MGR Online - “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” เปิดงานสัปดาห์ต่อต้านทุจริตและส่งเสริมจริยธรรม “ยุติธรรมต้านโกง โปร่งใส ไม่คอร์รัปชัน” ยึดหลักนิติธรรมบริหารราชการ
วันนี้ (6 ธ.ค.) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 10-09 (Auditorium) อาคารกระทรวงยุติธรรม ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานมอบนโยบายเนื่องในสัปดาห์ต่อต้านทุจริตและส่งเสริมจริยธรรม “ยุติธรรมต้านโกง โปร่งใส ไม่คอร์รัปชัน” ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อม นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม , นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม , นายยู่สิน จินตภากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม เข้าร่วม
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติเรื่องหลักนิติธรรมกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ สถานะของ หลักนิติธรรม พบว่า ตัวชี้วัดดัชนีหลักนิติธรรมที่สำคัญของ The World Justice Project หรือ WJP ในปี พ.ศ. 2566 จำนวน 142 ประเทศ ประเทศไทยได้อันดับที่ 82 ได้คะแนน 0.49 จากคะแนนเต็ม 1 และ สถานะของการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน พบว่า การขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2565 จากจำนวนประเทศ 180 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยได้ 36 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ซึ่งจัดอยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ระบุว่า รัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ เพราะการมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคมที่สำคัญของประเทศ เป็นการลงทุนทำให้ประเทศไทยมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือที่ใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุด แต่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดในการพัฒนาประเทศ หากมองอนาคต 4 ปีข้างหน้าจะเป็น 4 ปีที่รัฐบาลจะวางรากฐานและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้กับประเทศโดยยึดหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งและน่าเชื่อถือ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จและเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้สอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในกรณีการดำเนินงานที่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งคุณภาพชีวิต รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า “ยุติธรรม ไม่โกง โปร่งใส ไม่คอรัปชัน” เป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรมกับการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งภารกิจหลักของกระทรวงยุติธรรม คือ ทำให้ความยุติธรรมเป็นไปตามหลักนิติธรรม กับการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมสำหรับทุกคน หรือความยุติธรรมนำประเทศอย่างแท้จริง เท่าเทียมเทียบเท่ากับประชาชนจากอารยประเทศที่เจริญแล้ว การขับเคลื่อนค่านิยมร่วมและวัฒนธรรมองค์กรกระทรวงยุติธรรม ที่กำหนดว่า สุจริต จิตบริการ ยึดมั่นความยุติธรรม เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมทุกคนมีจิตสำนึกในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างลึกซึ้ง มีความสัตย์ซื่อ มีจิตใจรักการบริการ ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม โดยปฏิเสธการทุจริตคอรัปชันทุกรูปแบบ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปด้วยความยุติธรรมอย่างแท้จริง
“ในโอกาสนี้ กระผมขอให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมประสานความร่วมมือในการพัฒนาและขับเคลื่อนงานยุติธรรมด้วยหลักการว่า “ยุติธรรมต้านโกง โปร่งใส ไม่คอร์รัปชัน” กระทรวงยุติธรรมพร้อมร่วมเป็นพลังสำคัญของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมาย คือ ฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งกับป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งภาครัฐและเอกชน ระดับคะแนนดัชนีหลักนิติธรรม The World Justice Project หรือ WJP กับการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index : CPI) อยู่ใน 20 อันดับแรกของโลกในปี พ.ศ. 2579” รมว.ยุติธรรม กล่าว
สำหรับโครงการสัปดาห์ต่อต้านทุจริตและส่งเสริมจริยธรรม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 ธันวาคม 2566 เพื่อเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้กับส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม หน่วยงานภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วม การรวมพลังแสดงเจตนารมณ์ในการต่อต้านการทุจริตของกระทรวงยุติธรรม และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การทุจริต ตลอดจนแนวทางแก้ไขปัญหา โดยภายในงานจัดให้มีการอภิปราย หัวข้อ “ปัญหาการทุจริตและแนวทางป้องกันการทุจริตในระบบราชการไทย”
โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งเป็นตัวแทนภาครัฐ และ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอรัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นตัวแทนภาคเอกชนและภาคประชาชน