นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำทีมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติโดยไทยพีบีเอส และภาคีเครือข่าย ร่วมกิจกรรมเสวนา Bangkok Car Free 2023 “อุปสรรค โอกาส อนาคต” ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ สวนเบญจกิติ ที่จะให้เราได้ทราบถึงนโยบายและแนวทางการ พัฒนา ส่งเสริม เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น เช่น การปรับปรุงถนน ทางเท้า การติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง การพัฒนาระบบFeeder การพัฒนาเส้นทางจากบ้าน (เส้นเลือดฝอย) - ระบบขนส่งมวลชนหลัก และ จากระบบขนส่งมวลชนหลัก-ที่ทำงาน First mile - Last mile เพื่อเปลี่ยนกรุงเทพฯให้เป็นเมืองปั่นได้ ปั่นดี เป็นเมืองหลวงจักรยานแห่งหนึ่งของโลก
“เรื่องของCar Free Day ที่เราอยากจะให้เป็น Car Free Everyday ถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่อยากให้การจัดงานครั้งนี้เป็นแค่เรื่องของการสร้างภาพ แต่อยากให้เป็นเรื่องของการวางยุทธศาสตร์ของ Car Free Everyday จริงๆ ทั้งนี้ปัญหา อุปสรรคที่ทำให้คนกรุงเทพฯเลือกใช้รถหรือไม่ ไม่ใช่จากเส้นทางหลัก แต่ปัญหาคือการเดินทางจากบ้านไปยังเส้นทางหลัก หรือจากเส้นทางหลักไปยังที่ทำงาน ถือเป็นLast mile ที่เป็นหน้าที่ของเมืองโดยตรง เพราะเมืองต้องดูแลเส้นเลือดฝอย ส่วนเส้นทางหลักจะมีกระทรวงคมนาคม การรถไฟ หรือขสมก.ดูแลอยู่แล้ว”
“นโยบายกรุงเทพเมืองเดินได้ที่เราทำมาตลอด 1 ปี การทำทางเท้าให้คนเดินได้ การมีไฟฟ้าแสงสว่างเพื่อให้คนปลอดภัย ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของCar Free Day อีกสิ่งสำคัญคือราคาต้องเหมาะสม กทม.อาจต้องเข้าไปช่วยเรื่องการทำFeeder การเชื่อมต่อPoint to Point ขอให้เป็นยุทธศาสตร์ที่ผู้บริหารต้องดำเนินการ”ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
• นโยบายBicycle Corridor สู่ “อนาคต” ของกรุงเทพฯ
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมพูดถึงนโยบายเส้นเลือดฝอยการปรับปรุงทางเดิน-ทางจักรยาน เพื่อให้เป็น First mile-Last mile เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร
“กิจกรรมCar Free 2023 ครั้งนี้จะไม่มีคำว่า Day เพราะเจตนาของเราอยากให้เกิดผลมากกว่าวันเดียว งานวันนี้เกิดขึ้นได้มีหลายองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อาสาสมัครที่มาจากหลายเขตเพื่อร่วมสำรวจพื้นที่ ทีมงานของกทม.สำนักงานเขตและข้าราชการกรุงเทพมหานครที่ทำงานหนักในการปรับปรุงพื้นที่และแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน ธีมงานวันแรกคืออุปสรรค วันต่อมาคือโอกาส และธีมของวันนี้คืออนาคต ซึ่งได้รวบรวมมาทั้งหมด นโยบายจักรยานที่ดูแลอยู่ หนึ่งในนโยบาย 216 คือ มีข้อหนึ่งคือการทำ Bicycle Corridor การทำเส้นทางใหญ่ของจักรยาน หลายเมืองมีการทำเส้นทางจักรยานครบทุกทิศทาง เป็นเส้นทางแมงมุมทั้งเมือง แต่ของกรุงเทพฯอาจมีเส้นหลักคือคลองแสนแสบ ปัจจุบันสำนักการระบายน้ำได้เตรียมงบประมาณเพื่อปรับปรุงเส้นทางนี้ทั้งสายแล้ว