ผบ.ตร. ร่วมกับ รรท. เลขาฯ ป.ป.ส. เปิดโครงการอบรมชุดปฏิบัติการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนในตำบลแพร่ระบาดยาเสพติดสูงสุด 100 ตำบล (Quick Win) รุ่นแรก เสริมสร้างทักษะศักยภาพเครือข่ายต้นแบบชุมชนยั่งยืนต้านยาเสพติด ทั่วประเทศ
วันนี้ (27 พ.ย.) พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธานเปิดโครงการอบรมชุดปฏิบัติการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนในตำบลแพร่ระบาดยาเสพติดสูงสุด 100 ตำบล ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อเป็นการ kickoff ตาม Quick win ของรัฐบาล “เพื่อลดผู้เสพ กำจัดผู้ค้าให้หมดไป” ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมบางกอก พาเลซ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ โดยมี พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย ผบช.ปส. พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมอบรม
ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน โดยกำชับไปยังทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา และปกป้องการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็ก และเยาวชน ซึ่งถือเป็นกำลังหลักในอนาคต ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การกำกับดูของพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งขาติ และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด จัดโครงการอบรมชุดปฏิบัติการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนในตำบลแพร่ระบาดยาเสพติดสูงสุด 100 ตำบล (Quick Win) เพื่อเป็นการสนองตอบตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ในการฝึกอบรมเสริมสร้างทักษะ และความชำนาญให้แก่บุคลากร อาทิ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการ ผู้แทนฝ่ายปกครอง, ผู้แทนฝ่ายสาธารณสุข และผู้นำชุมชนในตำบลเป้าหมาย เพื่อเป็นการบูรณาการความร่วมมือในการเสริมสร้างเครือข่ายให้คนในชุมชน/หมู่บ้าน เกิดความเข้มแข็ง และเข้าใจ รับรู้ถึงปัญหา รวมถึงพิษภัยของยาเสพติด ซึ่งส่งผลกระทบต่อตนเอง และสังคมโดยรวม
จากปัญหาดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกัน แก้ไข บำบัดรักษา และช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่กระบวนการค้นหา คัดกรอง ฟื้นฟู และลดอันตรายจากยาเสพติด อีกทั้งสร้างภูมิคุ้มกัน ติดตาม ดูแล และช่วยเหลือทางสังคม โดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการดูแลผู้ผ่านการบำบัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดำเนินชีวิต และอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างสงบสุข ภายใต้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงในระดับสากล เป็นไปตามหลักการสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชน
สำหรับโครงการอบรมชุดปฏิบัติการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดสู่ชุดปฏิบัติการในสถานีตำรวจและหน่วยงานที่ตนเองสังกัด ในการสร้างตำบลเข้มแข็งและปลอดยาเสพติด โดยการป้องกัน แก้ไข และเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดร่วมกับเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ ให้เกิดการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เป้าหมาย โดยเน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพื่อสร้างรูปแบบการดำเนินงานชุมชนเข้มแข็ง และแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน ให้ชุมชน/หมู่บ้าน โดยนำรูปแบบไปเป็นแนวทางปฏิบัติในการดูแลผู้ใช้ยาเสพติดในชุมชนของตนเองอย่างเป็นระบบต่อไป
การอบรมแบ่งออกเป็น 2 รุ่น ซึ่งรายละเอียด ดังนี้ รุ่นที่ 1 อบรมให้แก่ชุดปฏิบัติการ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในสังกัด บช.น. และ ภ.1-4 จำนวน 348 คน ระหว่างวันที่ 27-29 พ.ย. 66 รุ่นที่ 2 อบรมให้แก่ชุดปฏิบัติการ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในสังกัด ภ.5-9 จำนวน 276 คน ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.- 2 ธ.ค. 66
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า การทำงานในโครงการชุมชนเข้มแข็งต้านภัยยาเสพติดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำกันมานานหลายปีแล้ว และทางนายกรัฐมนตรีเห็นความสำคัญจึงลงไปดูที่จ.ร้อยเอ็ดจึงมีแนวความคิดให้บูรณาการกำลังประสานการทำงานร่วมกันกับหลายหน่วยงาน ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาเรื่องการคุ้มคลั่งที่เกิดเหตุทางด้านจิตเวชซึ่งมีปัญหาพื้นฐานมาจากยาเสพติด ฉะนั้น การที่ตำรวจจะไปตามจับกุมหรือนำมาบำบัดเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ แต่ถ้าเราสร้างชุมชนเข้มแข็งให้เกิดขึ้นจะช่วยให้ลูกหลานไม่ติดยาเสพติดหากครอบครัวเข้มแข็งแล้วการติดยาเสพติดก็จะลดน้อยลง ชุดปฏิบัติการที่ผ่านการอบรมในวันนี้จะต้องเข้าไปอยู่ในชุมชนและสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ส่วนคนที่มีปัญหาเรื่องยาเสพติดผู้เสพก็ต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัด ทั้งนี้ได้นำร่องโครงการใน 100 ตำบล และนำต้นแบบการบูรณาการกำลังในพื้นที่จ.ร้อยเอ็ด เป็นกรอบให้ดำเนินการ ซึ่งมีการดำเนินการที่ครบทุกองค์ประกอบทั้งฝ่ายปกครอง กระทรวงสาธารณสุข ผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจ อบจ. ฯลฯ