คณะนักวิจัยจาก ม.ขอนแก่น ประกอบด้วย ขจรศักดิ์ สีวาที, ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์, ณัฐเศรษฐ มนิมนากร, สุยันต์ ลวงภิมาย, เทวัญ ธานีรัตน์, กุลธนิต วนรัตน์, ศิริชดา เปล่งพานิช, วิจิตรา เสนา, ธนเมศวร์ แท่นคำ และบุคลากรสาธารณสุขของโรงพยาบาลดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ทำการวิจัยภายใต้การสนับสนุนของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พบว่า ยากัญชาตำรับเมตตาโอสถใช้รักษาอาการปวดจากปลายประสาทเสื่อมในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ผลดี
ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า คนไทยเป็นโรคเบาหวานมากกว่า 5.4 ล้านคน พอเกิดแผลที่เท้าจะหายยาก ทำให้ต้องถูกตัดเท้า กลายเป็นผู้พิการ กรมการแพทย์แผนไทยฯ จึงสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำวิจัยโดยใช้ยากัญชาตำรับเมตตาโอสถแบบทาภายนอก รักษาอาการปลายประสาทเสื่อมจากโรคเบาหวาน พบว่า สามารถลดอาการเจ็บปวดและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้อย่างมีนัยสำคัญ
ปัญหาการสูญเสียเท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศไทย
ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคเบาหวานจำนวนมากถึง 5.4 ล้านคน [1] แต่เข้าถึงการรักษาในระบบเพียง 3.3 ล้านคน คนไทยเสียชีวิตเพราะโรคเบาหวานสูงถึง 16,388 คนต่อปี หรือคิดเป็นวันละ 45 คน คำนวณเป็นสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึงปีละ 47,596 ล้านบาท [2]
โรคแทรกซ้อนของเบาหวานที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ โรคปลายประสาทเสื่อม ทำให้มีความเสี่ยงที่จะมีแผลที่เท้า สูงถึงร้อยละ 19 ถึง 34 [3] สถิติในประเทศไทย พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้า จะถูกตัดเท้า สูงถึงร้อยละ 21 ถึง 82 [4] - [7] ในที่สุดกลายเป็นผู้พิการ
กัญชาตำรับเมตตาโอสถช่วยรักษาโรคปลายประสาทเสื่อมได้ดี
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงได้สนับสนุนให้คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับโรงพยาบาลดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์ ทำวิจัยโดยใช้ยากัญชาตำรับเมตตาโอสถแบบทาภายนอก รักษาอาการปลายประสาทเสื่อมจากโรคเบาหวาน
เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCT) รวม 100 ราย หลังการรักษานาน 3 เดือน พบว่า สามารถลดอาการเจ็บปวดจากปลายประสาทอักเสบและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างมีนัยสำคัญ [8]
อาการเจ็บปวด ประเมินโดยเครื่องมือวัดแบบมาตรฐานสากล (NPSI) พบว่าก่อนเริ่มต้นการศึกษาผู้ป่วยมีอาการปวดเส้นประสาทส่วนปลาย 25.24 คะแนน หลังได้รับการรักษาประเมินเมื่อสิ้นสุดการศึกษาพบคะแนนอาการปวด ลดลงคงเหลือเพียง 5.57 คะแนน
ในด้านคุณภาพชีวิตซึ่งประเมินโดยเครื่องมือวัดแบบมาตรฐานสากล (EQ-5D-5L) และการประเมินสภาวะสุขภาพทางตรง (Visual Analog Scale: VAS) พบว่า ก่อนเริ่มต้นการศึกษาผู้ป่วยมีคะแนนคุณภาพชีวิต ร้อยละ 60.64 เมื่อสิ้นสุดการรักษาคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 79.79 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สำหรับยากัญชาตำรับเมตตาโอสถนี้ พญ.สุภาพร มีลาภ ได้มอบสิทธิ์ให้แก่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นน้ำมันกัญชาที่สกัดจากดอกกัญชาตัวเมีย สายพันธุ์หางกระรอก มีสัดส่วนของสาระสำคัญ ดังนี้THC:CBN:CBD เท่ากับ 3.20:0.65:0.32มิลลิกรัม/หยด [9]
