จิตแพทย์ชี้ 2 ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน "บูลลี่-ติดเกม" ย้ำบูลลี่สะท้อนเกิดปัญหาทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งคนถูกบูลลี่ คนบูลลี่คนอื่น และเพื่อนที่ยืนดู วิจัยชี้พอใจ-ยืนดู-ส่งต่อบูลลี่ เข้าข่ายมีปัญหาด้วย เน้นสอนเด็กไม่เอาการบูลลี่ หากเจอต้องแทรกแซง แจ้งครูที่ปรึกษา
เมื่อวันที่ 25 พ.ย. นพ.ยงยุทธ วงค์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงภาพรวมความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนของไทย ว่า ขณะนี้ปัญหาของเยาวชนมีใหญ่สุดอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.การบูลลี่ เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการทำร้ายด้านจิตใจ ล้อเลียน ด่า ว่า ดูถูกเหยียดหยาม ความเสียหายเกิดขึ้นมาก เพราะมีการเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดการรับรู้จำนวนมาก ทั้งนี้ คนมักจะคิดว่าการบูลลี่ ปัญหาหรือผลกระทบจะเกิดกับฝ่ายเดียวคือคนที่ถูกบูลลี่เท่านั้น แต่ที่จริงแล้วเป็นปัญหาของทั้ง 3 ฝ่าย คือ คนที่ถูกบูลลี่จะมีภาวะเครียด ซึมเศร้า , คนที่บูลลี่ ก็จัดว่าเป็นกลุ่มคนที่มีปัญหา ถึงได้แสดงออกถึงความก้าวร้าว รุนแรง และกลุ่มใหญ่ที่สุดคือ คนที่ยืนดูการบูลลี่โดยไม่ทำอะไร คือเพื่อนที่เหลือทั้งหมด
“จิตวิทยาการบูลลี่เป็นปัญหาของคน 3 ฝ่าย แต่เราจะมองเห็นปัญหาแค่ฝ่ายเดียว หรืออย่างมากก็ 2 ฝ่าย ทำให้การแต่การแก้ปัญหาต้องแก้ที่เด็กทุกคน โรงเรียนต้องสอนให้เด็กไม่เอา ไม่บูลลี่ใคร และไม่ยอมรับเรื่องการบูลลี่ด้วย หากเพื่อนถูกบูลลี่จะต้องเข้าไปแทรกแซงด้วยการแจ้งต่อครูที่ปรึกษา หรือครูฝ่ายปกครอง ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ยอมรับ ซึ่งตัวนี้คือตัวปัญหา ทั้งนี้ มีการศึกษาวิจัยพบว่า คนที่พอใจกับการบูลลี่ ยืนดูการบูลลี่ หรือส่งต่อการบูลลี่คนๆ นั้นก็ถือว่าเป็นคนที่มีปัญหาเช่นกัน” นพ.ยงยุทธ กล่าว
เมื่อถามว่าบางคนมีแนวคิดว่า “บูลลี่มา บูลลี่กลับ ไม่โกง” ถือว่าเป็นปัญหาหรือไม่ นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า การไม่ตอบโต้ถือเป็นภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่ง เพราะคนเราจะดีหรือไม่ดี ไม่ได้อยู่ที่น้ำลายของใคร อย่างไรก็ตาม เพื่อนทั้งหมดต้องช่วยกันส่งเสริมการต่อต้านการบูลลี่ ไม่ใช่สนุกสนานกับการส่งต่อ เราต้องการให้เด็กไทยโตมากับการเป็นคนที่สนุก พอใจกับการบูลลี่อย่างนั้นหรือไม่ ดังนั้นต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่ไม่ส่งเสริมการบูลลี่ ต้องทำให้เด็กรู้ว่าการบูลลี่ทำให้เด็กเจ็บปวด การที่ช่วยให้คนอื่นไม่เจ็บปวด ไม่ซ้ำเติม คือการเป็นพลเมืองที่ดี ขณะที่การซ้ำเติม ไม่ใช่พลเมืองที่ดี เด็กทุกคนต้องเข้าใจแบบนี้ แล้วถึงจะโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ
นพ.ยงยุทธกล่าวว่า 2.ปัญหาเด็กติดเกมและอินเทอร์เน็ต ซึ่งเดิมเล่นเกมจะมีการตื่นเต้น ทำให้เด็กชอบ ประกอบกับระยะหลังมีการเคลมว่าเกมคืออีสปอร์ต ทั้งๆ ที่องค์การโอลิมปิคสากลไม่ยอมรับว่าเป็นกีฬาไม่ได้ เพราะเกมมีความรุนแรง และไม่มีกติกาควบคุม เช่น การใช้ยาโด๊ป อีกทั้งการเล่นเกมเหล่านี้จะมีค่าใช้จ่าย ขณะที่กีฬาทุกอย่างบนโลกต้องไม่รุนแรง แม้กระทั่งกีฬาฟันดาบยังต้องมีการป้องกันความรุนแรง นอกจากนี้ต้องมีกติกากำกับ ต้องเป็นสาธารณะ ไม่มีการจ่ายเงิน ซึ่งทางโอลิมปิคสากลจึงบอกว่า หากอยากให้อีสปอร์ตเป็นกีฬา ก็ต้องทำตามหลักเกณฑ์เหล่านี้ โดยตอนนี้มีแนวโน้มยอมรับเกมประเภทคลีเอทีฟ และเกมเกี่ยวกับกีฬาออนไลน์
ทั้งนี้การติดเกม ติดอินเทอร์เน็ตในทางจิตวิทยา ถือว่าเป็นความผิดปกติทางจิตเวช ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศชัดเจนว่าอยู่ในกลุ่มสารเสพติดและพฤติกรรมเสพติด เพราะลักษณะสมองของการติดเกม ติดการพนันจะคล้ายกับการติดยาเสพติด วิธีการรักษาก็คล้ายกัน แต่ที่จริง ก่อนจะติดยา หรือเสพติดพฤติกรรมเราจะเริ่มเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ใช่เวลามากเกินไป ไม่รับผิดชอบต่อการเรียน หรือการทำงาน จากนั้นใช้เวลาสักระยะจะเข้าสู่ภาวะการติด