สธ.ห่วงช่วงหน้าฝนเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น จากถนนลื่น ทัศนวิสัยไม่ดีพอ ย้ำ ตรวจเช็กสภาพรถก่อนเดินทาง แนะ 7 วิธีขับขี่ปลอดภัยช่วงฝนตกหรือมีน้ำขัง ลดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ
เมื่อวันที่ 26 ส.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงฤดูฝน หลายพื้นที่มีฝนตกค่อนข้างหนัก ทำให้ทัศนวิสัยในการขับขี่ไม่ดีพอ และหากขับรถด้วยความเร็วจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงรถลื่นไถล บังคับรถไม่อยู่ ซึ่งจากรายงานของกองสาธารณสุขฉุกเฉินพบว่า ช่วงนี้มีรายงานการเกิดเกิดอุบัติเหตุทางถนนบ่อยครั้ง หลายเหตุการณ์มีผู้บาดเจ็บต้องนำส่งรักษาที่ รพ.จำนวนมาก บางเหตุการณ์ถึงขั้นเสียชีวิต เช่น เมื่อช่วงเช้าวันที่ 25 ส.ค. 2566 เกิดเหตุรถกระบะบรรทุกคนงานยางระเบิดพลิกคว่ำบริเวณหน้าด่านศุลกากร ถนนสาย 317 จันทบุรี-สระแก้ว ต.ปัถวี อ.มะขาม จ.จันทบุรี ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บเบื้องต้น 14 ราย นำส่งรักษาที่ รพ.มะขาม ในจำนวนนี้มีอาการสาหัส 1 ราย ดังนั้น ขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะในช่วงฤดูฝน โดยก่อนเดินทางให้ตรวจสอบสภาพรถและอุปกรณ์ต่างๆ ว่ามีความพร้อมต่อการขับขี่ เช่น ที่ปัดน้ำฝน ระบบไฟฟ้า ระบบยาง และระบบเบรก เป็นต้น
นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะฝนตกหรือถนนเปียก ไม่ควรขับรถเร็ว โดยเฉพาะช่วงที่ฝนตก 10 นาทีแรก รถจะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้มาก เนื่องจากน้ำฝนจะชะล้างคราบน้ำมันและฝุ่นละอองเกิดเป็นคราบฉาบอยู่บนผิวถนน ส่งผลให้รถลื่นไถลและเสียหลักจนเกิดอุบัติเหตุได้ สำหรับวิธีขับขี่ให้ปลอดภัยช่วงฝนตกและมีน้ำท่วมขังบนถนน คือ 1. ลดความเร็วการขับขี่ลงกว่าระดับปกติ เนื่องจากพื้นถนนที่เปียก รถจะใช้ระยะเบรกเพิ่มขึ้น ควรใช้ความเร็วให้เหมาะสมกับสภาพถนนและระยะในการมองเส้นทาง จะช่วยให้สามารถควบคุมรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. เปิดไฟต่ำ เพื่อให้มองเห็นสิ่งต่างๆ บนถนนได้ชัดเจนขึ้น และรถคันอื่นมองเห็นรถของเราได้ในระยะไกล 3. ปรับระดับความเร็วของใบปัดน้ำฝนให้สัมพันธ์กับความแรงของฝน เพื่อช่วยให้มองเห็นเส้นทางได้ตลอดเวลา 4. เว้นระยะห่างจากท้ายรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ อย่างน้อย 10-15 เมตร เพื่อให้มีระยะเบรกที่เพียงพอและปลอดภัย 5. หลีกเลี่ยงการแซง หากจำเป็นควรประเมินสถานการณ์ให้ดีก่อนแซง 6. กรณีที่รถลื่นไถลหรือเหินน้ำ ไม่ควรเหยียบเบรกจนล้อหยุดหมุนทันที อาจทำให้รถพลิกคว่ำได้ ควรใช้เกียร์ต่ำและค่อยๆ เบรก เพื่อลดความเร็ว แล้วจึงค่อยเหยียบเบรกเพื่อหยุดรถ และ 7. เมื่อต้องขับรถผ่านถนนที่มีน้ำท่วมขัง ขอให้หยุดประเมินสถานการณ์ก่อน หากระดับน้ำสูงกว่าขอบประตูรถ ไม่ควรขับฝ่าไป ให้เลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นแทน