และคาดว่าปี 67 จะแล้วเสร็จเพื่อเป็นเป็นทางหลักในทิศตะวันออก สำหรับเส้นทางทิศเหนือ เลียบด่วน อุปสรรคคือการตัดผ่านของถนน ซึ่งจะมีการปรับปรุงและจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม Bicycle Corridor อีกเส้นทางหนึ่งที่น่าสนใจและอยู่ในแผนการปรับปรุง คือเส้นทางคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งมีสะพานอยู่8 จุด และจะมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อทำทางลอดเพื่อเชื่อมเส้นทางให้ทะลุถึงกันได้อย่างต่อเนื่อง”
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่เรามี Bicycle Corridor ครบแล้ว Bicycle District จะเป็นการทำงานในระยะสุดท้ายของเรา โดยผลงานการสำรวจซึ่งได้มาจากการทำงานของอาสาสมัครในวันนี้ ทั้ง 243 เส้นทาง ระยะทาง 642.43 กิโลเมตร อุปสรรครวม 887 จุด ถือเป็นความร่วมมือที่สำคัญ และเป็นความหวังที่จะทำให้ Car Free ไม่ใช่แค่วันนี้เพียงวันเดียว แต่จะเป็นการปรับปรุงทั้งเมือง เพื่อทำให้นโยบาย Last mile เกิดขึ้นได้จริงๆ
โดยในปี 66 กรุงเทพมหานครได้แก้ไขปัญหาทางเท้าไปแล้ว 129 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการแก้ไขเพิ่มเติมอีก 87 กิโลเมตร ปี 67 เป้าหมายแก้ไขเพิ่มเติม อีก 157 กิโลเมตร ใน 35 เส้นทาง ซึ่งการดำเนินการจะมีทั้งการเพิ่มคอนกรีตเสริมเหล็กในทางเท้า การเปลี่ยนไฟฟ้าส่องสว่างเป็น LED การให้บริการBRT การขยายเส้นทางและการเพิ่มความถี่ การให้บริการ Feeder เดิม 4 เส้นทาง เพิ่มอีก 1 เส้นทาง การปรับปรุงศาลาที่พักผู้โดยสาร การทำCover walkway ทางเดินเลียบคลอง และการทำทางเดินลอยฟ้า
• 6 กลุ่มเขตจูงมืออาสา สำรวจปัญหา อุปสรรคเส้นทาง First mile/Last Mile ในระดับเส้นเลือดฝอย
ผู้แทนกลุ่มเขต 6 กลุ่มเขต นำเสนอผลการสำรวจเส้นทาง ปัญหา อุปสรรค แนวทางแก้ไข และเป้าหมายปรับปรุงเส้นทาง First mile/Last Mile เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางสะดวก ปลอดภัย โดยร่วมกับอาสาสมัครปั่นจักรยานเพื่อสำรวจพื้นที่ในระดับเส้นเลือดฝอย ดังนี้
1.กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ ระยะทางรวม 38.57 กทม. อุปสรรครวม 46 จุด ปัญหาที่พบในถนนสายหลัก อาทิ ถนนเทพรักษ์ ถนนสรงประภา ปัญหาอุปสรรค คือ ทางเท้ามีปัญหาทางลาดชำรุด ทางแยก สัญญาณไฟ น้ำท่วมขัง ซึ่งเส้นทางส่วนใหญ่เป็นทางเชื่อมไปยังระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสีแดง และเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างชุมชนออกมายังสถานีรถไฟและท่าเรือ โดยสำนักงานเขตได้แก้ไขปัญหาที่พบทันที แต่ปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้จะขอจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขต่อไป ทั้งนี้อาสาสมัครที่ร่วมสำรวจเส้นทางได้เสนอให้เขตแก้ไขเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่จะหันมาใช้จักรยานเป็นทางเลือกด้วย
