สำนักข่าวเอพีรายงานเกี่ยวกับเหตุวัยรุ่นชายรายหนึ่งใช้ปืนสั้นยิงกราดภายในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ในย่านใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อวันอังคาร (3 ต.ค.) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ก่อนผู้ก่อเหตุถูกจับกุม พร้อมเผย ไทยเป็นหนึ่งในชาติที่มีอัตราครอบครองอาวุธปืนสูงสุดในเอเชีย และแม้กฎหมายควบคุมอาวุธปืนเข้มงวด แต่พวกนักวิเคราะห์เคยเตือนว่ามันยังไม่เพียงพอ
รายงานของเอพีอ้างคำบอกเล่าของตำรวจ ระบุว่า ผู้ต้องสงสัยถูกควบคุมตัวภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง หลังมีรายงานข่าวแรกเกี่ยวกับเหตุยิงกันภายในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน หนึ่งในห้างใหญ่ที่สุดของไทยและเป็นจุดหมายปลายทางแหล่งชอปปิ้งหรูที่สุดของประเทศด้วย
เอพีรายงานว่า วิดีโอที่อัปโหลดบนสื่อสังคมออนไลน์ และเผยแพร่บนสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น เป็นภาพวัยรุ่นผมยาวถูกตำรวจเข้าควบคุมตัว พร้อมอ้างสื่อรายงานของสื่อมวลชนไทย ระบุว่า ผู้ต้องสงสัยรายดังกล่าวมีอายุ 14 ปี แม้ทาง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งหมาดๆ ยืนยันเพียงว่าผู้ก่อเหตุเป็นยาวชนและเคยมีประวัติเข้ารับการรักษาอาการป่วยทางจิต พร้อมบอกว่าตำรวจยังไม่ทราบว่าผู้ต้องสงสัยได้ปืนมาจากไหน
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เผยว่ามีผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยรายหนึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน ส่วนอีกคนเป็นคนสัญชาติพม่า และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย ตามรายงานของเอพี หลังจากก่อนหน้านี้ นพ.ยุทธนา เศรษฐนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์เอราวัณ บอกว่ามีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บ 6 คน เอพีระบุว่าไม่มีคำอธิบายเกี่ยวกับความคลาดเคลื่อนดังกล่าว แม้ต่อมา นพ.ยุทธนา จะสนับสนุนตัวเลขของทางตำรวจก็ตาม
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ได้รับแจ้งข้อมูลจากตำรวจว่าหนึ่งในผู้เสียชีวิตเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน อายุราว 30 ปี พร้อมกับกล่าวแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต "ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุยิงกันในพื้นที่ห้างสยามพารากอน และขอเป็นกำลังใจให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิต และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทุกท่าน"
สำนักข่าวเอพีระบุว่า ความรุนแรงจากอาวุธปืนเริ่มเป็นเรื่องปกติในไทย แม้เหตุกราดยิงเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก พร้อมบอกว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่กี่วัน ก่อนหน้าวาระครบรอบ 1 ปี เหตุสังหารหมู่โดยฝีมือบุคคลหนึ่ง ครั้งเลวร้ายที่สุดของประเทศ ในเหตุการณ์ที่คนร้ายใช้อาวุธปืนและมีดจู่โจมศูนย์รับเลี้ยงเด็กแห่งหนึ่งตอนกลางวันแสกๆ ในจังหวัดแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เข่นฆ่าชีวิตไป 36 ศพ ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กก่อนวัยเรียน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2022
วิดีโอหลายคลิปที่อัปโหลดบนสื่อสังคมออนไลน์ เป็นภาพที่ผู้คนกำลังวิ่งหนีออกจากอาคารห้างสรรพสินค้า และหลายคลิปเป็นภาพบุคคลรายหนึ่งสวมเสื้อสีเข้ม กางเกงคาร์โกและหมวกเบสบอล ถือปืนอยู่ภายในห้าง และมีอยู่คลิปหนึ่งที่เชื่อว่าเป็นตัวของผู้ต้องสงสัยหลังถูกจับกุม เป็นภาพเด็กชายวัยรุ่นผมยาวแต่งกายในลักษณะดังกล่าว สวมหมวกลายธงชาติสหรัฐฯ นอกจากนี้ ในวิดีโออื่นๆ และภาพถ่ายต่างๆ ยังมีภาพปืนสั้น ที่อ้างว่าเป็นของคนร้ายรายนี้ ก่อนถูกปลดอาวุธ ตามรายงานของเอพี
รายงานของเอพีระบุว่า เมื่อปี 2020 เคยเกิดเหตุทหารผู้คลุ้มคลั่งรายหนึ่งก่อเหตุไล่ยิงผู้คนทั้งในและรอบๆ ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนครราชสีมา ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เข่นฆ่าผู้คนไป 29 ราย และเผชิญหน้ากับกองกำลังด้านความมั่นคงนานกว่า 16 ชั่วโมง ก่อนท้ายที่สุดแล้วจะถูกวิสามัญ
เอพีระบุว่ากฎหมายอาวุธปืนในไทยค่อนข้างเข้มข้น แต่กระนั้นประเทศแห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในชาติที่มีระดับการครอบครองอาวุธปืนสูงที่สุดในเอเชีย อ้างอิงจากข้อมูลของ GunPolicy.org โครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ของออสเตรเลีย
ข้อมูลของ GunPolicy.org พบว่าอัตราครอบครองอาวุธปืนในไทยอยู่ที่ 10 กระบอกต่อ 100 คน เมื่อนับรวมถึงการถือครองผิดกฎหมายด้วย โดยหากเปรียบเทียบกับ มาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้าน ชาติสันติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเลเซียมีอัตราครอบครองอาวุธปืนไม่ถึง 1 กระบอกต่อประชาชน 100 คน
แม้บทลงโทษสำหรับการครอบครองอาวุธปืนผิดกฎหมายในไทย ในนั้นจะรวมถึงโทษจำคุก 1 ถึง 10 ปี และปรับเงินสูงสุด 20,000 บาท แต่เอพีรายงานว่า พวกนักวิจารณ์ในไทย มองว่ากระบวนการจดทะเบียนอาวุธยังไม่ใกล้เคียงกับคำว่าเข้มข้นเพียงพอ
"อัตราครอบครองอาวุธปืนระดับสูงอันน่าช็อกในไทย สืบเนื่องจากความสะดวกของกระบวนการออกใบอนุญาตอาวุธปืน มันง่ายที่จะร้องขอและได้รับใบอนุญาตอาวุธปืนในไทย" ดร.บุญวรา สุมะโน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เคยเขียนเอาไว้ หลังจากเกิดเหตุสังหารหมู่ที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเมื่อปีที่แล้ว ตามรายงานของเอพี "กฎหมายและนโยบายที่ผ่อนปรนเกี่ยวกับอาวุธปืน บ่งชี้ว่ามีความอดทนอย่างสูงต่อความรุนแรงจากอาวุธปืนในสังคมไทย"
(ที่มา : เอพี)