ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการโอนย้ายบุคลากรสาธารณสุขจาก 5 หน่วยงานคือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน ภายใต้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ด้วยห่วงว่าจะกระทบต่อประชาชนที่มาใช้บริการโรงพยาบาลเพราะขาดแคลนบุคลากร ทำให้การบริการย่ำแย่ลง ถือเป็นเรื่องสำคัญ เป็นความเป็นความตาย ที่ไม่อาจมองข้าม
ปัญหาการถ่ายโอนบุคลากรสาธารณสุขจากหน่วยงานดังกล่าว เป็นเรื่องยืดเยื้อเรื้อรังมาพักใหญ่ เรียกว่าเป็น “โรคแทรก” และ “งานงอก” จากแผนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งกำหนดให้มีการถ่ายโอนสถานีอนามัย และ รพ.สต. ที่เป็นส่วนงานปฐมภูมิของการป้องกันและรักษาพยาบาลไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
ตามแผนถ่ายโอนน่าจะดำเนินไปด้วยดี แต่ทำไปทำมาบุคลากรที่ขอถ่ายโอน กลับไม่ใช่มีแต่เพียงส่วนงานปฐมภูมิจากสถานีอนามัยและ รพ.สต.เท่านั้น เพราะมีบุคลากรจาก 5 หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวข้างต้น เฮโลขอไปอยู่กับ อบจ.ด้วย หลังจากคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไฟเขียวผ่อนปรนให้ขอถ่ายโอนได้หากหน่วยงานต้นสังกัดยินยอม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ตอนแรกก็ปล่อยให้โอนไปได้แต่ตอนหลังมาเปลี่ยนใจไม่ให้ขอถ่ายโอน และมีหนังสือให้บุคลากรใน 5 หน่วยงาน สธ. สังกัดกลับมาปฏิบัติงานตามเดิม
กลายเป็นเรื่องยุ่งอีรุงตุงนัง ทั้งคนที่อยากถ่ายโอนแต่ไปไม่ได้ และมีบางส่วนที่โอนไปแล้วอยากกลับมา ขณะที่ผู้บริหาร สธ. ก็ไม่อยากให้คนถ่ายโอนออกไป แต่ “เลือดก็ไหลไม่หยุด” แค่นำร่องปีแรกปีงบประมาณ 2566 มีบุคลากรจาก 5 หน่วยงาน ขอย้ายออกไปแล้ว 1,300 คน ยังมีค้างกลางอากาศอีก 222 คน ที่ต้องเคลียร์
ร้อนถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) จัดแจงนั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เพื่อคลี่คลายปัญหา
ขณะที่ก่อนหน้านั้น นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เชียงใหม่ ในฐานะประธานชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด กล่าวถึงกรณีคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีมติให้บุคลากรจาก 5 หน่วยงาน คือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป และ รพ.ชุมชน สามารถถ่ายโอนไปท้องถิ่นได้ว่า จากการประชุมของชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เห็นตรงกันว่าไม่ควรให้มีการโอนบุคลากรจาก 5 หน่วยงานไปยัง อบจ. และจะมีการออกแถลงการณ์คัดค้านเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด มีจุดยืนสนับสนุนการถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการปฐมภูมิ ที่เป็นไปตามแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยฯ และ รพ.สต.ที่เป็นส่วนงานปฐมภูมิให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมุ่งหวังว่าจะส่งผลให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ แต่การถ่ายโอนภารกิจที่ผ่านมา พบว่ามีบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานใน 5 หน่วยงาน แจ้งความจำนงขอถ่ายโอนไปพร้อมกับการถ่ายโอนบุคลากรของสถานีอนามัยฯ รพ.สต.ด้วย โดยที่ยังไม่มีการกำหนดขอบเขต หรือวิธีการถ่ายโอนที่ชัดเจนในบุคลากรกลุ่มดังกล่าว ซึ่งนอกจากไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของแผนการกระจายอำนาจฯ แล้ว ยังส่งผลกระทบทั้งการบริหารของหน่วยงานในพื้นที่ และการดูแลประชาชน
