xs
xsm
sm
md
lg

นร.แบกกระเป๋าหนักเกิน เสี่ยง "สันหลังคด" อย่าให้เกิน 10-20% น้ำหนักตัว แนะวิธีเช็กไหล่ลูกไม่เท่ากัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการแพทย์เตือน นร.แบกกระเป๋าหนัก เสี่ยงโรคกระดูกสันหลังคดเอียง ย้ำอย่าแบกเกิน 10-20% ของน้ำหนักตัว รพ.เลิดสินแนะวิธีพ่อแม่เช็กไหล่ 2 ข้างลูกไม่เท่ากัน การรักษาขึ้นกับมุมความคด

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระเป๋าหนังสือของนักเรียน ถือว่ามีผลกระทบต่อกระดูกสันหลังของเด็ก บางครั้งเด็กที่ถือกระเป๋าแบบหิ้วหรือแบบสะพายข้าง ถ้ามีน้ำหนักมากเด็กก็จะเอียงตัวไปข้างใดข้างหนึ่งเพื่อรับน้ำหนัก ทำให้เมื่อเราเอียงตัวไปบุคลิกภาพเราก็จะเป็นท่านั้น กล้ามเนื้อก็จะพัฒนาไปในลักษณะข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งคนเราปกติ ถ้าใช้งานร่างกายข้างใดข้างหนึ่ง หรือซีกใดซีกหนึ่ง ข้างนั้น ก็จะทำงานหนักมากกว่าปกติส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายของเด็ก ซึ่งโดยปกติแนะนำให้เด็กนักเรียนไม่ควรแบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักเกินร้อยละ 10-20 ของน้ำหนักตัว เนื่องจากหากแบกกระเป๋านักเรียนที่มีน้ำหนักมาก อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อระบบโครงสร้างกล้ามเนื้อของร่างกาย


" เด็กจะมีอาการปวดบ่า ปวดต้นคอ ตลอดจนทำห้เป็นสาเหตุของการปวดหลังเรื้อรังได้ และยังเป็นผลให้มีลักษณะทางบุคลิกภาพที่ผิดปกติ เช่น หลังค่อม ไหล่หรือเชิงกรานดูไม่สมดุลกัน เป็นผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก แนะผู้ปกครองสังเกตอาการโรคกระดูกคดเอียงเบื้องต้น" นพ.ณัฐพงศ์กล่าว

นพ.อดิศักดิ์ งามขจรวิวัฒน์ ผอ.รพ.เลิดสิน กล่าวว่า ผู้ปกครองสามารถสังเกตได้จากการที่เห็นลำตัวของเด็กจะเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง หรือสังเกตพบว่ามีหัวไหล่ทั้งสองข้างหรือมีเชิงกรานไม่เท่ากัน หรือให้เด็กยืนเท้าชิดกัน และให้ก้มตัวมาทางด้านหน้าใช้มือ 2 ข้างพยายามแตะพื้นจะเห็นความนูนของหลังไม่เท่ากัน หากกระเป๋ามีน้ำหนักเกิน หรือต้องแบกเป็นเวลานานควรเปลี่ยนจากกระเป๋าแขวนหลังเป็นกระเป๋าลาก เพื่อป้องกันการปวดหลัง จึงขอแนะนำให้ผู้ปกครองควรสังเกตอาการของเด็ก หากกระดูกสันหลังผิดรูป ไหล่สูงต่ำไม่เท่ากันควรพาเด็กมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง เพื่อทำการตรวจยืนยันและให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป


นพ.ทินกร ปลื้มวิทยาภรณ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลัง สถาบันออร์โธปิดิกส์ รพ.เลิดสิน กล่าวว่า โรคกระดูกสันหลังคดเอียง เป็นการคดงอหรือบิดเบี้ยวของกระดูกสันหลังไปด้านข้างทำให้เสียสมดุล โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นกลุ่มเด็กที่มีภาวะกระดูกสันหลังคดเอียงที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด พบได้บ่อยถึงร้อยละ 80 แบ่งตามอายุที่เริ่มแสดงลักษณะดังกล่าว คือ 0-3 ปี 4-10 ปี และ 11-18 ปี โดยภาวะนี้พบบ่อยในเด็กผู้หญิงมากว่าเด็กผู้ชาย ส่วนกลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มภาวะกระดูกสันหลังคดเอียงที่ทราบสาเหตุ เกิดจากโรคทางระบบพันธุกรรม หรือกลุ่มโรคความผิดปกติทางระบบเส้นประสาทต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น โรคท้าวแสนปม ความผิดปกติของกล้ามเนื้อ โดยกลุ่มนี้จะทำให้มีภาวะกระดูกสันหลังคดเอียงมาก การที่เด็กแบกกระเป๋าหนัก ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกสันหลังคดเอียงโดยตรง แต่ทำให้เกิดปัญหาในส่วนของระบบเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ

สำหรับการรักษาภาวะกระดูกสันหลังคดเอียงที่เกิดขึ้น สามารถแบ่งแนวทางการรักษาออกได้เป็น 3 ข้อหลักๆ ขึ้นกับมุมความคดเอียงของกระดูกสันหลังที่เกิดขึ้น แนวทางการรักษาภาวะนี้ มีตั้งแต่การติดตามสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด การสวมชุดอุปกรณ์ป้องกันการคดเอียง ตลอดจนถึงการผ่าตัดแก้ไขภาวะดังกล่าว ดังนั้นหากผู้ปกครองสังเกตพบความผิดปกติเกี่ยวกับความคดเอียงของกระดูกสันหลัง ควรรีบนำเด็กมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางทันที เพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างถูกวิธี


กำลังโหลดความคิดเห็น