"ชลน่าน" สั่งทีมควบคุมเหล้า หามาตรการรองรับขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 และช่วงคืนเคาต์ดาวน์ปีใหม่ได้ถึง 6 โมงเช้า ด้านเครือข่ายป้องกันภัยแอลฯ ซัดนโยบายสาธารณะที่การมีส่วนร่วมแย่และน้อยมาก ไม่ฟังความเห็นรอบด้าน ทั้งที่เกี่ยวกันชีวิตความเป็นตาย จ่อเปิดผลสำรวจความเห็นกว่า 3 พันคนสัปดาห์หน้า ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมติ ครม.อนุมัติให้มีการเปิดสถานบริการถึงตี 4 ในสถานบริการที่ตั้งที่อยู่ในสถานที่ตั้งโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และสถานบริการพื้นที่นำร่อง คือ กทม. ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ และ เฉพาะเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี รวมถึงกรณีเปิดได้ถึง 6 โมงในช่วงคืนเคาต์ดาวน์ปีใหม่ ว่า การขยายเวลาเปิดนั้นจะต้องถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีอำนาจในเรื่องดังกล่าว แต่ สธ.จะทำหน้าที่ในมิติด้านสุขภาพ เช่น มาตรการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายของนักท่องเที่ยว มาตรการควบคุมอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ตนได้ให้คณะทำงานที่มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 พิจารณามาตรการ เพื่อดูแลประชาชนในมิติสุขภาพรองรับการขยายเวลาเปิดสถานบริการดังกล่าวอยู่
เมื่อถามว่า จำเป็นจะต้องหารือมาตรการร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) หรือ 1669 เพื่อรองรับเหตุฉุกเฉินหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ก็จะต้องให้คณะทำงานเสนอมาตรการออกมาก่อน และดูว่ามาตรการเป็นอย่างไรแล้วค่อยไปว่ากันทีหลังว่าเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดบ้าง, สถานบริการที่ตั้งอยู่ในท้องที่กรุงเทพมหานคร, จังหวัดภูเก็ต, จังหวัดชลบุรี, จังหวัดเชียงใหม่ และท้องที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำหรับท้องที่อื่นที่ประสงค์จะให้สถานบริการเปิดทำการได้ถึง 4.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ให้เป็นไปตามประกาศจังหวัดภายใต้หลักเกณฑ์ที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยกำหนดต่อไป
ด้าน นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าไม่ใช่แค่ 5 พื้นที่โซนนิ่ง แต่ท้องที่อื่นที่ประสงค์เปิด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทย ชัดเจนว่า จะครอบคลุมทั้งหมดในอนาคต สิ่งที่ผิดหวังมากๆ คือ ขยายเวลาเปิดผับบาร์ถึงตี 4 ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นอย่างเข้มข้นมากพอ มีเพียงในเว็บไซต์ ซึ่งประกาศขึ้นไม่กี่วัน หลายคนแทบไม่รู้ด้วยซ้ำ อยู่ๆ ก็นำเข้า ครม.และพิจารณาออกมา เรียกว่า "นโยบายสาธารณะ" แต่การมีส่วนร่วมถือว่าแย่มาก
“อย่าลืมว่านโยบายพวกนี้ คือ ความเป็นความตายของคน และความเจ็บป่วยอยู่ในนั้น จะไปคิดเหมือนนโยบายเงินดิจิทัล ไม่มีคนเจ็บคนตายให้เห็นชัดขนาดนี้ ย่อมแตกต่างกัน แต่นี่กลับทำออกมาโดยไม่สนใจข้อมูลวิชาการ ข้อท้วงติงใดๆ ดังนั้น เมื่อความเสียหายเกิดขึ้น รัฐต้องแบกรับ เพราะหากประเมินด้วยข้อเท็จจริงแล้ว ว่า ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้ดึงนักท่องเที่ยวจริงๆ แต่กลับต้องแลกด้วยความสูญเสีย จะทำอย่างไร รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองด้วย ไม่ใช่คิดออกมาง่ายๆ พอประเมินไม่ได้ก็หยุดแบบนี้หรือ” นายชูวิทย์ กล่าว
นายชูวิทย์ กล่าวว่า การจะออกกฎกระทรวงฯ ต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็น ต้องทำเข้มข้นกว่านี้ ต้องถึงขั้นประชาพิจารณ์ทุกภาค ยิ่งประเด็นวงกว้างขนาดนี้ กลับออกมาง่ายๆ แสดงว่า รัฐบาลแสดงจุดยืนแล้วว่า จะเลือกอุ้มคนกลุ่มหนึ่งหรือไม่ แต่กลับไม่สนใจประชาชน แม้เบื้องต้นจะบอกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ เริ่มจากพื้นที่โซนนิ่ง แต่ถามว่า อนุญาตจังหวัดนี้ คนที่อยากมากินมาดื่มจังหวัดข้างๆ มาไม่ได้หรืออย่างไร จะมีมาตรการอะไรควบคุม ดังนั้น เมื่อรัฐบาลตัดสินใจแล้วก็ต้องประเมินผลอย่างเป็นธรรม ด้วยหน่วยงานวิชาการที่เป็นอิสระ หากประเมินแล้วไม่เป็นไปตามคาด จะชดเชยความเสียหายอย่างไรบ้าง เรื่องนี้มีข้อมูลจากต่างประเทศที่ทำลักษณะนี้ อย่างออสเตรเลียขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง ผับบาร์ขยายเวลามากขึ้นเพียง 1 ชั่วโมง ปรากฎว่า พบความสูญเสีย มาที่ห้องฉุกเฉินเพิ่มขึ้น 16%
“น่าเสียดายมากที่ฝั่ง สธ. ผู้บริหารต่างๆ ไม่ได้ออกมาแสดงจุดยืนเรื่องนี้อย่างดีพอ แม้แต่ นพ.ชลน่าน ถึงจะเคยให้สัมภาษณ์ว่า ต้องเน้นเรื่องมิติสุขภาพ แต่น่าจะมีจุดยืนเรื่องความเป็นห่วงเรื่องสุขภาพชัดกว่านี้ คล้ายๆ ตั้งรับมากไป แม้แต่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย สมัยเป็น รมว.สธ.ก็เปลี่ยนจุดยืนแล้ว ตรงนี้ทางเครือข่ายฯเตรียมประสานขอเข้าพบ รมว.มหาดไทยเช่นกัน” นายชูวิทย์ กล่าวและว่า สัปดาห์หน้า เครือข่ายจะเปิดผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการขยายเวลาเปิดผับบาร์ ประมาณ 3,000 กว่าตัวอย่าง ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และจะมีรายละเอียด ซึ่งจะแจ้งให้ทราบต่อไป