xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เตรียมเปิดตัว Cancer Warrior 19 ต.ค.นี้ ปั้น “หมอ-พยาบาล” เข้าร่วมประเดิมเขตละ 1 ทีม รองรับ “มะเร็งครบวงจร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการแพทย์เตรียมเปิดตัว Cancer Warrior รองรับมะเร็งครบวงจร 19 ต.ค.นี้ เผย ทยอยอบรมทีมแพทย์และพยาบาลแล้ว ตั้งเป้ามี 1 ทีมในทุกเขตสุขภาพ หวังกระจายความรู้และการช่วยเหลือทางมะเร็งทั่วประเทศ ลดกระจุกตัว กทม. พร้อมเดินหน้าจัดอีเวนต์ตลอดปี สื่อสารความรู้สุขภาพและบริการยกระดับ 30 บาทพลัส

วันนี้ (13 ต.ค.) พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการเดินหน้าจัดกิจกรรมพิเศษ หรืออีเวนต์ อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อสื่อสารการดำเนินงานตามนโยบายยกระดับ 30 บาทพลัส ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า เนื่องจากทุกนโยบายมีความสำคัญ หลายเรื่องอาจจะไม่ได้นำไปสู่การรับรู้ของประชาชนในครั้งเดียว เราสามารถทยอยนำแต่ละบริการเพื่อสุขภาพให้ประชาชนรับรู้ ยกตัวอย่าง ประเด็น “มะเร็งครบวงจร” สิ่งที่ท่านรัฐมนตรีว่าการ สธ.ประกาศและเห็นเป็นรูปธรรม คือ “วัคซีนเอชพีวี” ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ก็เป็นองค์ความรู้ที่มีค่า มีการจัดเตรียมวัคซีนสำหรับกลุ่มเป้าหมายในกลุ่มนักเรียนหญิง ซึ่งกลุ่มนี้เรียกว่าคุ้มที่สุดในการลงไปป้องกัน แต่มะเร็งครบวงจรไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องวัคซีนอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องอื่นมาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็จะขับเคลื่อนออกมาให้ประชาชนรับทราบว่า มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับตัวเองอย่างไร

พญ.อัมพร กล่าวว่า หรือกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีความสุ่มเสี่ยงด้วยตัวเชื้อเอชพีวีที่มีอยู่ แล้ววันหนึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่มีแนวโน้มเป็นมะเร็งได้ กลุ่มนี้ก็ควรมีการตรวจ ซึ่งสมัยเมื่อก่อนต้องมีการขึ้นขาหยั่ง ทำแปปสเมียร์ (Pap Smear) ด้วยแพทย์ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกไม่สะดวกใจ แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาชุดตรวจด้วยตนเอง สามารถเก็บตัวอย่างจากปากมดลูกด้วยการแนะนำจากคู่มือ และค่อยส่งตัวอย่างมาตรวจ ทำให้รู้ได้เร็วและนำไปสู่การรักษาได้เร็ว หรืออย่างเรื่องฝุ่น PM 2.5 คนก็ต้องรู้ว่าจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งที่ปอดอย่างไร หรือมะเร็งเต้านมต้องรู้ได้เร็ว รักษาเร็ว โดยการตรวจด้วยตัวเองหรือตรวจด้วยแมมโมแกรม การเข้าถึงบริการจะทำได้อย่างไร หรือแม้กระทั่งคนเป็นมะเร็งต่างๆ แล้ว ผลการรักษาเป็นอย่างไร การฟื้นฟูดูแลจิตใจดูแลร่างกายเป็นอย่างไร

“เหล่านี้คือสิ่งที่เราจะทำเป็นมะเร็งครบวงจร ที่จะคลอดออกมาเป็นแต่ละบริการ แต่ละการรณรงค์ เพื่อให้เกิด Health Literacy อย่างครบวงจรในเรื่องนี้ เน้นสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ ซึ่งกรมการแพทย์ก็มีการเตรียมการเรื่องเหล่านี้ เพื่อออกเป็นองค์ความรู้ และชุดของการให้บริการอย่างต่อเนื่อง” พญ.อัมพร กล่าว

เมื่อถามถึงกรณี Cancer Warrior จะมาช่วยเรื่องมะเร็งครบวงจรอย่างไร พญ.อัมพร กล่าวว่า เราไม่อยากให้ทุกคนพูดถึงมะเร็งแล้วนึกถึงเพียงสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ที่ต้องเดินทางไกลมาถึงที่นี่ หรือ รพ.ราชวิถี ที่เป็นศูนย์กลางทางระบบเท่านั้น แต่ความรู้เรื่องของมะเร็ง การช่วยเหลือทางมะเร็ง ต้องกระจายออกไปอย่างทั่วถึงตามนโยบายของ รมว.สธ. เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ตาม จะต้องมี Cancer Warrior คือ เป็นแม่ทัพเรื่องของการปราบมะเร็ง เบื้องต้นเราคิดตามระบบอย่างน้อยแต่ละเขตจะต้องมี Cancer Warrior ที่เข้มแข็ง 1 ทีมก่อน เมื่อระดับเขตเข้มแข็งก็ต้องมีทีมระดับจังหวัดด้วย ตอนนี้มีการอบรมฝึกปรือไปแล้ว ในกลุ่มแพทย์และพยาบาลจำนวนหนึ่งที่เข้ามาร่วมทีม ซึ่งทางกรมการแพทย์ก็มีการเตรียมการเอาไว้ดีมากก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่ง ถือว่า มีความพร้อมพอสมควร อาจจะเติมรายละเอียดบางอย่าง และน่าจะประกาศตัวเรื่อง Cancer Warrior ได้ประมาณวันที่ 19 ต.ค. 2566 ซึ่งจะมีกิจกรรมเรื่องของการรณรงค์มะเร็งในสตรี และอาจจะมีการหยิบยกเรื่อง Cancer Warrior ที่มีการถ่ายทอดโดย รมว.สธ.


กำลังโหลดความคิดเห็น