2.กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ ระยะทางรวม 65.59 กิโลเมตร อุปสรรครวม 141 จุด ปัญหาที่พบคือ ทางเท้าไม่เรียบ ขรุขระ ไม่มีทางลาดสำหรับจักรยาน สำหรับผิวจราจรพบปัญหาจากร่องของฝาตะแกรงท่อระบายน้ำที่อันตรายสำหรับผู้ที่ขี่จักรยาน อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุล้มได้ ซึ่งหากปรับให้เป็นทางเรียบได้จะทำให้ประชาชนผู้ขี่จักรยานปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้อาสาสมัครได้เสนอให้ขีดเส้นช่องทางสำหรับจักรยานในหลายพื้นที่โดยให้เขตพิจารณาดำเนินการให้เหมาะสม
3.กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง ระยะทางรวม 83.16 กิโลเมตร อุปสรรครวม 101 จุด ปัญหาที่พบคือ สิ่งกีดขวางทางเท้า ขาดจอดที่จอดรถจักรยาน บ่อพักท่อระบายน้ำ ทางเท้าแคบ ขาดทางเท้า ทางม้าลาย ทางลาด ทั้งนี้ข้อดีในพื้นที่คือมีระบบขนส่งทั้งล้อ ราง เรือ ซึ่งจะเชื่อมพื้นที่รอบนอกเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯชั้นในได้ ที่ผ่านมาเขตได้แก้ไขปัญหาไปบางส่วนแล้ว สำหรับข้อเสนอแนะของอาสาสมัครคือขอให้ปรับปรุงเส้นทางจักรยาน การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างเส้นทางจักรยาน การเพิ่มทางลาดให้ต่อเนื่อง
4.กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก ระยะทาง56.64 อุปสรรครวม 105 จุด ปัญหาที่พบคือ สัญญาณจราจร ทางเท้าแคบ พื้นที่การก่อสร้างรถไฟฟ้า รางระบายน้ำ ทางต่างระดับ กลุ่มเขตได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีบางส่วนที่ต้องรอการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งทุกเขตจะเร่งดำเนินการให้ทันที นอกจากนี้อาสาสมัครได้เสนอให้กรุงเทพมหานครรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้ขับขี่รถยนต์ลดความเร็วลง เพื่อให้ประชาชนที่สัญจรปลอดภัยมากขึ้น
5.กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ ระยะทาง 47.64 กิโลเมตร อุปสรรครวม127 จุด เนื่องจากสภาพพื้นที่มีความแตกต่างกันมากทั้งพื้นที่สีเขียว ชุมชนเก่า จึงมีกลุ่มนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ปัญหาที่พบคือเส้นจราจรไม่ชัดเจน ไม่มีป้ายบอกเส้นทางลัด ขอบฟุตบาทและผิวจราจรมีความสูงต่างกันมาก นอกจากนี้อาสาสมัครได้เสนอให้กรุงเทพมหานครยกเลิกการใช้ท่อระบายน้ำร่องตัววีเพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่จักรยาน
6.กลุ่มเขตกรุงธนใต้ ระยะทาง 30.77 กิโลเมตร อุปสรรครวม 100 จุด ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชุมชนและที่อยู่อาศัย ปัญหาที่พบคือ ความปลอดภัยของทางเท้า ถนน หากนำสาธารณูปโภคออกจากทางเท้าอาจจะทำให้การสัญจรสะดวกขึ้น ปัญหาการขาดเส้นจราจรและชัดเจน การเชื่อมต่อทุกเส้นทางไปยังFeeder จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการเดินทางให้กับประชาชนได้มากขึ้น
จากนั้น เป็นการเสวนา ในหัวข้อ ทำไม Bangkok ต้อง Car Free… ทำอีกกี่ปีถึงจะได้? โดยมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ร่วมเสวนาในประเด็น และการเสวนาหัวข้อ Bangkok : Breathable city to Livable city กรุงเทพฯ สู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ผู้คนหายใจได้ โดย Greenpeaceและ ThaiPBS