MGR Online - เลขา ป.ป.ส. นั่งหัวโต๊ะประชุมหน่วยงานพื้นที่ กทม. รับมือปิดผับตี 4 เพื่อร่วมกันหาแนวทางปฏิบัติสำหรับสถานบันเทิงปลอดยาเสพติดในกลุ่มนักเที่ยว
วันนี้ (29 พ.ย.) ณ ห้องประชุม Command Centre อาคาร 2 ชั้น 4 สำนักงาน ป.ป.ส. ดินแดง กรุงเทพฯ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานในการประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายขยายเวลาเปิดสถานบริการพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง , พ.ต.อ.อุรัมพร ขุนเดชสัมฤทธิ์ ผกก.ฝอ.5 บก.อก. ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจนครบาล , นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และ นายนิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 36 ราย ร่วมการประชุม
โดยการประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางการปฏิบัติงานสำหรับหน่วยงานภาคีภายใต้กลไก ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กรุงเทพมหานคร หรือ ศอ.ปส.กทม. เพื่อเตรียมแนวทางและมาตรการในการควบคุมเพื่อความปลอดภัยของสังคม และปัญหายาเสพติด ตามนโยบายการขยายเวลาเปิดสถานบริการถึง 04.00 น. ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี
ซึ่งจากข้อมูลพบว่ายาเสพติดที่มักจะตรวจพบในสถานบันเทิงต่างๆ และเป็นที่นิยมในหมู่นักเที่ยวราตรี คือ ยาอี คีตามีน Happy water จากสถิติปี 2566 ได้มีการตรวจพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานบันเทิง ในพื้นที่ กทม. ถึง 8 ร้าน และพบเรื่องร้องเรียนยาเสพติดในสถานบันเทิงกว่า 27 เรื่อง ในพื้นที่ 16 เขต
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลได้มีมาตรการขยายเวลาปิดสถานบันเทิง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามเป็นหน้าที่ของ ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กรุงเทพมหานคร หรือ ศอ.ปส.กทม. และ สำนักงาน ป.ป.ส. ในการควบคุมให้สถานประกอบการที่ได้รับการอนุญาตดังกล่าวดำเนินการอย่างถูกต้อง ไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของสังคม
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวอีกว่า มาตรการควบคุมต้องทำอย่างเคร่งครัด หากพบสถานบริการใดมีการปล่อยปะละเลย ฝ่าฝืนกฎข้อบังคับ ให้มีการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานที่ของตนเอง เช่นปล่อยให้มีการมั่วสุม ครอบครอง ซื้อขายยาเสพติด ตนในฐานะเลขาธิการ ป.ป.ส. สามารถใช้อำนาจในกรณีเร่งด่วน พิจารณาสั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือสั่งปิดสถานบริการชั่วคราว ครั้งละไม่เกิน 30 วัน ตามมาตรา 57 ของประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยหากพบเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องก็จะถูกลงโทษเช่นกันไม่มีการละเว้น
หลังจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ กทม. ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย บช.น. ป.ป.ส. กรมควบคุมโรค และ กทม. รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการใน 3 มาตรการ คือ 1. มาตรการบุคคล ควบคุมดูแล สอดส่อง พนักงานสถานประกอบการไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดพร้อมจัดทำข้อมูลประวัติ 2. มาตรการสถานที่ ให้มีการจัดทำป้ายรณรงค์ประชาสัมพันธ์พิษภัยของยาเสพติด และ 3. มาตรการเฉพาะ คือเมื่อการพบการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ทำบันทึกรายงานแจ้งต่อเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.
และจะมีการร่วมมือกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดประชุมชี้แจงผู้ประกอบการ เรื่อง มาตรการควบคุมการขยายเวลาเปิดสถานบริการเพื่อป้องกันผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนและปัญหายาเสพติด ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2566