นพ.จตุชัย กล่าวว่า การโอนบุคลากรที่ปฏิบัติงานใน 5 หน่วยงาน ทำให้หน่วยงานด้านการบริหาร คือ สสจ. และ สสอ. ขาดบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการวิเคราะห์นโยบายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงการควบคุมกำกับการดำเนินงานของหน่วยบริการในพื้นที่ให้เป็นไปตามนโยบายที่สำคัญ ส่วนหน่วยบริการ ตั้งแต่ รพ.ชุมชนขึ้นไป จะยิ่งซ้ำเติมปัญขาดแคลนบุคลากรในการให้บริการมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยนอกที่มารับบริการตรวจรักษา ตรวจตามนัด ต้องรอคอยนานขึ้นและแออัดมากขึ้น ขณะที่ผู้ป่วยในจะขาดบุคลากรที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมาดูแล เช่น ผู้ป่วยหนักใน ICU ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัด ต้องรอคิวผ่าตัดนานขึ้น เนื่องจากขาดพยาบาลผู้ช่วยผ่าตัด เป็นต้น
ดังนั้น ชมรม นพ.สสจ. ขอเสนอให้คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ทบทวนแนวทางหรือตีความการโอนบุคลากรที่ปฏิบัติงานใน 5 หน่วยงานดังกล่าว โดยพิจารณาตามหลักการและเหตุผลของกฎหมาย และที่สำคัญป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่เข้ารับบริการใน รพ.ระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ
ไม่เพียงแต่ ชมรม นพ.สสจ. เท่านั้น ที่ออกมาคัดค้าน ทางชมรม รพศ. รพท. ไม่เห็นด้วยกับคณะอนุกรรมการถ่ายโอนฯ จนเกิดความขัดแย้งทางความคิดและการปฏิบัติงานในพื้นที่
เช่นเดียวกัน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มองว่าโดยหลักต้องมาพิจารณาร่วมกันว่าในรายละเอียดหลักเกณฑ์การถ่ายโอนของคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ สอดรับกับแนวทางหลักเกณฑ์กระจายอำนาจของ ก.ก.ถ.จริงหรือไม่ ซึ่ง 5 หน่วยงาน สธ. ถ้าตีความแล้วไม่ใช่บุคลากรของ รพ.สต. เป็นบุคลากรภายนอกหน่วยงานการปฏิบัติของ รพ.สต. แต่หากมีความประสงค์จะไปทำงานใน รพ.สต.จะไม่ใช่การถ่ายโอน แต่เป็นระเบียบการโอนย้ายตามปกติ
“... หากทำผิดระเบียบคนปฏิบัติงานก็โดน ม.157 ดังนั้น เรื่องระเบียบต้องรัดกุม” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน ยังได้ลงนามในหนังสือถึง ประธาน ก.ก.ถ.เพื่อประกอบการพิจารณาในการประชุมเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นข้อเสนอการถ่ายโอนฯ โดยสรุปการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขฯ ครั้งที่ 8/2566 และนำเสนอปัญหาผลกระทบต่อประชาชนจากการถ่ายโอน รวมไปถึงผลการศึกษาและข้อเสนอเชิงนโยบาย
ทั้งนี้ ข้อเสนอหลัก คือบุคลากรที่ไม่ได้ปฏิบัติงานภารกิจด้านปฐมภูมิ มีสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) รพ.ชุมชน(รพช.) รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป(รพศ.รพท.) จำนวน 222 ราย ควรใช้วิธีการ “โอนย้าย” ตามกฎ ก.พ. ซึ่งไม่ใช่การ “ถ่ายโอน”บุคลากร เนื่องจากตามมติ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข ได้พิจารณาตามแนวทางความเห็นของผู้แทนสำนักงาน ก.พ.ในการประชุม ก.ก.ถ.เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 เห็นว่า บุคลากรดังกล่าวไม่ได้ปฏิบัติภารกิจด้านปฐมภูมิ จะกระทบกับการให้บริการแก่ประชาชนในโรงพยาบาลได้ อีกทั้งคู่มือแนวทางการถ่ายโอนไม่ได้ระบุเอาไว้
ส่วนบุคลากรที่ปฏิบัติงานภารกิจด้านปฐมภูมิที่สมัครใจและมีความประสงค์ถ่ายโอนไปยัง รพ.สต.สังกัด อบจ. คือ กรณี รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2565 จำนวน 766 ราย เห็นว่าถ่ายโอนได้กรณีที่ขอถ่ายโอนไปยัง รพ.สต.เดิมที่เคยปฏิบัติงาน และต้องไม่กระทบกับการให้บริการของ รพ.สต.ที่ปฏิบัติงานในปัจจุบัน นอกจากนี้ สธ. เสนอให้ขยายระยะเวลาการส่งรายชื่อผู้ที่สมัครใจและมีความประสงค์ต้องการถ่ายโอนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จนกว่าจะมีการแก้ไขแนวทางและหลักเกณฑ์การถ่ายโอนบุคลากรเสร็จเรียบร้อยแล้ว
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนั่งเป็นประธาน ก.ก.ถ.ออกตัวก่อนการประชุมว่า ใช่จะทราบทุกเรื่องเพราะเรื่องนี้เป็นงานใหม่แต่จะค่อยๆ แก้ปัญหาไป อย่ามาสู้รบกันเลย ซึ่งจากการหารือนอกรอบกลุ่มที่โอนย้ายไปแล้วจาก 5 หน่วยงาน จำนวน 1,300 คน นั้นไม่ถูกต้อง และเมื่อไม่ถูกต้องจะให้โอนไปอีกก็จะเป็นปัญหาไม่จบ เพราะต่างถือระเบียบกฎเกณฑ์ต่างกัน มาช่วยกันแก้ปัญหา ร่วมมือกันดีกว่า
