จิตแพทย์ วอนหยุดคุ้ยครอบครัวคนก่อเหตุยิง "พารากอน" จี้แก้ปัญหาเชิงระบบเรื่องอาวุธปืน ก่อนเกอดเหตุซ้ำรอยแบบอเมริกา แนะแก้ 3 เรื่อง แก้ พ.ร.บ.อาวุธปืนที่เก่า เพิ่มบริการสุขภาพจิต หน่วยงานที่มีอาวุธคุมเข้มบุคลากร
เมื่อวันที่ 4 ต.ค. นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงเหตุความรุนแรงที่ห้างสยามพารากอนว่า นับเป็นครั้งที่ 3 จากเหตุกราดยิงที่ นครราชสีมา และศูนย์เด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู หากมองย้อนไปจะพบว่า มักมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นแทบทุกปี แม้จะต่างกรรมต่างวาระ แต่ก็เป็นสัญญาณว่าจะต้องแก้ไขเชิงระบบเพื่อป้องกัน มากกว่ามาดราม่าไปกับแต่ละเหตุการณ์ โดยเรื่องปัญหาอาวุธปืน ควรเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาซ้ำรอยกับสหรัฐอเมริกา ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการครอบครองอาวุธปืนได้
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า นิยามของการเลียนแบบจะต้องเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน 1 เดือน ทั้งนี้ การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนมีผลกับการเลียนแบบและการจดจำ ทำให้เกิดคนที่มีพฤติกรรมหรือมีความสุ่มเสี่ยงในจิต อาจก่อเหตุในลักษณะนี้ได้ และเห็นควรให้สังคมลดลงและยุติความเกลียดชังกับครอบครัวผู้ก่อเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการขุดคุ้ยประวัติครอบครัว เพราะทุกคนล้วนแต่เป็นเหยื่อในระบบของสังคมนี้ และจะยิ่งเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยเสนอแนวการแก้ไขดังนี้
1.พ.ร.บ.อาวุธปืนและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ควรจะต้องสะสางอย่างจริงจัง เนื่องจากมีมานานแล้ว โดยมีรัฐบาลและรัฐสภาเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไข ไม่ใช่เน้นการตรวจนับถือครองที่พบว่ามีถึง 12 ล้านกระบอก โดย พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มีมานาน ยังไม่ได้รับการปรับปรุง 2.บริการสุขภาพจิตที่ครอบคลุมทั้งประเทศ จะต้องได้รับการพัฒนาให้ตอบสนองปัญหาสุขภาพจิตที่มากขึ้น ซึ่งมักนำไปสู่ความรุนแรง ควรต้องมีงบประมาณและแผนงานสนับสนุนให้เกิดบริการและกำลังคนอย่างจริงจัง และ 3.หน่วยงานที่มีผู้ถืออาวุธ ก็ต้องจัดการเชิงระบบในการดูแลบุคลากร ไม่ใช่แค่เข้มงวดการอนุมัติการครอบครองอาวุธปืนใหม่ ซึ่งแก้ไขอะไรได้ไม่มาก