โดย...อาจารย์ธาม เชื้อสถาปนศิริ
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
“เด็กเล่นเกม” คือเด็กที่ใช้อุปกรณ์ที่มีหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ เช่น มือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ เล่นเกมเพื่อความสนุกสนาน ความบันเทิง และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งเกมสำหรับเด็กมีรูปแบบให้เลือกเล่นมากมาย เช่น เกมต่อภาพ เกมใบ้คำ เกมแนวกลยุทธ์หรือบริหารจัดการ เป็นต้น เพื่อเน้นการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กให้เกิดการเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น การแก้ปัญหา การทำงานเป็นทีม ความคิดสร้างสรรค์ และการตัดสินใจ นอกจากนี้ เกมยังเป็นช่องทางให้เด็ก ๆ ได้สำรวจจินตนาการของตนเอง พัฒนาความผูกพันทางสังคม และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ
อย่างไรก็ตาม “เด็กติดเกม” จะมีพฤติกรรมที่กระทบต่อตัวเด็กในหลาย ๆ ด้าน จนส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต หน้าที่ความรับผิดชอบ ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่โดยรวม เช่น เด็กเล่นเกม 2-3 ชั่วโมง/ครั้ง เล่นหลายรอบ/วัน และมีพฤติกรรมลักษณะนี้จนส่งผลกระทบทางลบต่อเนื่องยาวนานเป็นระยะเวลา 12 เดือน ตามที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศเงื่อนไขไว้ ก็จะถือว่าเด็กคนนี้มีภาวะติดเกม แต่ในทางกลับกันถ้าเล่นเกมอย่างหนักแล้ว แต่ยังสามารถดูแลตนเองได้ ผลการเรียนปกติ หน้าที่การงาน สุขภาพ ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง กิจกรรมทางสังคมปกติ ก็จะไม่ถือว่าเป็นเด็กติดเกม แต่อาจจะมีความเสี่ยงเฝ้าระวังเป็นผู้ติดเกมได้ในอนาคต
ในเชิงวิทยาศาสตร์มีข้อมูลอธิบายพฤติกรรมของการติดเกมไว้ว่า เกมถูกสร้างให้เกิดการแข่งขัน เพื่อเป้าหมายหรือรางวัล ซึ่งในขณะเล่นเกมร่างกายจะหลั่งสาร Endorphins ด้วยความรู้สึกสนุก ตื่นเต้นและมีความสุข เกิดเป็นวงจรกระตุ้นประสาท (Compulsion Loop) ซึ่งการติดเกมแท้จริงแล้ว คือ การเสพติดวงจรสารสื่อประสาทที่ถูกกระตุ้นถี่ ๆ นั่นเอง ทางการแพทย์มีเกณฑ์วินิจฉัยโรคติดเกมไว้ โดยสามารถประเมินจากอาการทั้งหมด 9 ข้อ ดังนี้
1.มีความคิดที่หมกมุ่นแต่เรื่องการเล่นเกม
2.ต้องการจะเล่นเกมมากขึ้นเรื่อย ๆ
3.เมื่อถูกบังคับไม่ให้เล่นหรือหยุดเล่น จะมีอาการหงุดหงิด
4.พยายามจะลดหรือหยุดการเล่นเกม แต่ไม่สามารถทำได้เอง
5.มีการปิดบังการเล่นเกมของตัวเอง
6.สนใจกิจกรรมอื่น ๆ ที่เคยชอบน้อยลง เช่น เล่นกีฬา ดูทีวี เอาเวลาไปใช่ในการเล่นเกมมากขึ้น
7.ยังมีการเล่นเกมมาก ทั้ง ๆ ที่ทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเล่นเกม
8.ใช้การเล่นเกมเพื่อจัดการความเครียด อารมณ์วิตกกังวล เบื่อเศร้า
9.เกิดผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือพลาดโอกาสที่สำคัญต่าง ๆ ในชีวิต
สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่รู้สึกว่าบุตร หลาน เริ่มมีพฤติกรรมเข้าเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ สำหรับเด็กโต จนถึงวัยผู้ใหญ่ แพทย์จะมีแบบทดสอบการติดเกม (Game Addiction Screening Test – GAST) ที่จะช่วยวินิจฉัยภาวะติดเกม แต่สำหรับในเด็กเล็กแพทย์จะพิจารณาจากเรื่องของพัฒนาการ พฤติกรรม ความบกพร่องทางภาษา สังคม และสติปัญญาเป็นหลัก
ผลกระทบจากการเล่นเกมที่สำคัญนอกจาก การที่พัฒนาการถูกทำลาย และพัฒนาการที่ล่าช้าแล้ว ยังมีอาการอื่น ๆ ที่น่าเป็นห่วงและต้องระมัดระวังเพิ่มเติมอีก เช่น การใส่หูฟังเล่นเกมเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ภาวะโสตประสาทถูกทำลาย ทำให้เกิดอาการหูอื้อ หูแว่วได้ หรือการมีภาวะหลบหนีจากความจริง (Escapism) ยกตัวอย่าง เคสการกระทำความผิดต่าง ๆ โดยลอกเลียนแบบพฤติกรรมจากการเล่นเกม เนื่องจากเด็กไม่สามารถแยกระหว่างโลกจินตนาการกับความเป็นจริงได้ ทำให้เด็กรู้สึกว่าในชีวิตจริงตนเองไม่มีอะไรน่าภูมิใจ ไม่เหมือนในเกมที่สามารถตอบสนองอะไรก็ได้ตามที่ตนเองต้องการ จนทำให้เด็กรู้สึกเบื่อโลกความจริง และนำไปสู่การหันเหเข้าสู่การหลงไหลความบันเทิงในเกม ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ผลิตเกมนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการออกแบบเกมเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เล่น และดึงดูดความสนใจของผู้เล่นให้จดจออยู่กับเกมได้เป็นเวลานาน ๆ นอกจากนี้ ยังมีจัดการแข่งขันชิงรางวัลในระดับต่าง ๆ เพื่อสร้างคุณค่าให้การเล่นเกม มีภาพลักษณ์ที่ดีมากยิ่งขึ้นด้วย
ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรรู้เท่าทันผู้ผลิตเกม และกำหนดแนวทางในการป้องกันบุตรหลานให้ห่างจากภาวะติดเกม ด้วยการส่งเสริมสร้างวินัยและสภาพแวดล้อมที่บ้านที่เหมาะสมผ่านการเลี้ยงดู ด้วยการฝึกระเบียบวินัยตั้งแต่แต่เด็ก ไม่ควรให้เด็กใช้สื่อตามลำพัง โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี ในเด็กโตควรเลือกใช้สื่ออย่างเหมาะสมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง ควรหากิจกรรมทำร่วมกับเด็กเพื่อดึงความสนใจออกจากการเล่นเกม จัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม ไม่ควรมีมือถือหรือคอมพิวเตอร์ในห้องนอน ป้องกันเด็กเล่นเกมตามลำพัง ทั้งนี้ พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องการแบ่งเวลาให้กับเด็ก ๆ และที่สำคัญพ่อแม่ ต้องรู้เท่าทันสื่อต่าง ๆ เพื่อหาวิธีป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดตามมาได้