สสส. สานพลัง ภาคีเครือข่าย จัดเวทีสูงวัย ‘รู้ทันสื่อการเมือง’ ขานรับกระแสเลือกตั้ง 66 มุ่งเป้าผู้สูงวัยกว่า 12 ล้านคน รู้เท่าทันข่าวลวงทางการเมือง
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2566 ที่ THA Town Hall อาคารเอสเอ็ม ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ กลุ่มคนตัวดี บริษัท ทำมาปัน จำกัด ร่วมกับ ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้งอายุ สถาบันภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีรู้ทันสื่อการเมือง “นโยบายขอเสียงผู้สูงอายุ” รับมือกระแสนโยบายหาเสียงชวนเชื่ออย่างมีสติและรู้เท่าทัน ก่อนเลือกตั้ง ปี 2566
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสํานักสรางเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า การเลือกตั้งปี 2566 กระตุ้นความตื่นตัวในการใช้สิทธิของประชาชน เพราะปัจจุบันไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ มีผู้สูงอายุประมาณ 12.9 ล้าน คนคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ แน่นอนว่าเสียงของผู้สูงอายุมีส่วนสำคัญในการกำหนดอนาคตประเทศ การเข้าคูหาใช้สิทธิใช้เสียงลงคะแนนเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องเริ่มจากความเข้าใจในชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่กฎกติกา ผู้สมัคร และนโยบายพรรค ดังนั้นผู้สูงอายุจึงต้องมีความสามารถเข้าถึงสื่อ ที่เป็นมืออาชีพและจริยธรรมสื่อ มีทักษะการคิดวิเคราะห์ ตลอดจนการสื่อสารข้อมูลที่ได้รับการวิเคราะห์แล้วว่าถูกต้องและเป็นประโยชน์
“สสส. สานพลังภาคีเครือข่ายมุ่งสร้างทักษะเท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลให้ผู้สูงอายุไทย เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันตนเอง และใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ผ่านงานหลัก 3 ด้าน 1.พัฒนาศักยภาพเท่าทันสื่อในผู้สูงอายุและการพัฒนาแกนนำ “ครู ก.” ซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่ได้รับการบ่มเพาะทักษะเท่าทันสื่อ และพร้อมสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจให้กลุ่มผู้สูงอายุ 2.จัดการความรู้ให้สังคมไทยมีข้อมูลสำคัญขับเคลื่อนงานสูงวัยเท่าทันสื่อผ่านการสำรวจวิจัย พัฒนางานวิชาการและพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ 3.สื่อสารสาธารณะสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการรู้เท่าทันสื่อ โดยเฉพาะช่วงเลือกตั้งครั้งนี้ ภาคีเครือข่ายทำงานเชิงรุก สื่อสารทักษะเท่าทันสื่อ รู้เท่าทันข่าวลวงทางการเมือง พร้อมกับการพัฒนาทักษะผู้สูงอายุในยุคดิจิทัล” นางญาณี กล่าว
นายวันชัย บุญประชา ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาศักยภาพนักกระบวนกรสื่อสารสุขภาวะ และขับเคลื่อนกลไกสูงวัยรู้ทันสื่อระดับจังหวัด กลุ่มคนตัวดี บริษัท ทำมาปัน จำกัด กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีนโยบายเกี่ยวข้องกับประชาชนเรื่องสวัสดิการ และเรื่องที่จะกระทบต่อผู้สูงอายุค่อนข้างเยอะ ทุกพรรคการเมืองจะหาเสียงโดยใช้สื่อเพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนเลือกพรรคตัวเอง จึงเป็นโอกาสดีที่จะทำให้ผู้สูงวัยได้เรียนรู้การเท่าทันสื่อเรื่องนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง และผู้สูงวัยควรใช้โอกาสนี้รับสื่ออย่างมีสติ และเรียนรู้จากการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคการเมือง ซึ่งความจริงก็ไม่แตกต่างจากการโฆษณาขายสินค้าทั่วไป ที่เน้นโน้มน้าวให้คนมาซื้อสินค้า งานครั้งนี้เป็นการกระตุกคิดให้ผู้สูงวัยได้ใช้โอกาสเรียนรู้เรื่องการใช้สื่อ การรับสื่อ รู้เท่าทันสื่อจากโฆษณาชวนเชื่อของพรรคการเมือง เพื่อเตรียมตัวไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566 อย่างมีสติและรู้เท่าทัน
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง COFACT.ORG กล่าวว่า ข่าวลวงทางการเมือง หมายถึง ข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือบิดเบือนที่สร้างขึ้นโดยเจตนา ให้เกิดความเข้าใจผิดเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ประสบการณ์จากการเลือกตั้งในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์พบว่า ข่าวลวงทางการเมืองถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเอาชนะคู่แข่งในศึกเลือกตั้ง หรือเพื่อมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โคแฟคคาดว่า หลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 2566 การใช้ข้อมูลบิดเบือนและการปล่อยข่าวลวงทางการเมือง จะยังดำเนินต่อไป ขณะที่การรับมือกับข่าวลวงด้วยการสกัดกั้นที่ต้นทางการเผยแพร่เป็นเรื่องยาก สิ่งที่ประชาชนทำได้คือการรู้เท่าทันปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของฝ่ายต่างๆ แยกแยะระหว่างเนื้อหาที่เป็นความคิดเห็นกับข้อเท็จจริง รวมทั้งพิจารณาความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูลก่อนเชื่อ หรือแชร์ โคแฟคจึงขอเชิญชวนภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย เช็คก่อนเชื่อและแชร์ ฝากช่วยกันรายงานข่าวลือข่าวลวงที่ไลน์แชทบอทโคแฟค @cofact ได้ 24 ชั่วโมง
นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ข้อปฏิบัติสำหรับผู้สูงวัยในการรับมือกระแสข่าวช่วงเลือกตั้ง 66 คือมีสติรับสาร ส่งสาร ครอบคลุมการสื่อสารทั้งการพูด ฟัง และสื่อสารออนไลน์ ส่วนหลักคิดสำคัญคือ การที่เรารู้และเข้าใจการพูด การฟัง การรับ และการส่งสารทางออนไลน์ ฉะนั้นหากเราได้รับข่าวสารมาและเราขาดสติ ก็จะพูดและฟังโดยการใช้อารมณ์ อย่างการวิจารณ์การเลือกตั้งจะใช้อารมณ์มากในการที่จะพยายามเอาชนะกัน เวลาเรารู้สึกชอบหรือไม่ชอบฝ่ายไหน ถ้าเราขาดสติมักจะใช้อารมณ์เยอะ แต่ในทางกลับกัน ถ้าเรารู้และเข้าใจในการพูดและฟัง รู้และเข้าใจในการรับและส่งสาร เราก็จะมีสติมากขึ้น.