นายกสมาคมกายภาพฯ ชี้คลินิกกายภาพเอกชน ช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยบัตรทอง 4 กลุ่มอาการ ช่วยเพิ่มเข้าถึงจริง แต่ยังติดปัญหา คนไม่รับรู้ จี้เพิ่มการสื่อสารทั้งฝั่งประชาชนและ รพ.ให้แนะนำส่งต่อ พร้อมชวนคลินิกเอกชนเข้าร่วมโครงการมากขึ้น จ่อคลอดมาตรฐานคลินิกกายภาพฯ ในอีก 1 ปี
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. รศ.กภ.มัณฑนา วงศ์ศิรินวรัตน์ อาจารย์ประจำคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมือกับ สปสช.ชวนคลินิกกายภาพบำบัดเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ผู้ป่วยระยะกลาง (IMC) สิทธิบัตรทอง ว่า คลินิกฯ จะให้บริการฟื้นฟูใน 4 กลุ่มอาการ คือ 1.หลอดเลือดสมอง 2.คนไข้ที่ได้รับอุบัติเหตุทางสมอง 3.กลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บกระดูกสันหลัง และ 4. กลุ่มที่สะโพกหักชนิดไม่ร้ายแรง ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากภาวะสังคมสูงอายุและโรคเรื้อรังต่างๆ ขณะที่ รพ.มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนนักกายภาพบำบัด อีกทั้งต้องดูแลผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจาก 4 กลุ่มอาการนี้ ทำให้ไม่สามารถนัดผู้ป่วยมารับการฟื้นฟูได้มากเท่าที่ต้องการ ทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการไม่ครบโดส 20-30 ครั้ง การฟื้นตัวของผู้ป่วยก็จะเป็นไปได้ยาก ขณะที่ผู้ป่วยเองก็เคลื่อนไหวไม่สะดวก มีความลำบากในการเดินทางมา รพ. ถ้าเป็นคนที่มีฐานะมักจะจ้างนักกายภาพไปดูแลที่บ้าน แต่ถ้าไม่มีกำลังทรัพย์ก็มักจะดูแลกันตามมีตามเกิด หรือทำตามที่ได้รับการสอนไปครั้งสุดท้าย
รศ.กภ.มัณฑนากล่าวว่า การมีคลินิกกายภาพฯ เอกชนเข้าร่วมบริการสิทธิบัตรทอง โดย สปสช. สนับสนุนค่าใช้จ่าย จึงเป็นการเพิ่มการเข้าถึง ไม่ทำให้ผู้ป่วยหายออกไปจากระบบ ซึ่งสภากายภาพบำบัดร่วมกับ สปสช. นำร่องในพื้นที่ กทม.มาระยะหนึ่ง พบว่าเพิ่มการเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ช่วยลดภาระของ รพ.และญาติผู้ป่วย มีงานวิจัยชี้ชัดว่าคุ้มค่ามาก แต่ยังมีข้อติดขัดเรื่องการรับรู้ของประชาชนที่ไม่รู้ว่าถ้าป่วยด้วย 4 กลุ่มอาการนี้ เมื่อออกจาก รพ.สามารถรับบริการฟื้นฟูฯ ได้ที่คลินิกกายภาพฯ เอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนผู้ให้บริการใน รพ.ยังไม่รู้ว่ามีทางเลือกนี้ ระยะต่อไปต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้สิทธิตัวเองมากขึ้น หน่วยบริการทราบการจัดระบบบริการแบบนี้มากขึ้น
"ต้องทำทั้ง 2 ทาง เพราะตอนนี้ในแง่ของงบประมาณ สปสช. จัดสรรลงแล้ว รพ.ซึ่งเป็นผู้ส่งต่อคนไข้ มีหน้าที่แนะนำคนไข้หรือส่งต่อคนไข้ให้กับระบบบริการข้างนอก รพ. และต้องสร้างการรับรู้แก่ประชาชน อย่างน้อยสามารถถามคุณหมอได้ว่าจะรับบริการกับคลินิกกายภาพนอก รพ.ได้หรือไม่ ถ้าทำทั้ง 2 ทางนี้ได้ก็จะทำให้เกิดการบริการได้จริง" รศ.กภ.มัณฑนา กล่าว
รศ.กภ.มัณฑนา กล่าวว่า ขณะนี้สภากายภาพบำบัดเองยังคงเปิดรับสมัครคลินิกกายภาพบำบัดเอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมดูแลประชาชน มีเงื่อนไขว่าต้องมีนักกายภาพบำบัดพร้อมให้บริการ มีการจดทะเบียนแล้ว และมีระบบการส่งต่อข้อมูล นอกจากนี้ สภาฯ กำลังเร่งจัดทำมาตรฐานคลินิกกายภาพบำบัด ซึ่งปกติแล้วคลินิกจะได้มาตรฐานจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) อยู่แล้ว ถึงสามารถเปิดคลินิกได้ แต่หากได้รับการรับรองมาตรฐานจากสภาฯ จะช่วยให้ประชาชนมั่นใจขึ้นว่า คลินิกนั้นมีนักกายภาพบำบัดที่ให้บริการได้ครอบคลุมและมีคุณภาพ คาดว่ามาตรฐานจะประกาศใช้ได้ภายใน 1 ปีนี้