ผลการวิจัยนี้มีศักยภาพในการนำไปต่อยอดและขยายผลให้กว้างขวางต่อไป เพื่อการลดปัญหาการถูกตัดเท้าและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวาน และที่สำคัญมากคือ การเพิ่มความสามารถในการพึ่งตนเองทางการแพทย์ของประเทศไทย
สรุปผลการวิจัยเมตตาโอสถ จากการวิเคราะห์ผลการศึกษาของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 100 คน จำแนกเป็นกลุ่มที่ได้รับกัญชาทางการแพทย์ตำรับเมตตาโอสถ จำนวน 50 คน และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก จำนวน 50 คน
ข้อมูลพื้นฐาน
โดยภาพรวมกลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 64.33 (9.94) ปี อายุต่ำสุด 33 ปี อายุสูงสุด 84 ปี เมื่อเปรียบเทียบอายุของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมพบว่า มีอายุ 63.42 (10.77), 65.24 (9.06) ปี ตามลำดับ
ข้อมูลด้านเพศ พบว่า เป็นเพศชายร้อยละ 28.0, 26.0 เพศหญิงร้อยละ 72.0, 74.0 ตามลำดับ ส่วนมากกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่มมีสถานภาพสมรส ร้อยละ 66.0, 76.0 ตามลำดับ ระดับการศึกษาประถมศึกษา ร้อยละ 84.0, 96.0 ตามลำดับ
ข้อมูลเกี่ยวกับอาการปวด
จากการสรุปผลการศึกษาอาการปวดเส้นประสาทส่วนปลายในข้างต้น ในส่วนนี้นำเสนอผลการวิเคราะห์ค่าคะแนนเฉลี่ยอาการปวดเส้นประสาทเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมตั้งแต่เริ่มต้นรักษาจนสิ้นสุดการรักษาภายใน 12 สัปดาห์ พบว่า
ก่อนเริ่มต้นการศึกษาทั้งสองกลุ่มมีอาการปวดใกล้เคียงกันดังนี้ กลุ่มทดลอง 25.60 (19.26) คะแนน กลุ่มควบคุม 25.24 (15.55) คะแนน มีความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเพียง 0.36 คะแนน
เมื่อประเมินการรักษาในสัปดาห์ที่ 4,8,12 พบว่ามีอาการเปลี่ยนแปลงของการปวดเส้นประสาทอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มทดลองมีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 16.72, 9.38, 5.57 คะแนน
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มในสัปดาห์ที่ 12 ยิ่งพบความแตกต่าง อาการปวดเส้นประสาทอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมเท่ากับ 5.57, 22.85 คะแนนตามลำดับ โดยมีความแตกต่างของค่าเฉลี่ยอาการปวดเส้นประสาทเท่ากับ -17.27 คะแนน
ผลการวิเคราะห์คุณภาพชีวิต
กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาวิจัยทดลองทางคลินิกในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมตั้งแต่เริ่มรักษาจนสิ้นสุดการรักษา ณ สัปดาห์ที่ 12 ด้วยเครื่องมือ EQ-5D-5L ของศูนย์โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAB) ทั้งหมดมี 5 มิติ และมีมาตรวัดคุณภาพชีวิต 5 ระดับ พบการวิเคราะห์ก่อนเริ่มต้นการศึกษาของกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่ม ได้ผลดังนี้
1. การเคลื่อนไหว ผลการวิเคราะห์พบว่าค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตด้านการเคลื่อนไหวค่าคะแนนเฉลี่ยในกลุ่มทดลองเท่ากับ 2.40, 2.12, 1.86, 1.83 ตามลำดับมีแนวโน้มลดลง มากกว่ากลุ่มควบคุมเท่ากับ 2.32, 2.28, 2.00, 2.04 ตามลำดับ ซึ่งค่าคะแนนเฉลี่ยที่ลดลงบ่งชี้ถึงการมีการคลื่นไหวที่ดีขึ้น
