มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) UNESCO และ ภาคีเครือข่าย จัดเวทีการเรียนรู้หลักสูตรนักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้ขึ้นที่ โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง ระหว่างวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2566 โดยมีผู้เข้า ร่วมงานทั้งหมดกว่า 200 คน เพื่อลดความเลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) และพัฒนาคนไปสร้างเมืองผ่านหลักสูตรนักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้ ใน 4 พื้นที่นำร่อง เทศบาลนครยะลา เทศบาลนครตรัง เทศบาลเมืองลำพูน และ เทศบาลนครอุดรธานี
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ. กล่าวว่า เมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning City เป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาคน พัฒนาเศรษฐกิจ และพัฒนาสุขภาพกายใจ ที่ประเทศต่างๆทั่วโลกใช้เมืองแห่งการเรียนรู้เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาคน โดย UNESCO ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากว่าทศวรรษ และสร้างเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ UNESCO Global Network of Learning Cities ขึ้น โดยมีเมืองต่างๆ กว่า 290 แห่ง จาก 76 ประเทศทั่วโลกเป็นสมาชิก ส่วนประเทศไทยมี 7 เมืองที่เป็นสมาชิก คือ จังหวัดพะเยา เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดสุโขทัย เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา เทศบาลนครหาดใหญ่ และเทศบาลนครเชียงใหม่
ส่วน ศ.ดร.เสมอ ถาน้อย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา อธิบายเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานเมืองแห่งการเรียนรู้ที่จังหวัดพะเยา และ การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ในจังหวัดพะเยา โดยมหาวิทยาลัยพะเยา ด้วยการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ทำให้ได้ข้อสรุปข้อหนึ่งว่า นักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาเมือง
ให้ยั่งยืน การสร้างนักจัดการเมืองจึง มีส่วนสำคัญในการพัฒนาคน และพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน กสศ. บพท. และ มหาวิทยาลัยพะเยา จึงจัดหลักสูตร นักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ City Administrators ขึ้น โดยหลักสูตรนี้ได้รับการรับรองจากมหาวิทยาลัยพะเยา ภายใต้สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ โดยหลักสูตรมี 45 ชั่วโมง ที่มีวัตถุประสงค์ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเมืองแห่งการเรียนรู้ กลไกการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อส่งมอบเครื่องมือการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต การวัดประเมินผล และ พัฒนาทักษะการสื่อสารแก่คณะทำงานเมืองแห่งการเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้เรียนหลักสูตรนี้จะสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ไปพัฒนาเมืองตามบริบทของพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่เสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษา สร้างโอกาสให้คนทุกคนได้เรียนรู้ตามความสนใจของตนเอง นำไปประกอบอาชีพ หรือ ถ่ายทอดต่อ ซึ่งก็คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ และ คุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของคนในพื้นที่ ตามแนวคิด “คนสร้างเมือง เมืองสร้างคน”
"ในปี 2566 กสศ. ได้สนับสนุนการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ร่วมกับ บพท. โดยมี หน่วยจัดการเมือง หรือ City Unit ที่มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นแกนหลักดำเนินงาน ใน 4 พื้นที่นำร่อง เทศบาลนครยะลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และเทศบาลนครตรัง เทศบาลลำพูน และเทศบาลนครอุดรธานี เป็นหน่วยรับทุนพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้" ศ.ดร.เสมอกล่าว
ขณะที่นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มีหน้าที่ทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่การสร้างระบบนิเวศขนาดใหญ่อย่างเมืองแห่งการเรียนรู้ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำงานโดยลำพังได้ กสศ.จึงให้ความสำคัญกับการมีภาคีเครือข่าย เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนไปสู่สังคมที่มีความเสมอภาคได้จริง
ด้านนางสาวธนัน ถ้วนถวิล ผู้จัดการอุทยานการเรียนรู้ยะลา หนึ่งในพื้นที่นำร่องของโครงการ กล่าวว่า โครงการได้สร้างโอกาสที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังให้กับเด็กๆ ผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ เทศบาลนครยะลา ซึ่งเป็นทั้งการให้โอกาสทางการศึกษาและการยกระดับคุณภาพเมืองให้ดียิ่งขึ้นด้วย ในการจัดงานครั้งนี้ คณะทำงานเครือข่ายเมือง Cittaslow จากประเทศไต้หวันได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนาคน และพัฒนาเมืองผ่านต้นทุนทางอาหาร ต้นทุนทางวัฒนธรรม เพื่อให้คนกลับมาใช้ชีวิตธรรมดาอย่างมีความสุขและมีสุขภาพกายใจแข็งแรงด้วย