สช. จับมือเขตสุขภาพที่ 1 สานพลังภาคีเครือข่าย ‘บุคลากรสาธารณสุข-อสม.-ภาคประชาชน’ จัดเวทีสร้างสุขที่ปลายทาง เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนสร้างความเข้าใจสิทธิด้านสุขภาพ เดินหน้าสู่ ‘การตายดี’ ไม่ยื้อชีวิต-ไม่สร้างความทรมานในวาระสุดท้ายของชีวิต ด้วยการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ - วางแผนการดูแลแบบประคับประคอง
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับสำนักงานเขตสุขภาพที่ 1 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดงาน สร้างสุขที่ปลายทาง “พลังองค์กรภาคีเครือข่ายร่วมสร้างสุขที่ปลายทาง” ขึ้น ณ โรงแรมภูคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อเปิดพื้นที่ทางสังคมให้บุคลากรด้านสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม รับรู้เรื่องสิทธิด้านสุขภาพในการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตฯ ตามมาตรา 12 พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ตลอดจนทราบแนวการปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพในการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิต และการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือแบบประคับประคอง (Palliative Care) โดยมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมกว่า 300 คน
นพ.สุธิต คุณประดิษฐ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลลำพูน กล่าวเปิดงานและบรรยายพิเศษหัวข้อ ‘วางแผนและเตรียมความพร้อมของชีวิตเพื่อสุขที่ปลายทาง’ ตอนหนึ่งว่า สิทธิด้านสุขภาพในระยะสุดท้ายของชีวิต และส่งเสริมการจัดทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน (Living Will) หรือหนังสือพินัยกรรมชีวิต ถือเป็นสิทธิทางสุขภาพของประชาชนทุกคนตามกฎหมาย พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะเปิดเวทีสาธารณะในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจและร่วมขับเคลื่อนประเด็นนี้ไปพร้อมกัน
นพ.สุธิต กล่าวว่า หากประชาชนมีการเตรียมความพร้อมผ่านการแสดงเจตนาในหนังสือ Living will ไว้ก่อนที่จะถึงวาระสุดท้ายของชีวิตจะมาถึง จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงครอบครัวสามารถดำเนินการตามเจตนาได้ โดยเฉพาะในช่วงสุดท้ายของชีวิตที่การสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์หรือครอบครัวทำได้ยาก หนังสือแสดงเจตนาฯ จะเป็นสิ่งที่ช่วยบ่งบอกความต้องการเดิมของผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรแพทย์วางแผนการรักษาตามที่ต้องการจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตได้ ขณะที่ญาติ ครอบครัว ก็จะได้เข้าใจกับเจตนาเดิมของผู้ป่วยที่ทำเอาไว้ล่วงหน้าด้วย
นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สังคมไทยในปัจจุบันเป็นสังคมที่มีจำนวนผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่อาจรักษาให้หายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าสภาพของสังคมเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) นั้น ส่งผลให้ความต้องการการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีมากขึ้น พบว่าภายในปี พ.ศ. 2580 จำนวนผู้สูงอายุและค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกันภาระค่ารักษาพยาบาลก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ "ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น" ในการดูแลระยะสุดท้าย อันเนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ทำให้เกิดการยื้อความตายทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ (Medical Futility) ผลให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายทุกข์ทรมาน และยังเป็นการสร้างผลกระทบเชิงลบต่อครอบครัว และระบบบริการสาธารณสุขโดยรวม
“ประเทศไทยต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือการมีระบบ Palliative Care เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิต แต่เนื่องจากการพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่อง Palliative Care และสิทธิการตายตามธรรมชาติสำหรับประเทศไทยเพิ่งเริ่มไม่นาน ทำให้การรับรู้ของประชาชนและบุคลากรด้านสาธารณสุขยังมีน้อย สช. เห็นว่าการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายทั้งฝ่ายบุคลากรด้านสุขภาพ นักกฎหมาย ภาคประชาสังคม มีความสำคัญมาก ไม่ใช่เป็นเพียงหน้าที่ของบุคลากรด้านสุขภาพเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังต้องการบุคลากรในสาขาวิชาชีพต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล เพื่อให้ผู้ป่วยมีสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิตและการตายดี” นพ.สุเทพ กล่าว