2. การดูแลตนเอง ผลการวิเคราะห์พบว่าค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตด้านการดูแลตนเอง ค่าคะแนนเฉลี่ยในกลุ่มทดลองเท่ากับ 1.54, 1.42, 1.34, 1.43 ตามลำดับมีแนวโน้มลดลง มากกว่ากลุ่มควบคุมเท่ากับ 1.76, 1.76, 1.50, 1.59ตามลำดับ ซึ่งค่าคะแนนเฉลี่ยที่ลดลงบ่งชี้ถึงการดูแลตนเองที่ดีขึ้น
3. กิจกรรมที่ทำเป็นประจำ ผลการวิเคราะห์พบว่าค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตด้านกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ ค่าคะแนนเฉลี่ยในกลุ่มทดลองเท่ากับ 1.80, 1.54, 1.60, 1.51 ตามลำดับมีแนวโน้มลดลง มากกว่ากลุ่มควบคุมเท่ากับ 2.08, 1.94, 1.81, 1.70 ตามลำดับ ซึ่งค่าคะแนนเฉลี่ยที่ลดลงบ่งชี้ถึงกิจกรรมที่ทำเป็นประจำที่ดีขึ้น
4. อาการเจ็บปวด/อาการไม่สบายตัว ผลการวิเคราะห์พบว่าค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตด้านอาการเจ็บปวด/อาการไม่สบายตัว ค่าคะแนนเฉลี่ยในกลุ่มทดลองเท่ากับ 3.00, 2.46, 2.00, 1.83 ตามลำดับมีแนวโน้มลดลง มากกว่ากลุ่มควบคุมเท่ากับ 2.92, 2.70, 2.42, 2.30ตามลำดับ ซึ่งค่าคะแนนเฉลี่ยที่ลดลงบ่งชี้ถึงอาการเจ็บปวด/อาการไม่สบายตัว ที่ดีขึ้น
5. ความวิตกกังวลและความซึมเศร้า ผลการวิเคราะห์พบว่าค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตด้านความวิตกกังวลและความซึมเศร้า ค่าคะแนนเฉลี่ยในกลุ่มทดลองเท่ากับ 3.00, 2.46, 2.00, 1.83 ตามลำดับมีแนวโน้มลดลง มากกว่ากลุ่มควบคุมเท่ากับ 2.92, 2.70, 2.42, 2.30ตามลำดับ ซึ่งค่าคะแนนเฉลี่ยที่ลดลงบ่งชี้ถึงความวิตกกังวลและความซึมเศร้าดีขึ้น
ผลการวิเคราะห์ค่าคะแนนอรรถประโยชน์เฉลี่ย
ในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมตั้งแต่เริ่มต้นการรักษา และทำการประเมินคุณภาพชีวิตซ้ำในสัปดาห์ที่ 4-12 สอดคล้องกับข้อสรุปข้างต้นที่คุณภาพชีวิตของกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาวิจัยทดลองทางคลินิกดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับค่าคะแนนอรรถประโยชน์ที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในกลุ่มทดลองเท่ากับ .63, 76, .81, .83 ตามลำดับ และกลุ่มควบคุม .65, .68, .75, .75 ตามลำดับ
ข้อมูลเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดกับระบบผิวหนัง
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดกับระบบผิวหนังสำหรับการวิจัยทดลองทางคลินิกทั้งในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมตลอดระยะเวลาทำการศึกษาวิจัยเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า
กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มส่วนมากไม่มีอาการไม่พึงประสงค์หรืออาการข้างเคียงจากกัญชาทางการแพทย์ตำรับเมตตาโอสถและยาหลอก พบว่า ไม่มีเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เท่ากันทั้ง 2 กลุ่ม ร้อยละ 90.0 เกิดอาการไม่พึงประสงค์ในระดับเล็กน้อยเพียงร้อยละ 10.0 ซึ่งพบความผิดปกติคล้ายคลึงกันดังนี้
1. กลุ่มทดลองที่ได้รับกัญชาทางการแพทย์ตำรับเมตตาโอสถ มีอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดกับระบบผิวหนัง ดังนี้
