เมื่อเร็ว ๆ นี้ชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะแห่งประเทศไทย รพ. จุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทยและสไมล์ ไมเกรน ชุมชนชาวไมเกรนออนไลน์ได้ร่วมกันจัดงานเสวนา“ใส่ใจ ไมเกรน Migraine Matters” เพื่อสร้างความตระหนักและใส่ใจโรคไมเกรน โดยในงานเป็นกิจกรรมการแบ่งปันความรู้เรื่องเกี่ยวกับโรคที่เกิดจากสมอง ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเป็นประธานในการเปิดงานเสวนา พร้อมกันนี้ยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคสมองและโรคปวดศรีษะ ได้แก่ ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช ผศ.นพ.เสกข์ แทนประเสริฐ นพ.สุรศักดิ์ โกมลจันทร์ อ.นพ.ประกิต อนุกูลวิทยา ผศ.นพ.จรุงไทย เดชเทวพร และ อ.นพ.วนกร รัตนวงษ์ มาอธิบายถึงการรู้ถึงโรค ไมเกรน การจัดการอาการโรคไมเกรนได้อย่างไร และการป้องกันไมเกรนด้วยตัวเอง ตลอดจนผู้เข้าร่วมงานสามารถซักถามข้อสงสัยของโรคจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และยังได้พบกับชาวไมเกรนรับเชิญ คุณ วิศาล ดิลกวณิช นักคิดวิเคราะห์และนักข่าวที่จะมาแชร์ ประสบการณ์ไมเกรนกับอาชีพ มือถือไมค์ ไฟส่องหน้า และคุณสินีนาถ ศรีสินอำไพ ที่เป็นไมเกรนถึง 15 ปีจนปลอดไมเกรน แชร์ในเรื่องการดูแลตัวเองให้ปลอดจากการภาวะปวดศรีษะ การใช้ยาและการใช้ชีวิตสู้โรคไมเกรนอย่างไร ให้สำเร็จอีกด้วย
ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช ประธานชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “โรคไมเกรนเป็นโรคที่พบได้บ่อยและมีผลกระทบสูง ในประชากร 7 คน จะพบคนเป็นไมเกรน 1 คน ซึ่งนั่นทำให้มีการประมาณการว่าในประเทศไทยมีคนเป็นโรคไมเกรนถึง 10 ล้านคน โดยโรคไมเกรน มักพบในคนวัยทำงานเป็นผลให้ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง หรือต้องหยุดงาน จึงทำให้เกิดความสูญเสียด้านเศรษฐกิจในระดับครอบครัวและประเทศ เป็นโรคที่เกิดความทุพลภาพ เป็นอันดับหนึ่งหรือสองในกลุ่มคนทำงานมาตลอดทุกปี แต่การรักษาเพื่อลดผลกระทบของโรคก็ยังไม่ดีพอ ทั้งยังขาดการเข้าใจโรค การดูแลตัวเองที่ถูกต้อง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะติดยาแก้ปวด และมีโอกาสปัญหาสุขภาพอื่น ๆเพิ่มขึ้น และยังมีการเข้าถึงแพทย์และยาที่ยังไม่เหมาะสม เราจึงต้องรีบแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ งานใส่ใจ ไมเกรน Migraine Matters เป็นหนึ่งในพันธกิจของชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะภายใต้สมาคมศึกษาโรคปวดศีรษะแห่งประเทศไทย โดย ทางชมรมจะดำเนินการ 3 เรื่องในปีนี้ ได้แก่
1. การสร้างความตระหนักและให้ข้อมูลการดูแลรักษาโรคไมเกรนให้ถูกต้อง ผ่านงานเสวนา "ใส่ใจ ไมเกรน Migraine matters" ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย
2. การเปิดตัว Campaign "More pills, More pain" ยิ่งกินยา ยิ่งปวดหัว เพื่อจัดการกับโรคปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาด (Medication Overused Headache, MOH) ซึ่งรณรงค์ ไปพร้อมกับ สมาคมโรคปวดศีรษะนานาชาติ (International Headache Society, IHS)
3. การตั้งชมรมไมเกรนแห่งประเทศไทย หรือ Migraine Club Thailand เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในการสู้กับโรคไมเกรน
การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นการสร้างความตระหนักและใส่ใจไมเกรน (Migraine Awareness Month) มาเผยแพร่กับประชาชนคนไทยให้มีความรู้เชิงลึกของโรค โดยร่วมกับ สไมล์ ไมเกรน ชุมชนไมเกรนออนไลน์ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเครือข่ายผลิตภัณฑ์ที่รักษาไมเกรนเพื่อนำไปเป็นความรู้ในการดูแลและเป็นแนวทางในการรักษาให้หายไกลจากโรค เพื่อส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี เพราะเราเชื่อว่าชีวิตที่ปลอดโรคจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนคนไทยทุกคน”
สามารถติดตามข้อมูลของโรคปวดศีรษะได้ทางเฟซบุ๊กเพจ "Thai Headache Society ชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะแห่งประเทศไทย