นอกจากนี้ ภายในงานเดียวกันนี้ ยังมีการจัดเวทีเสวนาหัวข้อ ‘เตรียมความพร้อมรับมือกับการตายดีในระยะสุดท้ายของชีวิต’ โดยวิทยากรได้บอกเล่าถึงมุมมองทางกฎหมาย สิทธิสุขภาพบุคคลในวาระสุดท้าย การดูแลแบบประคับประคอง รวมถึงการเตรียมตัวตายดีตามแนวพุทธศาสนา
พญ.ช่อทิพย์ พรหมมารัตน์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลลำพูน กล่าวว่า การรักษาให้ผู้ป่วยหายจากโรคและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือหากจะจากไปก็ให้จากไปในภาวะที่สงบที่สุด คือวัตถุประสงค์หลักทางการแพทย์ แต่สำหรับผู้ป่วยระยะท้ายที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้นั้น หากจะต้องยื้อชีวิตของผู้ป่วยเอาไว้ก็อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เพราะแทนที่ผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะท้าย กลับต้องมาถูกเจาะหรือมีสายระโยงระยางเพื่อรักษาตัว ซึ่งเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน
นอกจากนี้ ญาติ รวมถึงสมาชิกในครอบครัวก็อาจจะมีความทุกข์และรู้สึกผิดไปด้วยที่ตัดสินใจยื้อชีวิตผู้ป่วยเอาไว้อย่างทรมานก่อนจากไป ขณะที่โรงพยาบาลก็ต้องเสียทรัพยากรที่ควรไว้ดูแลผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา จะเห็นได้ว่าการวางแผนการดูแลรักษาล่วงหน้า (Advance Care Planning) หรือไม่ได้เขียนหนังสือแสดงเจตนาฯ เอาไว้เป็นสิ่งที่จำเป็น
“ผู้ป่วยสามารถวางแผนการดูแลล่วงหน้า และทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ในระยะท้ายของตัวเอง และเข้ารับการดูแลแบบประคับประคองในช่วงท้าย ซึ่งการดูแลแบบ Palliative Care นั้น จะเป็นการดูแลสุขภาพจากบุคลากรทางการแพทย์และภาคีเครือข่ายเพื่อลดความทรมานจากโรค และช่วยลดความทุกข์ทางใจไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต” พญ.ช่อทิพย์ กล่าว
น.ส.พรทิพย์ เรืองฤทธิ์ จิตอาสา โครงการเพื่อนบ้านประคับประคอง ชุมชนกรุณา จ.เชียงราย กล่าวถึงประสบการณ์การเตรียมตัวตายดี ตอนหนึ่งว่า มีประสบการณ์ที่ต้องเสียบิดา-มารดาไปโดยที่ไม่ได้ร่ำลา แต่ต่อมาได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมโครงการเผชิญความตายอย่างสงบ จากพระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ก็ทำให้รู้ว่าเราสามารถออกแบบ หรือกำหนดการดูแลรักษาตัวเองเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายของตัวเองได้ และตัดสินใจเป็นจิตอาสา สื่อสารและช่วยทำความเข้าใจกับผู้ป่วยสูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพื่อให้เข้าใจและรับทราบถึงแนวทางการดูแลรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งสามารถแสดงความต้องการได้ผ่านการเขียนหนังสือแสดงเจตนาฯ หรือหนังสือพินัยกรรมชีวิต
นอกจากนี้ ที่ จ.เชียงราย ยังมีเครือข่ายจิตอาสาที่เข้าไปร่วมขับเคลื่อนเรื่องการดูแลระยะท้ายในชุมชน โดยประสานกับทีมบุคลากรทางการแพทย์ จากทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ อสม. ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการให้มาดูแลระยะท้ายที่บ้าน และต้องการเสียชีวิตที่บ้าน เพื่อให้เข้ามาร่วมดูแลผู้ป่วยและช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีที่สุดในช่วงสุดท้ายของชีวิตก่อนจะจากไปอย่างสงบ
พระมหาอนุวัต ฐิตเมโธ เจ้าอาวาสวัดหนองปลาขอ จ.ลำพูน และประธานพระคิลานุปัฎฐาก กล่าวถึงแนวทางการเตรียมตัวเพื่อการตายดีในระยะสุดท้ายของชีวิตตามแนวพระพุทธศาสนา ตอนหนึ่งว่า พระสงฆ์จะมีบทบาทต่อช่วงชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นผู้นำทางจิตใจสุดท้ายไปสู่สุคติ และยังเป็นผู้เชื่อมโยงศาสนาไปสู่การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ซึ่งศาสนาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาจิตสำหรับผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากต่อผู้ป่วยที่กำลังจะจากไป
“ความนึกคิดของผู้ป่วยระยะสุดท้ายก่อนที่จะเสียชีวิต จะทบทวนบาปกรรมที่เคยทำมาเมื่อครั้งยังมีชีวิต หากจิตสุดท้ายเศร้าหมอง ก็จะทำให้การจากไปอย่างเป็นทุคติ แต่หากจิตสุดท้ายมีความสุข ปล่อยวางและจากไปอย่างสงบอย่างที่ต้องการ จิตสุดท้ายก็จะนึกถึงสิ่งดีงาม และทำให้การจากไปไปสู่สุคติอย่างแท้จริงตามหลักพระพุทธศาสนา” พระมหาอนุวัต กล่าว
พระมหาอนุวัต กล่าวอีกว่า การวางแผนดูแลตัวเองระยะสุดท้ายมีความสำคัญ โดยเฉพาะการเขียนหนังสือแสดงเจตนาฯ ที่จะเป็นสิ่งที่บ่งบอกความต้องการสุดท้ายของตัวเองได้ ซึ่งขณะนี้ในหมู่พระสงฆ์ ก็ได้ทำความเข้าใจ และเขียนหนังสือแสดงเจตนาฯ เอาไว้แล้วเหมือนกัน รวมถึงยังได้บอกต่อกับญาติโยมในชุมชนในเรื่องการเตรียมพร้อมสำหรับการตายดี ที่เป็นระเบียบแบบแผนอย่างถูกต้อง และมีส่วนสำคัญต่อจิตสุดท้ายด้วย