xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มคนตัวD ร่วมกับ สสส. สร้างภูมิคุ้มกันผู้สูงวัยให้ห่างไกลมิจฉาชีพออนไลน์ จัดเสวนา “สูงวัยเฝ้าระวังสื่อ ปิดสวิตช์มิจฉาชีพด้วย 3 ป.”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มคนตัวD จัดเวทีสื่อสาธารณะ หัวข้อ “สูงวัยเฝ้าระวังสื่อ ปิดสวิตช์มิจฉาชีพด้วย 3 ป.” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. งานนี้มีหน่วยงานจากภาครัฐ และเครือข่ายภาคประชาชนเข้าร่วมเสวนา ได้แก่ กรมกิจการผู้สูงอายุ และ โครงการพัฒนาศักยภาพนักกระบวนกรสื่อสารสุขภาวะ และขับเคลื่อนกลไกสูงวัยรู้ทันสื่อระดับจังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์การหลอกลวงผู้สูงวัยของมิจฉาชีพในปัจจุบัน และเพื่อร่วมสานพลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหาแนวทางการป้องกันและส่งเสริมการสร้างอาสาสูงวัยเฝ้าระวังสื่อ เพื่อให้เกิดกลไกในการเฝ้าระวังสื่อ โดย 3 ป. นั้น แบ่งเป็น 1.ปันประสบการณ์ แบ่งปันเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงกับการเจอมิจฉาชีพรูปแบบต่างๆ ของผู้สูงอายุ2.ป้องกัน บอกแนวทางการป้องกันมิจฉาชีพของกลุ่มและหน่วยงานต่างๆ 3.เปิดโปง คือรู้ช่องทางการเปิดโปงเพื่อปิดสวิตช์มิจฉาชีพ

โดยครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก “พ.ต.อ.พิบูลสุขญ์ รติเวโรจน์กุล” ผู้กำกับการ ฝ่ายอำนวยการกองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี/เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยี ระบบศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร./PCT) มาให้ข้อมูลความรู้ ซึ่งได้กล่าวเปิดประเด็นว่า “คนร้ายมาจ่ออยู่หน้าประตูบ้านท่านในทุกครั้งที่ท่านยกสมาร์ทโฟนขึ้นมา จึงมีคาถาป้องกันมิจฉาชีพมาฝากไว้ 3 ข้อ คือ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน ท่องไว้ 3 ข้อนี้ ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อ และอยากจะให้ข้อมูลว่าจากการเก็บข้อมูลนับจากเดือน มีนาคม 2565 มีผู้เสียหายที่มาแจ้งความ 300,000 กว่าราย เฉลี่ยเป็น 600 เรื่องต่อวัน โดยจัดลำดับคือ 1.การหลอกลวงให้ซื้อสินค้าและบริการ 2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน 3.หลอกให้กู้เงิน แต่ข่าวดีสำหรับพี่น้องประชาชนคือตอนนี้เราได้จัดตั้งศูนย์การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีขึ้นมาโดยเฉพาะ ต่อไปนี้การจัดการกับคนร้ายจะง่ายขึ้น ท่านที่ต้องการแจ้งความหรือร้องเรียนสามารถโทรได้ที่เบอร์ 1441 ซึ่งเป็นเบอร์ที่เราร่วมมือกับ กระทรวงดิจิทัลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการรับแจ้งความแจ้งปัญหาต่างๆ”

ส่วนทางด้าน “นางพรนิภา มาสิลีรังสี” รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เล่าถึงการทำงานของกรมว่า “จากการรวบรวมข้อมูลของเรา พบว่าผู้สูงอายุมักจะถูกมิจฉาชีพหลอก ตามลำดับดังนี้ 1.หลอกให้ซื้อของที่ไม่มีคุณภาพ 2.หลอกให้ทำบุญช่วยเหลือสัตว์ 3.หลอกให้ซื้อยาหรือผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ ซึ่งทางกรมเราเองได้ตระหนักและให้ความสนใจในการที่จะป้องกัน และแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยเราได้กำหนดทิศทางการทำงานให้เริ่มตั้งแต่ก่อนจะเป็นผู้สูงอายุ โดยมีหลักสูตรการเตรียมความพร้อมสู่สูงวัยที่มีคุณภาพ ให้รู้เท่าทันสื่อเท่าทันเทคโนโลยีนวัตกรรม ให้ผู้สูงวัยมีความรู้ เหมือนเป็นการฉีดวัคซีนให้ก่อน และยังมีหลักสูตรการพัฒนาคุณภาพผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นหลักสูตรกลาง โดยจะถูกนำไปใช้ผ่านหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดในทุกจังหวัด ศูนย์จัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ 12 แห่งทั่วประเทศ และ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สุงอายุ (ศพส) 2,000 แห่งทั่วประเทศ ที่เอาหลักสูตรพวกนี้เข้าไปยังท้องถิ่น รวมถึงโรงเรียนผู้สูงอายุใน กทม. และ ในต่างจังหวัดด้วย ซึ่งเราทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนทั้งในเชิงนโยบายและทั้งภาคปฏิบัติค่ะ”

