xs
xsm
sm
md
lg

WHO FCTC เยือนไทย ประเมินควบคุมยาสูบ ชู สสส.ต้นแบบ ลดอัตราบริโภคยาสูบเหลือ 17% ใน 10 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



WHO FCTC เยือนไทย ชู สสส.ต้นแบบสร้างกลไกภาคีเครือข่ายควบคุม "ยาสูบ" กว่า 2 ทศวรรษ มีประสิทธิภาพ ลดอัตราบริโภคยาสูบไทยจาก 26% เป็น 17% ในระยะเวลา 10 ปี เตรียมประเมินผลด้านวิชาการและการเงิน พร้อมให้ข้อเสนอแนะ

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ดร.เอเดรียน่า บลังโก มาร์กิโซ หัวหน้าสำนักเลขาธิการอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบ นำทีมผู้แทนกรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (WHO-FCTC) ประชุมทวิภาคีร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้กิจกรรม “การประเมินความต้องการเพื่อการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญา WHO FCTC ในประเทศไทย


ดร.เอเดรียน่า กล่าวว่า สสส. เป็นองค์กรสำคัญของไทยและระดับสากล เป็นกลไกสำคัญจุดประกาย สาน เสริมพลัง และสนับสนุนการขับเคลื่อนควบคุมยาสูบร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนมากว่า 2 ทศวรรษ การมาเยือนไทยครั้งนี้ก็เพื่อทบทวนกฎหมาย ยุทธศาสตร์ นโยบาย มาตรการควบคุมยาสูบของไทยและประเมินความจำเป็น ทั้งด้านวิชาการและการเงิน ให้เกิดข้อเสนอแนะต่อพัฒนาการดำเนินการของไทยตามกรอบอนุสัญญาฯ ให้มีความเข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป


ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส.ขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องตั้งแต่ก่อตั้ง ส่งผลให้ไทยประสบความสำเร็จลดอัตราบริโภคยาสูบจาก 25.5% ในปี 2544 มาเป็น 17.4% ในปี 2564 มีอัตราภาษียาสูบเทียบกับราคาขายปลีกในระดับสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เป็น 85% ของพื้นที่ซอง ห้ามนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มอายุขั้นต่ำเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบเป็นอย่างน้อย 20 ปี ไทยยังเป็นประเทศแรกในเอเชียและประเทศที่มีรายได้ปานกลางที่บังคับใช้บรรจุภัณฑ์บุหรี่ซองเรียบ การประชุมครั้งนี้จึงมีความสำคัญในการ แลกเปลี่ยนเรื่องบทบาท บทเรียนความสำเร็จการของการทำงานควบคุมยาสูบของ สสส.และภาคี เสนอแนะเกี่ยวกับโอกาสในการพัฒนาการดำเนินงานระยะต่อไป เพื่อบรรลุกรอบอนุสัญญาฯ


น.ส.บังอร ฤทธิภักดี ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ Southeast Asia Tobacco Control Alliance (SEATCA) กล่าวว่า SEATCA ร่วมกับ สสส. จัดตั้งศูนย์ข้อมูลนานาชาติด้านระบบการเงินการคลังเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพแบบ Online โดยประมวลและสังเคราะห์ องค์ความรู้ ที่เกี่ยวกับนโยบาย กฎหมาย และบทเรียนจาก สสส. องค์การอนามัยโลก และองค์กรลักษณะคล้าย สสส. ในประเทศต่างๆ ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศที่สนใจ ร่วมพัฒนาขับเคลื่อนโครงการ “นวัตกรรมทางการเงินการคลังเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ” มุ่งส่งเสริมศักยภาพประเทศกำลังพัฒนา 10 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมพัฒนาความเข้มแข็งเพื่อผลักดันกฎหมายจัดตั้งกลไกการเงินการคลัง เพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืนโดยมี สสส.ไทย เป็นต้นแบบ




กำลังโหลดความคิดเห็น