xs
xsm
sm
md
lg

“ห้องสมุดดิจิทัล” ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ยกระดับการศึกษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การส่งเสริมและให้ความสำคัญกับโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้ของคนทุกกลุ่มและทุกวัย จะเป็นการสนับสนุนให้ทุกคนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาศักยภาพของตน หรือเรียนรู้เพื่อรับมือกับสิ่งรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงไป ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ข้อที่ 4 เรื่อง การศึกษาที่มีคุณภาพ สถาบันการศึกษาสามารถให้การสนับสนุนได้อย่างเต็มที่

หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีการจัดโครงการเพื่อส่งเสริมทักษะการรู้สารสนเทศแก่โรงเรียนและชุมชนในพื้นที่พุทธมณฑลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์หลักของมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งด้านการศึกษาและการวิจัยส่งเสริม ในศตวรรษที่ 21 เพื่อการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพล เผ่าสวัสดิ์ ผู้อำนวยการหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดลได้พัฒนาระบบบริการสารสนเทศทางวิชาการที่เป็นเลิศเพื่อให้การบริการทั้งบุคลากร นักศึกษา รวมถึงพัฒนาต่อยอดสู่การนำองค์ความรู้สู่การบูรณาการร่วมกับชุมชน โดยเริ่มดำเนินโครงการการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัล ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2563 โดย ดร.รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล ผู้อำนวยการหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดลในสมัยนั้น ได้บุกเบิกโครงการร่วมกับโรงเรียนบุณยศรีสวัสดิ์ จังหวัดนครปฐม เป็นโรงเรียนต้นแบบ เพื่อพัฒนาห้องสมุดโรงเรียนให้มีมาตรฐาน ถูกต้องตามระเบียบห้องสมุด นำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วย ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจึงได้จะขยายไปยังโรงเรียนอื่นต่อไป

ปัจจุบัน หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดลมีนโยบายที่จะขยายการพัฒนาห้องสมุดโรงเรียนรอบพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อให้โรงเรียนมีระบบห้องสมุดที่ถูกต้องตามมาตรฐาน จึงได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลกับหน่วยงานการศึกษา จังหวัดนครปฐม ได้แก่ สำนักงานศึกษาธิการ จังหวัดนครปฐม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 1 และเขต 2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครปฐม และโรงเรียนในจังหวัดนครปฐม 15 โรงเรียน ซึ่งได้ดำเนินกิจกรรมมาระยะหนึ่งแล้ว มีการจัดกิจกรรมอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลห้องสมุดให้แก่ 15 โรงเรียน ในรูปแบบครบวงจร ทั้งการอบรม การฝึกปฏิบัติ เพื่อเรียนรู้ระบบห้องสมุด ความรู้บรรณารักษ์ และความรู้ทางด้านสารสนเทศ ด้วยองคาพยพของหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล รรวมถึงโรงเรียนบุณยศรีสวัสดิ์ ในฐานะโรงเรียนต้นแบบเข้ามาร่วมให้ความรู้และทำงานร่วมกับ 15 โรงเรียน ด้วย


ทั้งนี้ ได้มีการติดตามการดำเนินงานของแต่ละโรงเรียนเป็นระยะ เพื่อให้การดำเนินโครงการบรรลุเป้าหมาย บุคลากรของหอสมุดฯ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงไปยังแต่ละโรงเรียน ให้ความรู้ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เช่น การจัดหนังสือบนชั้นวางหนังสือ การจัดทำระบบและตรวจสอบระบบทั้งหมดเพื่อให้ได้มาตรฐาน หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้มอบครุภัณฑ์เก่า เช่น คอมพิวเตอร์ และชั้นหนังสือที่ไม่ได้ใช้งานเพื่อใช้งานในห้องสมุด มีการเปิดรับบริจาคหนังสือและสื่อการเรียนการสอน ทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อมอบต่อให้แก่ 15 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระยะแรก เป็นการช่วยสนับสนุนทรัพยากรหนังสือให้โรงเรียนเหล่านี้ ในอนาคต หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดลจะส่งเสริมให้โรงเรียนพัฒนา “ยุวบรรณารักษ์” คัดเลือกนักเรียนชั้นโต จำนวนหนึ่ง มาร่วมอบรม โดยมีโรงเรียนบุณยศรีสวัสดิ์เป็นต้นแบบ เพื่อเรียนรู้ระบบและบทบาทหน้าที่ของบรรณารักษ์​ เพื่อกลับไปช่วยในการดูแลห้องสมุดของโรงเรียนต่อไป นอกจากนี้ ได้นำระบบเสนายัน (Senayan) เข้ามาพัฒนาห้องสมุดดิจิทัล ซึ่งเป็น open source พัฒนาจากประเทศอินโดนีเซีย ดาวน์โหลดมาใช้งานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถพัฒนาต่อยอดได้เอง เป็นระบบห้องสมุดที่เหมาะกับโรงเรียน เพราะห้องสมุดโรงเรียนมีขนาดไม่ใหญ่ และทรัพยากรไม่เยอะมาก รองรับได้หลายภาษาทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยก็นิยมใช้ระบบนี้ ด้วยตัวระบบเองสามารถทำได้ทุกขั้นตอน อาทิ จัดทำฐานข้อมูลหนังสือในห้องสมุด สร้างระบบยืม-คืนหนังสือ สร้างบัตรสมาชิกห้องสมุดให้แก่สมาชิก ผู้ดูแลห้องสมุดของโรงเรียนยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลระบบหลังบ้าน วางแผนในการพัฒนาห้องสมุด


