เปิดโมเดล R8 Anywhere ใช้บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกโรคทุกที่ใน รพ. 88 แห่ง ใน 7 จังหวัดของเขตสุขภาพที่ 8 ทำมาแล้ว 2 ปี ส่งข้อมูลผู้ป่วยขึ้นคลาวด์ รพ.ทุกแห่งดึงข้อมูลได้ทันที รับยังมีปัญหาเรื่องเคลมเงินได้ไม่ครบทุกรายการ ชูเป็นต้นแบบขยายทั่วประเทศตามนโยบาย "ชลน่าน" เร่งพัฒนาระบบเคลม เพิ่มศักยภาพ รพ.ทุกระดับ ลดผู้ป่วยไป รพ.ใหญ่
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวถึงระบบการใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารักษาทุกที่ในเขตสุขภาพที่ 8 (R8 Anywhere) ซึ่งประกอบด้วย อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู เลย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม ว่า R8 Anywhere ดำเนินการมาแล้วราว 2 ปี ประชาชนที่มีสิทธิ 30 บาทหรือบัตรทอง สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับการรักษาได้ทุกโรคใน รพ.สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 88 แห่ง ใน 7 จังหวัดของเขตสุขภาพที่ 8 ตั้งแต่ รพ.สต. รพ.ชุมชน รพ.ทั่วไป และ รพ.ศูนย์ เนื่องจาก รพ.ทุกแห่งได้นำข้อมูลของผู้ป่วยอัปโหลดไว้ในระบบคลาวด์ (Cloud) ข้อมูลจึงเชื่อมกันทั้งหมด ทำให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เหมือนกันทั้ง 88 แห่ง เมื่อคนไข้ไปรับบริการที่ รพ.ใด แพทย์ก็สามารถเรียกดูข้อมูลและประวัติการรักษาของคนไข้ใน รพ.อื่นได้ อนาคตก็จะพัฒนาเชื่อมข้อมูลกับสถานพยาบาลสังกัด สธ.ที่อยู่ในกรมอื่นด้วย เช่น ศูนย์มะเร็ง หรือรพ.จิตเวช เป็นต้น
"บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ที่เป็นนโยบายของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ที่ต้องการขยายทั่วไปนั้น เขตสุขภาพที่ 8 ทำทั้งเขตอยู่แล้ว ถือเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปขยาย โดยคนไข้ไปรับการรักษาที่ รพ.อื่นที่เป็น รพ.นอกสิทธิ ไม่ต้องมีใบส่งตัว และไม่เรียกเก็บเงินจากคนไข้ เรียกว่าระบบ 2 ม. หรือ 2 ไม่ จากช่วงแรกเริ่มจากมะเร็ง ขยับมาเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน และตอนนี้ใช้กับทุกโรค เพราะบางครั้งคนไข้ไปทำงานอยู่ที่อื่น ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของรพ.ที่ระบุไว้ตามสิทธิ ซึ่งสิทธิ 30 บาทก็ควรจะเหมือนสิทธิข้าราชการที่ไปรักษาที่ไหนก็ได้ทั่วไทย เพียงแต่สิทธิข้าราชการข้อมูลยังไม่มีการเชื่อมกัน" นพ.ปราโมทย์กล่าว
