"ชลน่าน" เปิดโครงการอบรม "ทีม Care D+” ด่านหน้าช่วยลดความกังวลคนไข้ ญาติ ข้อขัดแย้งกับบุคลากร เผยเรียน 7 คาบ เน้นสื่อสารแบบเข้าอกเข้าใจ จัดการภาวะวิกฤต ลงทะเบียนแล้วทั่วประเทศ 10,550 คน มั่นใจ 1 ม.ค.ส่งชุดแรก 1 พันคนดูแลช่วงปีใหม่ได้ ส่วน เม.ย.ครบ 1 หมื่นคน ให้ค่าตอบแทนเพิ่มเฉพาะนอกเวลา
เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเปิดโครงการอบรมขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคม (Care D+) พร้อมรับมอบรหัสเข้าเรียน หนังสือสำคัญและเสื้อ Care D+ สัญลักษณ์ของผู้เข้ารับการอบรม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ที่ผ่านมาบุคลากรสาธารณสุขทุกคน ทุกวิชาชีพ มีความมุ่งมั่นดูแลประชาชนให้พ้นจากความเจ็บป่วย แต่จากสภาพสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้า ทำให้การสื่อสารมีความรวดเร็ว ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ หลายครั้งจึงพบว่าเกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้ป่วย ญาติและบุคลากรทางการแพทย์ปรากฏในสื่อออนไลน์ นโยบายยกระดับ 30 บาท ของ สธ.จึงกำหนดประเด็นการสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ โดยมี Quick Win 100 วัน เรื่องสร้างทีมเชื่อมประสานใจ หรือ Care D+ ที่จะช่วยสร้างความเข้าใจ ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์ เป็น “ญาติเฉพาะกิจ มิตรภาพถาวร” ที่ช่วยสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ป่วยที่เจ็บป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ และญาติผู้ป่วยที่ใจเจ็บจากความกลัวและวิตกกังวลกับการที่บุคคลในครอบครัวเจ็บป่วย ให้ได้รับทราบถึงขั้นตอนแนวทางการรักษาพยาบาล ลดความกังวลและความไม่เข้าใจระหว่างกันที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ให้บริการ และสร้างการรับบริการที่ดีให้ผู้รับบริการ
นพ.ชลน่านกล่าวว่า การเดินหน้าโครงการอบรม Care D+ สธ.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การสื่อสารอย่างเข้าอกเข้าใจ (Emphatic Communication) ในภาคการดูแลสุขภาพ ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรมาตรฐาน Care D+ เพื่อยกระดับคุณภาพการสื่อสารในภาคการดูแลสุขภาพ อบรมบุคลากรสาธารณสุขให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการสื่อสารมากขึ้น โดยเฉพาะการบริหารจัดการภาวะวิกฤตทางการสื่อสาร (Crisis Communication Management) และการสื่อสารด้วยความเข้าใจ เชื่อมอารมณ์ความรู้สึกกัน (Emphatic Communication) ซึ่งจะทำให้ทีม Care D+ สามารถรับฟังผู้ป่วยและญาติอย่างเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ สามารถวิเคราะห์และประมวลได้ว่า มีอารมณ์ความรู้สึก ความประสงค์ หรือมีข้อติดขัดติดใจอย่างไร เพื่อจะได้บริหารจัดการหรือตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดความไม่เข้าใจกันหรือความขัดแย้งระหว่างกันลงได้
“การอบรมมีทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม cug.academy โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและจิตวิทยา จากบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ มาเป็นวิทยากร เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย. เป็นต้นไป ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้ารับการอบรมถึง 10,550 คน มีการอบรมทั้งหมด 7 บทเรียน ซึ่งภายใน ธ.ค.นี้ จะมีทีม Care D+ 1 พันคน ส่งมอบเพื่อดูแลประชาชนทั่วประเทศในช่วงเทศกาลปีใหม่ และภายใน เม.ย.2567 จะครบ 1 หมื่นคน ส่งมอบเพื่อดูแลช่วงเทศกาลสงกรานต์ เราไม่อยากใช้คำว่าของขวัญ แต่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการดูแลประชาชนอย่างเป็นมิตร ทั้งนี้ จะมีการประเมินผลการอบรมและปรับปรุงหลักสูตรการอบรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บุคลากรที่ผ่านการอบรมหลักสูตรนี้สามารถสื่อสารประสานใจ สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันได้อย่างดี” นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวว่า การอบรมบุคลากร Care D+ จะมีใน รพ.ของ สธ.ทุกระดับ อย่างไรก็ตาม นอกจากแพทย์ พยาบาล บุคลากรที่เราให้มาทำงานด้านนี้ แต่เป็นงานการสื่อสารไม่ใช่งานรักษาพยาบาล การเอาบุคลากรแพทย์พยาบาลมาทำงานด้านนี้จะสูญเสียโอกาสดูแลประชาชนเฉพาะหน้าที่ ถ้าสามารถพัฒนาบุคลากรของเราที่มีฐานความรู้ด้านการแพทย์สาธารณสุข ความรู้การสื่อสารการดูแลให้กำลังใจ มีหลักสูตรขึ้นมา ก็สร้างงานสร้างอาชีพให้คนที่สนใจได้
ถามถึงหลักสูตร 7 คาบจะเน้นสอนการสื่อสารให้บุคลากรในเรื่องใด ศ.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า เป็นการสื่อสารสร้างความเข้าใจผู้ป่วยและญาติ ทำให้รับรู้ความต้องการและคลายกังวลในการเข้ามารับบริการสาธารณสุข ตรงนี้จะทำให้เพิ่มความเข้าอกเข้าใจของประชาชน ประสิทธิภาพการให้บริการของ สธ.มีเพิ่มสูงสุด ซึ่งการเรียน 7 คาบถือว่ามีความเพียงพอ เรามีทั้งเชิงทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และจะมีการวัดประเมินหลังอบรม เพื่อมอบหนังสือสำคัญว่าจบหลักสูตร ผ่านเกณฑ์เบื้องต้นแล้ว
ถามว่าจะมีการแบ่งภาระงานอย่างไร และมีเพิ่มค่าตอบแทนด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นการใช้กลไกบริหารจัดการ ผู้บริหารแต่ละที่จะดูแลว่ากระทบงานบริการหรือไม่ ต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้ แม้ทำงานการดูแลสุขภาพดีย่างไร แต่หากมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น สิ่งดีๆ ไม่ได้ถูกพูดถึงเลย สิ่งนี้จะกลับมาทำลายขวัญกำลังใจคนปฏิบัติงาน การวางแนวทางนี้คนทำงานต้องมีกำลังใจ ประชาชนได้ประโยชน์ ลงทุนไม่สูง ถือว่าคุ้มค่าที่สุดระยะเวลาฝึกอบรมสั้น 7 บทเรียนออกไปทำงานได้แล้ว ถ้าเราใช้บุคลากรปกติก็รับเงินเดือนค้าจ้างปกติ ถ้ามาทำนอกเวลาก็จะมีค่าตอบแทนนอกเวลาให้
ถามต่อว่าจะขยาย Care D+ ไปยังบุคลากรทุกแผนกหรือไม่ เพราะบางครั้งมีเสียสะท้อนว่าบุคลากรที่ให้บริการพูดจาไม่ดี นพ.ชลน่านกล่าวว่า ทีม Care D+ เป็นหน่วยปฏิบัติการเชิงรุก ทำเฉพาะบริการด่านหน้าที่มีความแออัดยัดเยียด เช่น OPD ห้องฉุกเฉิน เมื่อเจิภาวะวิกฤตเราจะเน้นตรงนี้ ส่วนตรงอื่นเป้นเรื่องที่ต้องทำตามปกติอยู่แล้วให้ได้คุณภาพมาตรฐาน