ทั้งนี้ ยังพัฒนาเนื้อหาการใช้งานระบบเสนายัน (Senayan) เป็นหลักสูตรออนไลน์ เพื่อให้คุณครูและบุคลากรทั้ง 15 โรงเรียน สามารถเข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง ผ่านระบบการเรียนการสอนออนไลน์ของมหาวิทยาลัยมหิดล (ระบบ MUx) ซึ่งคุณครูหรือบุคลากรทางการศึกษาจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศที่สนใจ ก็สามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้จากบทเรียนออนไลน์นี้ได้

โครงการการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัล มีแผนการดำเนินงานที่จะขยายจาก 15 โรงเรียน ให้เต็มพื้นที่ทุกโรงเรียนในระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา ครอบคลุมทั้งโรงเรียนรัฐ และโรงเรียนเอกชนของจังหวัดนครปฐม โดยจังหวัดนครปฐมจะเป็นผู้คัดเลือกโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการ สนับสนุนและผลักดันเข้าเป็นแผนการดำเนินงานของจังหวัด มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์แก่โรงเรียนต่างๆ อีกทั้งเป็นการยกระดับการศึกษาของโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดนครปฐมด้วย ซึ่งจะดำเนินงานต่อเนื่องไปถึงปี 2569 พร้อมนี้ จังหวัดนครปฐมจะจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นให้แต่ละโรงเรียนในอนาคต สำหรับหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดลจะสนับสนุนให้เกิดการสร้างเครือข่ายระหว่างโรงเรียนในพื้นที่ด้วยกัน และถ่ายทอดความรู้ต่อไปยังโรงเรียนอื่นต่อไป มหาวิทยาลัยมหิดลเอง ก็มีวิทยาเขตกาญจนบุรี ที่เห็นความสำเร็จจากโรงเรียนที่เป็นโมเดล แล้วก็อยากให้เกิดการไปพัฒนาในโรงเรียนพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ เช่น จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดเชียงราย ก็สนใจในการพัฒนาระบบห้องสมุดเช่นเดียวกัน

การพัฒนาระบบห้องสมุดของโรงเรียน นักเรียนสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างถูกต้องและได้รับบริการห้องสมุดที่ถูกต้อง ได้อ่านหนังสือที่ดี มีประโยชน์ ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและการค้นคว้า และยังได้ฝึกทักษะนักเรียนได้อีกสองด้านคือ ฝึกการใช้ห้องสมุด และการฝึกการเป็นยุวบรรณารักษ์​ซึ่งเป็นการฝึกการบริหารจัดการระบบทั้งหลาย เริ่มด้วยการฝึกระบบห้องสมุด เรียนรู้จากการจัดระบบหนังสือรูปเล่ม เมื่อดำเนินการได้อย่างมีมาตรฐานแล้ว จะสามารถต่อยอดไปยังสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆได้ อีกทั้งการใช้งานห้องสมุด ยังเป็นการสร้างเสริมทักษะและกระบวนการคิดให้ตั้งแต่เด็ก ยิ่งไปกว่านั้น โรงเรียนจะได้มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น และการพัฒนาระบบห้องสมุดนั้น ยังเป็นการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนนั้นๆ อีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพล เผ่าสวัสดิ์ ผู้อำนวยการหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล


กำลังโหลดความคิดเห็น