นพ.ปราโมทย์กล่าวว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการนำระบบไอทีมาใช้ ด้วยการพัฒนาระบบยืนยันตัวตนของคนไข้เหมือนกับธนาคาร เพื่อจะได้นำข้อมูลการรักษาพยาบาลของแต่ละคนที่เข้ารับบริการในรพ.แต่ละแห่ง ส่งกลับมายังตัวคนไข้ ทำให้รับทราบได้ว่า ตนเองเคยเข้ารับบริการรักษาที่ไหน ได้รับยาอะไร เป็นการคืนข้อมูลกลับให้กับคนไข้ สมมติคนไข้มารักษาที่ รพ.หนองคาย แพทย์ก็สามารถดูข้อมูลที่คนไข้เคยรักษาที่ รพ.โพนพิสัยได้ ทำให้ไม่ต้องมาใช้เวลาในการตรวจซ้ำซ้อนอีกในบางรายการ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วย คือ การพัฒนาเพิ่มศักยภาพของ รพ.ในทุกระดับตั้งแต่ รพ.สต. ถึง รพ.ศูนย์ให้มากขึ้นด้วย เพื่อรองรับการให้บริการ
ทั้งนี้ ตั้งแต่ดำเนินการ อาจจะมีปัญหาบ้างในเรื่องระบบเคลมหรือเบิกงบประมาณ เมื่อมีการส่งเบิกกรณีคนไข้รักษาใน รพ.นอกสิทธิกับ สปสช.หากส่งไป 100 อาจจะได้ราว 60-70% บางส่วนไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องของระบบข้อมูลที่ส่งเบิกแล้วไม่ได้ทั้งหมด อาจเกิดขึ้นจากการระบุข้อมูลไม่ครบถ้วน ขณะนี้สธ.กำลังพัฒนาระบบที่เรียกว่า Moph Claim NHSO เพื่อให้ รพ.ส่งข้อมูลเข้าระบบนี้มาที่ สธ.เพื่อทำการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลให้ก่อนส่งเคลม โดยเงินที่เบิกได้ สปสช.ก็จะส่งไปยังรพ.โดยตรง
ด้าน ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผอ.สปสช. เขต 8 กล่าวว่า R8 Anywhere เริ่มจากที่ผู้ตรวจฯ มอบหมายให้รพ.ทุกแห่งในเขตนำข้อมูลที่รักษาคนไข้อัปโหลดขึ้นสู่ระบบคลาวด์ทั้งหมด และ สปสช.ไปพิจารณาเรื่องการเบิกจ่ายเงินกรณีที่คนไข้ไปรักษาใน รพ.นอกสิทธิ ส่งผลให้ไม่ว่าคนไข้ไปรักษาที่ไหน แพทย์ก็จะรู้ประวัติการรักษาทั้งหมดของคนไข้ และดึงข้อมูลจากคลาวด์ได้ ซึ่งระบบคลาวด์นี้หน่วยงานรัฐสามารถใช้ได้ฟรีตามความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีคนดูแลระบบ ขณะเดียวกัน รพ.ที่คนไข้ไปรักษาก็สามารถเบิกค่ารักษาได้จาก สปสช. เพราะฉะนั้น โมเดลที่เขต 8 ดำเนินการนี้สามารถขยายใช้งานได้ทั่วประเทศ ส่วนกรณีที่คนไข้เข้ารับการรักษานอกสิทธิ รพ.แบบใช้บัตรประชาชนใบเดียว สปสช.จะเป็นผู้จ่ายเงินตรงให้กับ รพ. ไม่ใช่ รพ.ต้นสังกัดตามไปจ่าย ซึ่ง สปสช.จะจ่ายเงินกรณีนี้ให้ รพ.เป็นแบบ Per Visit เป็นรายการที่เข้ารับการรักษา ถ้าเป็นผู้ป่วยที่นอน รพ.จะเป็นแบบ DRG โดยเมื่อ รพ.บันทึกข้อมูลเข้าระบบ สปสช.ก็จะมาดึงข้อมูลส่วนนี้และจ่ายเงินให้กับ รพ. ซึ่งจะมีการจัดสรรงบประมาณแต่ละปีไว้รองรับ เรียกว่า OP Anywhere ราว 300 ล้านบาท บางก้อนจะไว้ที่ส่วนกลางและบางก้อนจัดสรรไว้ที่เขต ซึ่งเขต 8 จะนำมาราว 70-80 ล้านบาท
“จากที่เขตสุขภาพที่ 8 ดำเนินการมา เจอกรณีที่คนไข้เลือกไปรับบริการเฉพาะที่ รพ.ใหญ่อยู่บ้าง แต่น้อยมาก เพราะ สธ.มีการพัฒนา รพ.ดีจนคนไข้รับรู้ได้ว่า ทำไมต้องไป รพ.นั้น ในเมื่อ รพ.ใกล้บ้านก็สามารถรักษาได้ คนไข้ไม่ได้อยากไปรอคิวนานที่ รพ.ใหญ่หากไม่จำเป็น จะเลือกไปรับการรักษาที่รพ.ไม่ใหญ่ที่รอคิวไม่นาน หากมีแพทย์รักษาได้เหมือนกัน” ทพ.กวีกล่าว