เมื่อวันที่ 14 พ.ย. แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับมอบหมายจากนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวง อว. ให้เป็นประธานในการแถลงข่าว และเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านงานวิจัย เรื่อง แพลตฟอร์มกลางสำหรับอำนวยความสะดวกเพื่อการเดินทางของผู้สูงอายุและผู้พิการ ระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมาย นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพมหานคร โดย นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด โดย นายอำนาจ คงไทย รักษาการกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อร่วมกันสนับสนุนโครงการออกแบบและพัฒนาระบบการจัดการโลจิสติกส์ กลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการสู่ระบบสาธารณสุข และเพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลที่ช่วยการบริการทางการแพทย์และการให้บริการในรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้สูงอายุ ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 กรุงเทพมหานคร
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา กล่าวว่า นวัตกรรมระบบแพลตฟอร์มกลางโลจิสติกส์สำหรับการเดินทางของผู้พิการ สามารถนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ได้จริง โดย สำนักการจราจรและขนส่ง และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้นำร่องใช้ในการรับจอง และจัดการเดินทางของผู้สูงอายุและผู้พิการไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้มีภาหนะและการช่วยเหลือที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้สูงอายุและผู้พิการในการเดินทางได้อย่างสะดวกไร้รอยต่อ เกิดความปลอดภัย รวดเร็ว และติดตามสอบย้อนกลับในการเดินทางได้ อว. หวังว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในวันนี้ จะสามารถร่วมมือและส่งเสริม สนับสนุนโครงการให้เกิดการต่อยอดงานวิจัย จนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศต่อไป
นายธีรวัฒน์ บุญสม กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานให้ทุนวิจัย ภายใต้กระทรวง อว ให้การสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยผลักดัน ริเริ่ม เคลื่อนและประสานการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ ทำให้งานวิจัยสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งโครงการออกแบบและพัฒนาระบบการจัดการโลจิสติกส์กลุ่มผู้สูงอายุสู่ระบบสาธารณสุข ของ รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (ศูนย์ LogHealth) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. เพื่อพัฒนาระบบแพลตฟอร์มที่สามารถตอบสนองและรองรับสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ จะสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุและผู้พิการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นวัตกรรมนี้ เป็นของ ศูนย์ LogHealth ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ในการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มกลางสำหรับอำนวยความสะดวกเพื่อการเดินทางของผู้สูงอายุและผู้พิการ ต้นแบบนวัตกรรมนี้สามารถรองรับการจองหรือจัดการการเดินทางของผู้สูงอายุและผู้พิการไปโรงพยาบาลหรือสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้มีพาหนะและการช่วยเหลือที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้สูงอายุ ที่ได้ช่วยจัดการข้อมูลการใช้รถ ติดตามรอบการรับส่ง ติดตามการใช้งานของผู้สูงอายุและผู้พิการ รองรับการใช้งานผ่านโมบายแอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ ช่วยให้กลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการเดินทางไปยังสถานพยาบาล และสถานที่ต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย สะดวกสบาย และรวดเร็ว
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล กล่าวว่า นโยบายกรุงเทพมหานครน่าอยู่สำหรับทุกคน เป็นเรื่องที่กว้างมาก จำเป็นต้องผลักดันหลายเรื่องไปพร้อมกัน และเรื่องหนึ่งที่ กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญคือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการ นวัตกรรมดังกล่าว กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด พัฒนาแอปพลิเคชันภายใต้แนวคิด ‘เรียก รับ จัด จ่าย’ โดยเริ่มทดลองใช้งานตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น เกิดประโยชน์ในการจัดตารางรถรับส่งแก่ผู้สูงอายุและผู้พิการ ส่วนระยะต่อไป กทม. จะใช้จัดเก็บข้อมูลด้วยระบบดิจิทัล เพื่อช่วยให้การเรียกใช้บริการสะดวกขึ้น และจะขยายโครงการเพิ่มจุดบริการรับส่งให้ครอบคลุมสถานพยาบาลของ กทม. ต่อไป
รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (ศูนย์ LogHealth) กล่าวว่า ระบบแพลตฟอร์มกลางโลจิสติกส์สำหรับการเดินทางของผู้สูงอายุและผู้พิการนี้ เกิดขึ้นเพื่อเป็นระบบขนส่งการจัดการโลจิสติกส์กลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการสู่ระบบสาธารณสุข สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ โดยแอปพลิเคชันได้ถูกออกแบบให้มีองค์ประกอบในการดำเนินงานด้วยกัน 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1) เว็บแอปพลิเคชันสำหรับหน่วยงานผู้ให้บริการ
2) โมบายแอปพลิเคชันสำหรับพนักงานขับรถที่อยู่ในสังกัดหน่วยงาน 3) โมบายแอปพลิเคชันสำหรับผู้โดยสาร ผลลัพธ์ที่ได้เกิดเป็นนวัตกรรมหรือแพลตฟอร์มที่รองรับการจองหรือจัดการการเดินทางของผู้สูงอายุและ
ผู้พิการไปโรงพยาบาลหรือสถานที่อื่น ๆ ได้ ระยะที่ 2 ได้จะมุ่งเน้นการพัฒนาต่อยอดจากระบบเดิม โดยเพิ่มฟังก์ชันการวางแผนเส้นทางการให้บริการ การจัดแผนการเดินรถให้แก่พนักงานขับรถ รวมถึงการออกแบบและพัฒนาให้แพลตฟอร์มรองรับการร่วมเดินทาง เพิ่มจำนวนฝั่ง รองรับความต้องการจำนวนมาก และรองรับการเชื่อมโยงนำเข้าและส่งออกข้อมูลแพลตฟอร์มกับระบบขนส่งรูปแบบอื่น ๆ ด้วย