xs
xsm
sm
md
lg

ม.ทักษิณผนึกกำลังเอเอฟเอส ประเทศไทย ร่วมพัฒนาพลเมืองโลกตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 มหาวิทยาลัยทักษิณจัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ มูลนิธิเอเอฟเอส ประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษาสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม (Intercultural Learning) ผ่าน AFS Global Competence Certificate บูรณาการการสอนเข้ากับรายวิชาต่าง ๆ เพื่อมีส่วนช่วยในการส่งเสริมให้นักศึกษามีทักษะด้านความฉลาดทางวัฒนธรรม (CQ: Cultural Intelligence) และก้าวสู่การเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ อีกทั้งเพื่อพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาและนักศึกษาให้มีองค์ความรู้และเข้าใจในการเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ และการเรียนรู้ผ่านประเด็นทางสังคมโลก ตลอดจนเพื่อให้บุคลากรทางการศึกษาและนักศึกษาตระหนักในความหลากหลายและความแตกต่างทางวัฒนธรรมในสังคม ตาม เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ ผู้อำนวยการใหญ่มูลนิธิเอเอฟเอส ประเทศไทย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้ง 2 หน่วยงานร่วมพิธี

รศ. ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยทักษิณมีเป้าหมายในการที่ก้าวสู่การเป็น the University of Glocalization ขยับอันดับโลกและจัดการในทุกพันธกิจตามเกณฑ์มาตรฐานสากล ผลักดันให้นิสิตและบุคลากรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันเราก็ไม่ทิ้งชุมชนและสังคมที่ถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ มหาวิทยาลัยทักษิณ “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ดังนั้น นิสิต บุคลากร และนักวิจัยในสาขาต่าง ๆ จะนำองค์ความรู้และความสามารถพัฒนาชุมชน และนำองค์ความรู้ใหม่ที่เกิดจากการบูรณาการระหว่างองค์ความรู้เดิมและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ระดับสากล

มหาวิทยาลัยทักษิณยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมให้มีความเป็นนานาชาติมากขึ้น อาทิเช่น การจัดกิจกรรมสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ทางภาษา การปรับสื่อต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเป็นสองภาษาทั้งระบบ การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ เป็นต้น และมากไปกว่านั้น เรายังให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม เรามุ่งที่จะขยับอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวอันจะเป็นการสนับสนุนการเรียนรู้และการพัฒนาที่ยั่งยืนของทั้งนิสิตและบุคลากรของมหาวิทยาลัยทักษิณอีกด้วย
การลงนามความร่วมมือกับ AFS ถือเป็นอีกหนึ่งมิติในการขยับขับเคลื่อนพันธกิจดังกล่าว เรียกได้ว่าเป็นอีกช่องทางคุณภาพในการพัฒนาตนเองของนิสิตและบุคลากรสู่ระดับสากล การมีพันธมิตรที่ดีเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการพัฒนาองค์กรของเรา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภายใต้ความร่วมมือนี้ มหาวิทยาลัยทักษิณจะสามารถสร้างประโยชน์ให้ทาง AFS เช่นเดียวกัน เชื่อมั่นเสมอว่าพลังแห่งมิตรภาพสามารถสร้างสรรค์พลังแห่งคุณภาพและประสิทธิภาพเสมอ”

ผศ. ดร.วัชรพจน์ กล่าวว่า “ตลอด 61 ปีที่ผ่านมา เป้าหมายที่เอเอฟเอส ประเทศไทย ให้ความสำคัญมาโดยตลอด คือ การสร้างพลเมืองโลกที่มีคุณภาพให้กับสังคมไทยและสังคมโลก ซึ่งปัจจุบันผลผลิตของเอเอฟเอส ประเทศไทย กระจายอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคมแล้วกว่า 22,000 คนที่เป็นผู้ผ่านการเข้าร่วมโครงการ ไม่ว่าจะเป็นนักการทูต นักธุรกิจ นักวิชาการ แพทย์ เป็นต้น เอเอฟเอส ประเทศไทย ไม่เพียงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาในระดับบุคคล แต่เรายังมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสังคมด้วยการพัฒนาและส่งเสริมการศึกษาระหว่างวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาพลเมืองโลก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDG) ของสหประชาชาติ”



เอเอฟเอส ประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาพลเมืองไทย ให้เป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพและมีศักยภาพ มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายในสังคมโลก รวมทั้งสร้างความเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรม โดยเริ่มจากการพัฒนาทักษะในระดับบุคคล ให้กลายเป็นกำลังหลักสำคัญในการสร้างเสริมสังคม และประเทศชาติ ให้ก้าวไปสู่สังคมแห่งความสงบสุขและเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน นอกจากนี้เอเอฟเอส ประเทศไทย ได้ขยายขอบเขตการดำเนินงานจากโครงการแลกเปลี่ยนระยะ 1 ปีสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา สู่การเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมตลอดชีวิต (Intercultural Life-long Learning) ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ 2580 ซึ่งครอบคลุมในหลายช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย คนวัยทำงาน หรือแม้กระทั่งผู้สูงวัย เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจถึงความหลากหลายและความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในสังคม ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ด้านความฉลาดทางวัฒนธรรม (CQ: Cultural Intelligence) รวมไปถึงการพัฒนาวิสัยทัศน์ของบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจะเป็นส่วนที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการสร้างสรรค์และพัฒนาเยาวชนไทยให้มีทักษะการเรียนรู้ที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 เพื่อก้าวสู่การเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพตามพันธกิจหลักของเอเอฟเอส ประเทศไทย






กำลังโหลดความคิดเห็น