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม ก.ก.ถ. เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติที่เห็นร่วมกันว่ากรณีบุคลากรถ่ายโอน 5 หน่วยงาน จำนวน 222 คน (จำนวนที่เสนอในที่ประชุม) ให้บุคลากรกลุ่มนี้ยื่นเอกสารขอโอนย้ายต่อกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จากนั้นจะนำเรื่องเข้า อ.กพ.สธ. ให้พิจารณาอนุมัติถ่ายโอนไปยัง อบจ. แต่ยังไปในรูปแบบช่วยราชการไปก่อนระหว่างที่รอ สธ. จัดทำหลักเกณฑ์ใหม่เพื่อให้การโอนย้ายเป็นไปอย่างถูกต้อง
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังมีความเห็นร่วมกัน กรณีบุคลากรที่ไม่ได้ปฏิบัติภารกิจด้านปฐมภูมิ ที่อยู่ในสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เห็นควรให้โอนตามกฎ ก.พ. เพราะตามมติ อ.ก.พ.สธ. ซึ่งได้พิจารณาตามแนวทางความเห็นของผู้แทนสำนักงาน ก.พ. ในการประชุม ก.ก.ถ. เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2565 ที่มีความเห็นว่าบุคลากรดังกล่าวไม่ได้ปฏิบัติภารกิจปฐมภูมิ ซึ่งจะกระทบกับการให้บริการแก่ประชาชนในโรงพยาบาลนั้น ให้มีการดำเนินการต่อไปนี้
หนึ่ง มอบให้ สธ. พิจารณาตรวจสอบร่วมกับ อบจ. ที่บุคลากร สธ. แจ้งความประสงค์ถ่ายโอนไป อบจ. เพื่อให้ได้ทราบข้อมูลการโอนบุคลากรโดยชัดเจน โดยการอนุมัติการโอนให้เป็นหน้าที่และอำนาจของผู้บังคับบัญชาเบื้องต้น (สสอ. สสจ. โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป) และ สธ. โดย อ.ก.พ.สธ. ซึ่งให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ให้สอดคล้องกับ อบจ. ที่รับโอนบุคลากร
สอง ให้บุคลากรโอนปกติโดยความสมัครใจดังกล่าว เพื่อไปปฏิบัติงานใหม่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รับโอนต้องได้รับสิทธิประโยชน์และความก้าวหน้าไม่ต่ำกว่าที่เคยได้รับอยู่ที่เดิม รวมถึงสถานภาพและสิทธิประโยชน์ต่อเนื่องของสมาชิกกองทุนบำเหน็จข้าราชการ (กบข.) เหมือนกับบุคลากรที่ถ่ายโอนตามที่แผนปฏิบัติการฯ ฉบับที่ 2 กำหนดไว้
สาม ให้สำนักงบประมาณ จัดสรรงบฯ ให้ อบจ. ในการรับโอนเพื่อสรรหาบุคคลทดแทนตามโครงสร้างและอัตรากำลังของ รพ.สต. หรือ สอน. ที่ได้รับการถ่ายโอนตามที่ประกาศ ก.ก.ถ. เรื่องหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมิทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2564 กำหนดไว้
กรณีบุคลากรที่ปฏิบัติงานภารกิจด้านปฐมภูมิ ที่สมัครใจและมีความประสงค์ต้องการถ่ายโอนไปยัง รพ.สต. สังกัด อบจ. ให้ดำเนินการตามความประสงค์ของบุคลากรที่สมัครใจถ่ายโอน เนื่องจากเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติภารกิจด้านปฐมภูมิตามประกาศ ก.ก.ถ. เรื่องหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมิทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ลงวันที่ 5 ต.ค. 2564 กำหนดไว้
กรณีที่ สธ. ขอเสนอให้ขยายระยะเวลาการส่งรายชื่อผู้ที่สมัครใจและมีความประสงค์ต้องการถ่ายโอนในปีงบฯ 2568 จนกว่าจะมีการแก้ไขแนวทางและหลักเกณฑ์การถ่ายโอนบุคลากรเสร็จเรียบร้อย เห็นสมควรให้ดำเนินตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ ในครั้งประชุมที่ 8/2566 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 ประกอบกับแนวทางการบริหารจัดการบุคลากรตามมติที่ประชุม ก.ก.ถ. วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ต่อไป
สรุปก็คือ การโอนย้ายบุคลากรจาก 5 หน่วยงานสาธารณสุข ต้องปฏิบัติตามกฎของ ก.พ. ซึ่งต้องผ่าน อ.ก.พ.สธ. และต้องรอแก้ไขแนวทางและหลักเกณฑ์การถ่ายโอนบุคลากรให้ชัดเจนเรียบร้อยเสียก่อน ถือเป็นการ “ห้ามเลือด” ชั่วคราว และ “ห้ามทัพ” พักศึก ก่อนที่จะมีปัญหาไปมากกว่านี้ ซึ่งไม่ส่งผลดีใดๆ ต่อการบริการประชาชน
แต่ปัญหาที่ชวนให้ขบคิดและตั้งคำถามอยู่ไม่น้อยก็คือ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้มีบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขอยากย้ายสังกัดไปอยู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมากขนาดนี้