ชวนจองคิวตรวจคัดกรอง "มะเร็งลำไส้ใหญ่" ฟรีทุกคนทุกสิทธิ ผ่านแอปฯ เป๋าตัง ผ่าน Lab Anywhere ค้นหาหน่วยบริการใกล้บ้าน แจงตรวจแล็บภายนอก แต่ไม่ได้ตัดงบ รพ.
เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ทนพญ.ศิริรัตน์ ลิกานนท์สกุล ที่ปรึกษาสภาเทคนิคการแพทย์ กล่าวถึงโครงการ Lab Anywhere หรือตรวจแล็บนอกหน่วยบริการ ว่า เป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง สามารถเข้ารับบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจอุจจาระ และสิ่งส่งตรวจอื่นๆ ประกอบการวินิจฉัยและการรักษาของแพทย์ ได้ที่คลินิกเทคนิคการแพทย์เอกชนที่เข้าร่วมโครงการรวม 24 รายการ แบ่งเป็น รายการตรวจสำหรับผู้ป่วยนอก 22 รายการ และสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 2 รายการ คือ ตรวจการตั้งครรภ์ปีละ 4 ครั้ง และตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่สำหรับผู้มีอายุ 50-70 ปี ทุกๆ 2 ปี
การตรวจสร้างเสริมสุขภาพฯ คนไทยทุกคนทุกสิทธิรับบริการที่คลินิกได้เลยโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ตรวจรายชื่อคลินิกที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ของ สปสช. และค้นหารายชื่อหน่วยบริการใกล้บ้านและจองคิวเข้ารับบริการได้ผ่านกระเป๋าสุขภาพในแอปพลิเคชันเป๋าตัง จึงอยากชวนให้ลองเปิดแอปฯแล้วนัดหมายเข้ารับบริการ โดยเฉพาะตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ซึ่งเป็นภัยเงียบ กว่าจะรู้ก็ลุกลามไปแล้ว
"อยากให้ทุกคนไปตรวจ เพราะที่ผ่านมาการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่มีจำนวนการตรวจน้อย อาจเพราะไม่สะดวกสำหรับหลายๆ คน เพราะต้องเก็บตัวอย่างอุจจาระ แต่ถ้ารับบริการกับคลินิกเอกชนจะทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น เนื่องจากเวลาทำการยืดหยุ่น ไม่จำกัดแค่เวลาราชการ บางคลินิกเปิดถึง 2 ทุ่ม บางที่เปิดถึงเที่ยงคืน วันเสาร์อาทิตย์ก็ยังเปิดให้บริการ ทำให้เป็นทางเลือกที่ดีมากสำหรับประชาชน” ทนพญ.ศิริรัตน์ กล่าว
ทนพญ.ศิริรัตน์ กล่าวว่า โครงการนี้เพิ่งเริ่มให้บริการมาได้เพียง 1 เดือน จึงยังมีคลินิกที่เข้าร่วมโครงการไม่มาก ปัจจุบันมีคลินิกเทคนิคการแพทย์ในโครงการประมาณ 35 แห่ง อนาคตจะมีจำนวนคลินิกเข้าร่วมมากขึ้น ที่ผ่านมามีคลินิกแสดงความสนใจเข้ามากว่า 300 แห่งทั่วประเทศ ในปีต่อไปรายการตรวจก็จะเพิ่มมากขึ้นมากกว่า 24 รายการ ขณะนี้สภาเทคนิคการแพทย์อยู่ระหว่างหารือกับ สปสช. ว่าในปีต่อๆไป จะเพิ่มรายการตรวจอะไรเข้ามาในชุดสิทธิประโยชน์อีกบ้าง
ด้าน ทนพ.สมชัย เจิดเสริมอนันต์ นายกสภาเทคนิคการแพทย์ กล่าวว่า อยากทำความเข้าใจกับ รพ.ว่าการให้ผู้ป่วยมารับบริการกับคลินิกเทคนิคการแพทย์นอก รพ. ไม่ได้หมายความว่า สปสช. จะตัดงบประมาณของ รพ.มาจ่ายให้คลินิกแต่อย่างใด รพ.ยังได้รับงบประมาณจาก สปสช. เหมือนเดิม การให้ผู้ป่วยมารับบริการข้างนอกจะเป็นการช่วยลดความแออัดใน รพ.อีกทาง ช่วยลดภาระงานของบุคลากรและมีเวลาทำงานคุณภาพได้มากขึ้น