xs
xsm
sm
md
lg

“ชลน่าน” เผย “หอยเชลล์” จากญี่ปุ่น ยังปลอดภัย ไม่พบกัมมันตรังสี หลังโรงไฟฟ้าปล่อยน้ำเสียก๊อกสอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แฟ้มภาพ
ชลน่าน” เผยผลตรวจอาหารทะเล 90 ตัวอย่างจากญี่ปุ่น ไม่พบสารกัมมันตรังสี หลังจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปล่อยน้ำเสียลงทะเล 2 รอบ ขณะที่สุ่มเก็บตัวอย่างหอยเชลล์เพิ่มจากห้างดัง ร้านอาหาร และด่าน อย. ปลอดภัย ไม่พบเช่นกัน

วันนี้ (13 ต.ค.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการตรวจอาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่น ที่มีข้อกังวลอาจปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี จากกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น มีการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าลงสู่ทะเล เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 และปล่อยรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2566 ว่า สธ.ห่วงใยสุขภาพของประชาชน ตนได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการเฝ้าระวังและตรวจสอบการนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศญี่ปุ่นอย่างเข้มงวด โดยมีมาตรการในการเก็บตัวอย่างอาหารทะเลนำเข้าจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และกักสินค้าระหว่างตรวจวิเคราะห์ หากพบสารกัมมันตรังสีจะทำลายสินค้าและระงับการนำเข้าทันที ทั้งนี้ อย. ได้เริ่มดำเนินการเก็บตัวอย่างอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค. 2566 - ปัจจุบัน รวม 90 ตัวอย่าง เช่น ปลา ปลาหมึก หอย ปูสาหร่าย เป็นต้น ส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณกัมมันตรังสี ซีเซียม-134 (Cs-134) และซีเซียม-137 (Cs137) ที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ล่าสุด ได้รับผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารทะเล 80 ตัวอย่าง ยืนยันว่า ไม่พบสารกัมมันตรังสีทุกตัวอย่าง นอกจากนี้ ยังได้เก็บตัวอย่างหอยเชลล์ 15 ตัวอย่าง เป็นหอยเชลล์จากท้องตลาด 10 ตัวอย่าง จากห้างดองกิ และร้าน Sen Sen Sushi ประเทศไทย 2 ตัวอย่าง และเป็นหอยเชลล์ที่สุ่มเก็บตัวอย่าง ณ ด่านอาหารและยา 5 ตัวอย่าง ไม่พบสารกัมมันตรังสีทุกตัวอย่างเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายให้ อย. ยังดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยสุ่มเก็บตัวอย่างที่มีความเสี่ยงทุกการนำเข้าและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า สธ. และ อย.จะดำเนินมาตรการอย่างจริงจังและเข้มข้นเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และพร้อมที่จะให้ข้อมูลต่อสาธารณชน


กำลังโหลดความคิดเห็น