"ชลน่าน" สั่งสังคายนาระบบจัดซื้อจัดจ้าง-ตรวจสอบ ทุกกรมกองใน สธ. หลังหน่วยปราบทุจริตบุกรวบ 2 แม่ลูกข้าราชการซี 7 กรมวิทย์ ทำเอกสารทิพย์โกงเงินหลวงกว่า 10 ปี ลั่นนำเงินใช้ผิดประเภทต้องเรียกคืน เผยมีสั่งย้ายออกจากตำแหน่งก่อนแล้วหลังได้ข้อมูล เอาผิด 2 ทางทั้งอาญาตามกฎหมาย และวินัยข้าราชการ หนุนใช้เทคโนโลยีป้องกันทุจริต
จากกรณี ปปป. ร่วมกับ ป.ป.ท. ป.ป.ช. และ ปปง. เข้าจับกุมตัวข้าราชการซี 7 แม่ลูกสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ฐานทุจริตปลอมแปลงเอกสารเบิกจ่ายทิพย์ โดยมีลูกเขยร่วมกระทำผิดด้วย ตรวจสอบกระทำผิดตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน เสียหายรวมมากกว่า 51.3 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า ได้รับรายงานจาก นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ก็เป็นไปตามข่าวที่นำเสนอกัน ขั้นตอนก็จะเป็นไปตามกฎหมาย ทั้งนี้ ผอ.กองท่านเดิมได้รับแจ้งจาก ป.ป.ท.ว่า มีผู้ร้องเรียนเรื่องนี้ ก็ให้ความใส่ใจและทำงานเรื่องนี้ติดต่อเรื่อยมา จนส่งต่อให้อธิบดีคนใหม่ เริ่มทำงานร่วมกับ ป.ป.ท.ที่จะตรวจสอบว่า ข้อมูลข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร อธิบดีท่านใหม่ทราบเรื่องก็สั่งย้ายคนที่เกี่ยวข้องออกจากตำแหน่งนั้นไว้ก่อน และมีการไต่สวนสอบสวนจนกระทั่งได้ข้อมูลที่ชัด ก็ให้ ป.ป.ท.เข้ามาดำเนินการตามกฎหมายอาญาแล้วฟ้องไป
ถามว่าการทุจริตดังกล่าวที่ทำมานาน อาจไม่ได้ดำเนินการเพียง 2 คน ต้องมีการตรวจสอบขยายผลเพิ่มเติมหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่า แม้ระบบที่เราวางไว้ มีระบบตรวจสอบภายใน ตรวจเช็กทุกขั้นตอน ยังหลุดรอดได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำต่อไปคือการสังคายนาทั้งระบบ เรื่องจัดซื้อจัดจ้างแต่ละกรมกอง ว่ามีรูรั่วตรงไหนอย่างไร มีสัญญาณอะไร เพราะการทุจริตประเภทนี้ทำได้เนียนมาก
"สมมติจัดซื้อ 700 รายการ 10 รายการ แฝงอยู่ตรงนั้น 20 โครงการ แฝงอยู่ตรงนี้ เราก็ไม่รู้ อันนี้อาจจะต้องไปปรับวิธีการตรวจสอบ วิธีการเฝ้าระวังทุกระดับ ผมและปลัด สธ.คุยกันแล้วว่าเราคงต้องมาสังคายนามาปรับรื้อกันใหม่ วิธีที่จะควบคุมตรวจสอบภายใน หน่วยงานที่มีหน้าที่อำนาจในการจัดซื้อจัดจ้างจะเข้าไปตรวจสอบอย่างไร ตรวจสอบผลการจัดซื้อจัดจ้างเป็นอย่างไร โดยดำเนินการทุกกรมใน สธ." นพ.ชลน่านกล่าว
ถามถึงกรณีมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อการดำเนินงานหรือต้องมีการเรียกคืนเงินหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ก็ต้องตรวจสอบว่ามีการนำเงินของหลวงไปใช้ผิดประเภทหรือไม่ ถ้าพบผิดประเภทก็ต้องเรียกคืน ของหลวงนี่ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ถ้ามีหลักฐานชัดก็ต้องนำมาคืนหลวงให้ได้