ทั้งนี้ในส่วนของ สสส. ที่ขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะในทุกมิติ ได้ส่งตัวแทน “ยุวดี งามวิทย์โรจน์” นักบริหารแผนงานชำนาญการ กล่าวว่า “บทบาทของ สสส. คือทำยังไงให้อยู่ในโลกดิจิทัลอย่างปลอดภัย เราจึงเน้นทำงานด้านพัฒนาพลเมืองให้รู้เท่าทันสื่อ สร้างตัวระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ ปลูกฝังคนทุกช่วงวัยทุกกลุ่มให้รู้เท่าทันสื่อ รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาวะ ที่จะมีหลากหลายกลุ่ม กลุ่มผู้สูงอายุก็เช่นกัน ซึ่งสสส.เป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ทำงานเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ หลักการโดยรวมของการทำงานคือการใช้ทฤษฎี 3 ส่วนเขยื้อนภูเขา โดย 3 ส่วนนั้นคือภาคนโยบาย ภาควิชาการ และภาคของประชาชน โดย 3 ส่วนนี้ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันเป็นองคาพยพ เชิงนโยบายนั้นเราทำงานร่วมกับกรมกิจการผู้สูงอายุ ที่ล่าสุดได้มีการพัฒนาหลักสูตรผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นหลักสูตรแกนกลางที่จะนำไปใช้ในทั่วประเทศ โดยในมกราคมปีหน้านี้เราจะมอบหลักสูตรนี้ให้กับผู้สูงอายุทั่วประเทศ และในทางวิชาการนั้นได้ทำงานร่วมกันสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาหลักสูตรวัยเพชรรู้ทันสื่อ สร้างศูนย์วิชาการสำหรับผู้สูงอายุ ที่จะมีการจัดทำบทความทางวิชาการต่างๆ สร้างนวัตกรรมเกมออนไลน์ ที่ผู้สูงอายุสามารถเรียนรู้ในการใช้เทคโลโลยี นอกจากนี้ ก็จับมือกับทำมาปัน ซึ่งจะทำงานในส่วนของกลไกการทำงานในระดับพื้นที่ รวมถึงการพัฒนากลุ่มอาสาสูงวัย และการเผยแพร่สื่อสารข้อมูล ในเรื่องของสูงวัยเฝ้าระวังสื่อ ส่วนในทางการปฏิบัติการนั้นก็คือเครือข่ายภาคประชาสังคมต่างๆ อย่างเช่นโครงการนี้เป็นต้น”

ทางด้านผู้จัดทำโครงการ “นายกฤษรินทร์ พรหมเสน” ที่เป็นตัวแทนของภาคประชาชน ประชาสังคม เล่าว่า “หลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 61 ตอนนั้นเป็นยุคแรกๆ ที่ทำงานกับผู้สูงอายุ สูงวัยรู้ทันสื่อ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสติในการรับสื่อต่างๆ ในช่วงแรกเราเน้นสื่อหลัก คือวิทยุ โทรทัศน์ หรือ สื่อบุคคล ที่เข้าถึงตัวผู้สูงอายุเลยในหมู่บ้านต่างๆ หรือจะเป็นเรื่องของการโฆษณาเกินจริง ซึ่งมันก็จะมีวิวัฒนาการของสื่อมาเรื่อยๆ กระทั่งเมื่อเทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาขึ้น เราก็พัฒนากระบวนการเรียนรู้ว่าจะทำยังไงให้ผู้สูงอายุรับสื่ออย่างมีสติ มีความรู้เท่าทันไม่ตกเป็นเหยื่อ เราจึงเริ่มทดลองใช้จากส่วนกลาง จากนั้นเรากระจายไปยัง 6 จังหวัด เช่น เลย พะเยา กระบี่ อุบล สุรินทร์ ซึ่งแต่ละจังหวัดก็ได้นำไปปรับใช้ให้กับบริบทให้เหมาะกับพื้นที่ 6 จังหวัดที่มีความต่างกันไป นั่นคือการทำงานในช่วงแรก แต่พอปัจจุบันนี้จะเห็นว่าสื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทต่อผู้สูงอายุมากขึ้น จึงมีการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ได้เสริมทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ ให้เริ่มจากการมีสติที่ตัวเอง จากนั้นก็ต่อยอดจากการที่ตัวเราเองตื่นรู้แล้ว ก็ให้มาร่วมกันดูแลผู้สูงอายุท่านอื่นๆ ในสังคม มาดูแลกันเอง จึงเกิดเป็นอาสาสูงวัยเฝ้าระวังสื่อ ที่ทำงานร่วมกับกลุ่มผู้สูงอายุ ใน 6 จังหวัด และใน กทม. เขตหลักสี่ ลาดพร้าว ร่มเกล้า ยานนาวา เชียงรากน้อย อยุธยา โดยเราได้ให้ช่วยกันเฝ้าระวังพวกเฟคนิวส์ต่างๆ เหมือนช่วยกันตรวจสอบข่าวสารข้อมูลต่างๆ และเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารร่วมกันและเป็นการส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องไปยังวงกว้างกระจายต่อกันไปเป็นทอดๆ นี่คือหนึ่งในการะบวนการในภาคปฏิบัติ และ กระทั่งปัจจุบันก็มีแคมเปญ อาสาเฝ้าระวัง ปิดสวิตซ์มิจฉากชีพด้วย 3 ป. ซึ่งกำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้”

สำหรับผู้ที่อยากฟังการเสวนาจากงานดังกล่าวสามารถติดตามชมย้อนหลังได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก “สูงวัยรู้ทันสื่อ” หรือกดลิ้งค์นี้ https://fb.watch/o91tTXAja9/?mibextid=ZbWKwL











กำลังโหลดความคิดเห็น