีบุคลากรใกล้เคียงกับเขตสุขภาพอื่นๆ แต่เนื่องจากแต่ละเขตก็จะมีจำนวนไม่เท่ากัน จึงให้ผู้ตรวจราชการไปพิจารณาแต่ละเขตของท่าน เนื่องจากการออกกติการวมจะแก้ปัญหาทุกที่ไม่ได้

“แต่ละอำเภอก็มีหมอไม่เท่ากัน แม้จะเป็นรพ.ชุมชนเหมือนกัน อย่างบางรพ.ชุมชน มีศักยภาพก็จะมีหมอมากขึ้น การกระจายในระดับจังหวัด จึงเป็นหน้าที่ของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดต้องกระจายให้ครบถ้วน โดยรพ.ชุมชนที่มีประชากรน้อยกว่า 30,000 คน ต้องมีแพทย์อย่างน้อย 5-6 คน รพ.ที่มีมากกว่า 30,000 คนต้องมีแพทย์ตั้งแต่ 8-10 คนขึ้นไป ซึ่งตัวเลขยืดหยุ่นได้ แต่หากมีปัญหาฉุกเฉิน หมอลาออกกะทันหัน ก็เป็นหน้าที่ของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเคลื่อนย้ายบุคลากรมาช่วยกันได้ ตรงกับนโยบาย “หนึ่งจังหวัดหนึ่งโรงพยาบาล”(One Province One Hospital)” ปลัดสธ.กล่าว

เมื่อถามว่าสาเหตุที่เขตสุขภาพ 3 แห่งบุคลากรมีจำนวนน้อย เป็นเพราะอะไร นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนใหญ่จะเป็นเพราะสถานภาพทางเศรษฐกิจของเขตนั้นๆ ค่อนข้างน้อย และอยู่ห่างไกล เดินทางยากลำบาก ซึ่งมีหลายปัจจัย อย่างจังหวัดที่มีโรงเรียนแพทย์ก็จะไม่ค่อยมีปัญหา ขณะที่จังหวัดเล็กๆ การเดินทางลำบากก็จะมีปัญหา ตรงนี้เราก็พยายามดูอยู่

เมื่อถามถึงกรณีมีการรีทวิตของบุคลากรคนหนึ่ง ระบุว่า “ปีหน้าออกนโยบายห้ามจ้างแพทย์จบเอกชน/ตปท. มาเป็นอินเทิร์น เพิ่มพูนทักษะ (ทั้งที่ใช้เงินบำรุงของรพ.จ้าง) โดยบอกว่าได้รับแจ้งมาจากปลัดแต่ไม่เห็นคำสั่งลายลักษณ์อักษร อาจจะเปลี่ยนแปลงก็เป็นได้ ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วย เนื่องจากการจ้างลักษณะนี้ช่วยแบ่งเบาภาระงานได้นั้น นพ.โอภาสระบุว่า ต้องขอดูคำสั่งดังกล่าวก่อนว่า มีจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การจ้างแพทย์ที่ผ่านมาก็มีการทำลักษณะนี้ แต่ก็ขึ้นกับสถานะทางการเงินของ รพ.นั้นๆ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องดูรายละเอียดว่า การโพสต์ดังกล่าวมีคำสั่ง หรือมีข้อมูลรายละเอียดอย่างไร

ถามถึงกรณีมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า สธ.จะมีแนวทางดูแลแพทย์ฝึกทักษะ หรือนักศึกษาแพทย์อย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมามีข่าวนศพ.ตกตึกเสียชีวิต นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องนักศึกษาแพทย์ จะอยู่ในกำกับมหาวิทยาลัย แต่ให้เราเป็นศูนย์ฝึกอบรม ซึ่งเรื่องนี้ต้องร่วมมือกันทั้งหมด ทั้งครอบครัว มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาล ต้องพูดคุยกันทั้งหมด ปัจจัยเกี่ยวข้องมีทั้งความเครียดการเรียน ชีวิตส่วนตัว และเรื่องอื่นๆ ต้องมีระบบเฝ้าระวัง ทั้งพี่เลี้ยง เพื่อนช่วยเพื่อน เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น