ถามต่อจากนี้จะมีการลงโทษอย่างไร ถึงขั้นให้ออกเลยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย คือ ความผิดทางอาญาก็ว่าไปอยู่ศาลทุจริต ส่วนเราก็มาดูทางวินัย ซึ่งจะรีบเร่งรัดดำเนินการให้เร็วที่สุด ไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาได้ ก็สอดรับการร้องการฟ้องที่ ป.ป.ท.ด้วย อย่างวันนี้ก็เป็นต่อต้านทุจริตโลก นี่เป็นกรณีตัวอย่างที่เราเองมีวิกฤตเกิดขึ้นก็ต้องใช้โอกาสนี้ให้ดีที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การดำเนินการทางวินัยข้าราชการ ตามปกติจะมีการตั้งคณะกรรการสืบสวนข้อเท็จจริง หากพบว่ามีมูลตามข้อกล่าวหาก็จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย ซึ่งโทษทางวินัยราชการจะมี 2 ระดับ คือ โทษวินัยไม่ร้ายแรง ได้แก่ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือน และโทษวินัยร้ายแรง คือ มีการปลดออก และไล่ออก
วันเดียวกันที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.ชลน่านกล่าวระหว่างเปิดอาคารศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพแบบเบ็ดเสร็จ อย. ว่า ถือเป็นก้าวสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพของภาครัฐ เพราะมีการเอานวัตกรรม เทคโนโลยีและข้อมูลระบบการทำงานแบบดิจิทัลมาใช้พัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ถูกกับยุคสมัยนี้ โดยรัฐบาลนี้ประกาศจะเป็นรัฐบาลดิจิทัล (E Government) อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ ป.ป.ท.จับข้าราชการกรมวิทย์ฯ แน่นอนว่าหนึ่งเป็นภาพสะท้อนของการทำงานของระบบงานของพวกเรา ต้องยอมรับว่า ถ้ามีความผิดพลาด คลาดเคลื่อน มันมีการทุจริตเกิดขึ้น แสดงว่าระบบเรายังไม่ดีพอ ไม่ดีพร้อม แม้เราจะวางระบบไว้ แต่คนที่โกง เขาย่อมเก่งกว่าระบบแน่นอน โดยเฉพาะระบบที่เป็นระบบแบบดั้งเดิม
"ระบบการตรวจสอบที่ใช้คนเป็นตัวตั้ง มันค่อนข้างยาก คนตรวจรับก็ถูกปลอมลายเซ็นได้ สินค้าก็เป็นสินค้าทิพย์ได้ ผสมกลมกลืนกันไป ตรงนี้เป็นการบ่อนทำลายภาพลักษณ์ของกระทรวงอย่างยิ่ง พี่น้องกระทรวงเราอย่าพี่งขาดกำลังใจ เราใช้วิกฤตตรงนี้เป็นโอกาสให้ได้ ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น แม้เราจะทำหน้านี้ของเราให้ถึงพร้อม แต่ยังมีรอยรั่ว มีช่องโหว่ ช่องว่าง เราคงต้องมามองตัวเราเอง มองระบบภายใน มองจากบุคคลภายนอก มองจากปัจจัยแวดล้อม ถึงเวลาที่เราอาจจะต้องสังคายนาระบบใหม่ทั้งหมด" นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ตนมั่นใจ ถ้านำเอาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ลดการใช้ดุลยพินิจ ลดเรื่องคนลงไป ระบบจะช่วย เชื่อว่าด้วยกมลสันดาน ไม่มีใครอยากทุจริต แต่เหตุผลความจำเป็นส่วนตัว ครอบครัว จังหวะ โอกาสเอื้อ ย่อมโน้มน้าวชักจูงให้เขาเข้าสู่ตรงนั้นได้ แต่ถ้าระบบไม่เอื้อ มีระบบที่ชัดเจนโดยนำเอาระบบดิจิทัลมาใช้ มันสามารถที่จะป้องกันทุกขั้นตอน โดยเฉพาะเทคโนโลยีบล็อกเชนที่เราทำ สามารถวัดกิจกรรมที่ทำได้ทุกเวลา ทุกขั้นตอนสามารถตรวจสอบได้หมด เพราะฉะนั้น การที่จะใช้โอกาสจังหวะของความมีช่องว่างของระบบ ไปแสวงหาผลประโยชน์จะน้อยมากหรือเกิดขึ้นไม่ได้เลย