(1) Urticaria ร้อยละ 6.0
(2) Rash maculopapular ร้อยละ 4.0
(3) Erythroderma,
(4) Pain of skin,
(5) Rash maculopapular ร้อยละ 2.0
2. กลุ่มควบคุมที่ได้รับยาหลอก (น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น) อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดกับระบบผิวหนัง ดังนี้
(1) Urticaria ร้อยละ 6.0
(2) Pain of skin ร้อยละ4.0
(3) Rash maculopapular,
(4) Erythroderma,
(5).Rash maculopapular ร้อยละ 2.0
เอกสารอ้างอิง:
[1] วิชัย เอกพลากร. (บก.). รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562 - 2563.นนทบุรี: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข. 2564. Available at: https://tinyurl.com/ymka533 (Accessed 18 กันยายน 2566)
[2] สำนักสารนิเทศ. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. ข่าวในรั้ว สธ.วันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 Available at: https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/181256/ (Accessed 18 กันยายน 2566)
[3] McDermott K, Fang M, Boulton AJM, Selvin E, Hicks CW. Etiology, Epidemiology, and Disparities in the Burden of Diabetic Foot Ulcers. Diabetes Care. 2023 Jan 1;46(1):209-221. doi: 10.2337/dci22-0043. PMID: 36548709.
[4] ธนากร ธนามี. การศึกษาระบาดวิทยาและลักษณะของผู้ป่วยเท้าเบาหวานความเสี่ยงสูงและผลการดำเนินงานของคลินิกเท้าเบาหวานที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลน่าน. เชียงรายเวชสาร. 2566;15(2):66-74. (พบถูกตัดเท้า 81.5 %)
Available at: https://he01.tci-thaijo.org/index.php/crmjournal/article/download/259646/178760/1098532
(Accessed 18 กันยายน 2566)
[5] Sarinnapakorn V, Sunthorntepwarakul T, Deerochanawong C, Niramitmahapanya S, Napartivaumnuay N. Prevalence of diabetic foot ulcers and risk classifications in type 2 diabetes mellitus patients at Rajavithi Hospital. J Med Assoc Thai. 2016;99 Suppl 2:S99-105.(พบถูกตัดเท้า 20.6%)
[6] Sareekam M, Makboon K. Clinical outcome of diabetic foot clinic at the department of physical medicine and rehabilitation Saraburi Hospital. Res Dev Health Syst J. 2021;14(3):246– 59.(พบถูกตัดเท้า 39.2%)
[7] Tantisiriwat N, Janchai S. Common foot problems in diabetic foot clinic. J Med Assoc Thai. 2008 ;91(7):1097–101.(พบถูกตัดเท้า 32%)
[8] Seevathee K, Kessomboon P, Manimmanakorn N, Luangphimai S, Thaneerat T, Wanaratna K, Plengphanich S, Thaenkham T, Sena W. Efficacy and safety of transdermal medical cannabis (THC: CBN: CBD formula) to treat painful diabetic peripheral neuropathy of Lower Extremities. Arch Med Res. 2023; 54(7). (Accepted to publish, In press)
[9] กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. แนวทางเวชปฏิบัติการใช้น้ำมันกัญชาทางการแพทย์ ตำรับเมตตาโอสถและการุณย์โอสถ. นนทบุรี: กระทรวงสาธารณสุข. Available at: https://tinyurl.com/3cvkn2xv (Accessed 18 กันยายน 2566)