xs
xsm
sm
md
lg

“ยธ.-ป.ป.ส.” ติวเข้มนโยบาย 100 วันแรก คุมเข้มโซนสีแดงขนยาเสพติด-นำผู้เสพเข้ารับบำบัดฟื้นฟู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” ประชุมร่วม ป.ป.ส. กำหนดมาตรการ 100 วันแรก แก้ไขปัญหายาเสพติด นำผู้เสพ 3 หมื่นคนเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู จ่อรื้อ พ.ร.บ.กัญชา พิจารณาใหม่

วันนี้ (10 พ.ย.) ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พร้อมทั้งมอบนโยบายโดยมี พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และรักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ส. ผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ส. และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมจำนวน 250 คน ระหว่างวันที่ 9-10 พ.ย.66

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ส. เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหายาเสพติดตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มีนโยบายเร่งด่วนให้เห็นผลภายใน 1 ปี แก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังและประชาชนมีความเชื่อมั่น โดยตามหลักเกณฑ์ขบวนการค้ายาเสพติดและกลุ่มผู้รับผลประโยชน์จะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด จึงต้องร่วมประชุมหารือสร้างความเข้าใจในการทำงานร่วมกัน

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า สำหรับนโยบาย 100 วันแรก จะเริ่มวันที่ 1 ธ.ค.นี้ แผนการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม คือ 1.การสกัดกั้นยาเสพติดเข้าประเทศไทย โดยจะมีการตั้งศูนย์บัญชาการสกัดกั้นปราบปรามยาเสพติด กำหนดพื้นที่เร่งด่วนตาม ม.5 (10) ลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน กำหนด 3 จังหวัด 15 อำเภอ ร่วมสนับสนุนจากทั้งตำรวจ ทหาร ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ร่วมสอดส่องดูแล รวมถึงขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านในการดูแลยาเสพติดในพื้นที่ชายแดน และต้องดำเนินการให้มีความเข้มข้น มีความเป็นเอกภาพมากยิ่งขึ้น

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า 2.นำกลุ่ม “ผู้เสพ” หรือ “ผู้ป่วย” ที่มีอาการทางจิต รุนแรงและอาจเป็นอันตรายต่อชุมชน ที่มีอยู่ประมาณ 30,000 คนเข้าบำบัดรักษา ซึ่งต้องสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุขและประชาชนในชุมชนช่วยเฝ้าระวัง และ 3.ด้านการบริหารจัดการ คือ ใช้ข้อมูลของ ป.ป.ส.เพื่อตรวจสอบ เพราะการลำเลียงจากภาคเหนือลงภาคใต้ หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องต้องดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด รวมถึงบังคับใช้มาตรการยึดทรัพย์สิน ของผู้กระทำความผิดทั้งในและต่างประเทศ

“นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีแนวทางในการนำพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ที่ถูกตีตกไปเมื่อปี 2565 ขึ้นมาพิจารณาใหม่ เนื่องจากต่างประเทศยังคงมองว่ากัญชาเป็นยาเสพติด ซึ่งต้องนำร่างกฎหมายมาทำความเข้าใจใหม่เพื่อป้องกันสังคม ไม่ใช่ให้ยาเสพติดทำลายเยาวชน อย่างไรก็ตามการพิจารณาแก้ไขกฎหมายต้องหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขด้วย ซึ่งนโยบายต่างๆเหล่านี้ ล้วนเป็นแนวทางที่ดี เป็นแสงสว่างในการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เห็นผล”
กำลังโหลดความคิดเห็น