‘ทนายคนดัง’ คิดค่าปรึกษาคดีราคาแพง จนกลายมาเป็นดราม่าร้อนในสังคม และเกิดเป็นคำถามว่า ‘หากไม่มีเงิน’ หรือ ‘เป็นผู้ยากไร้’ จะมีโอกาสเข้าถึงความยุติธรรมได้หรือไม่ !!?
ในหนึ่งปีประเทศไทยมีคดีแพ่งและคดีอาญามากกว่า 8 แสน – 1 ล้านคดี เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยข้อมูลล่าสุดจาก สำนักงานอัยการสูงสุด ระบุว่า ในปี 2564 มีคดีอาญาจำนวนทั้งหมด 1,069,058 คดี และคดีแพ่ง 30,835 คดี
แน่นอน คดีความย่อมมาพร้อมกับค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากตกเป็น ‘ผู้ต้องหา’ ซึ่งแม้ว่าจะยังถือเป็น ‘ผู้บริสุทธิ์’ อยู่ตามหลักการทางกฎหมาย แต่ที่สุดแล้วก็ต้องเสียเงินหลักร้อยไปจนถึงหลักแสนบาท เพื่อขอรับคำปรึกษาจากทนายไปจนถึงการว่าจ้างให้ว่าความในชั้นศาล
สำหรับคนที่รายได้พอประมาณอาจดำเนินตามครรลองนี้ได้ แต่ในกรณีที่คนๆ นั้นมีรายได้น้อยหรือเป็นคน ‘ยากจน’ ทางเลือกสุดท้ายที่จะช่วยได้ก็คือ ปรึกษากับสภาทนายความ หรือทนายอาสา ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่อย่างจำกัด
ด้วยสภาพการณ์เช่นนี้เองที่ทำให้ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ตัดสินใจทุ่มทรัพยากรเพื่อยกระดับบทบาทของ “ศูนย์นิติศาสตร์” จากการเป็นคลินิกกฎหมายอายุกว่า 50 ปี ที่มีภารกิจเชื่อมโยงให้นักศึกษาเรียนรู้ในทางปฏิบัติ มาสู่การเป็น ‘สวัสดิการทางกฎหมาย’ ให้กับประชาชนที่ไม่มีที่พึ่งมากขึ้น
ศูนย์นิติศาสตร์พร้อมให้ความช่วยเหลือในคดีทุกประเภท ทั้งให้คำปรึกษาทางกฎหมาย และอรรถคดี โดยแบ่งเป็น 3 รูปแบบ ประกอบด้วย 1. จัดทนายความช่วยเหลือว่าความให้โดยไม่คิดค่าจ้าง ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้ ผู้ขอความช่วยเหลือเป็นผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องที่เป็นข้อพิพาท ผู้ขอความช่วยเหลือไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ผู้ขอความช่วยเหลือเป็นผู้ที่มีฐานะยากจน รูปคดีทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงมีทางที่จะให้ความช่วยเหลือได้ และไม่เป็นคดีเกี่ยวกับปัญหาครอบครัว เว้นแต่เป็นคดีเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าอุปการะในชั้นศาลได้
2. การเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับคู่กรณี และ 3. การติดตามการบังคับคดี ตามคำพิพากษาของศาล
อีกทั้งยังมีการเผยแพร่ความรู้ทางนิติศาสตร์แก่ประชาชนทั่วไปใน 3 แนวทาง ดังนี้ 1.จัดทำหนังสือกฎหมายสำหรับประชาชน 2.เผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายตามโครงการสารสนเทศกฎหมายออนไลน์ ในรูปแบบต่างๆ สามารถดูได้ที่เว็บไซต์ www.tulawcenter.org และสุดท้ายการจัดอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมาย
รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า นอกจากการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนเป็นกรณีๆ แล้ว เรายังมีเป้าหมายที่จะช่วยในระดับภาพรวมด้วย กล่าวคือยกระดับจากการช่วยทำคดีหนึ่งให้กับประชาชนที่อาจไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมาย เป็นการแก้ปัญหาของโครงสร้างนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย และนโยบายได้ เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
“เราพยายามทำในส่วนนี้ผ่านการผลักดัน การจัดเสวนา รวมถึงนำเสนอความไม่เป็นธรรมทางกฎหมายต่างๆ เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎระเบียบในภาพใหญ่ ซึ่งก็จะเป็นการช่วยคนที่อยู่ในกรณีเดียวกันนี้ได้ทั่วประเทศ” คณบดีคณะนิติศาสตร์ กล่าว
ตัวอย่างการช่วยเหลือที่ศูนย์นิติศาสตร์กำลังดำเนินการในขณะนี้ เช่น การร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในการแก้ไขระเบียบการนำข้อมูลของบุคคลเข้าทะเบียนประวัติอาชญากร สำหรับการคัดแยกและลบประวัติบุคคลออกจากทะเบียนประวัติผู้ต้องหาและอาชญากร
เนื่องจากระเบียบเดิมกำหนดไว้ว่าหากเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการให้พิมพ์ลายนิ้วมือและกรอกประวัติตอนตั้งข้อกล่าวหา ข้อมูลทุกอย่างของคนๆ นั้นจะอยู่ในทะเบียนอาชญากร หรือเรียกได้ว่าเป็น ‘อาชญากร’ ทันที ทั้งที่ยังไม่ผ่านคำตัดสินของศาล ซึ่งเขาอาจเป็นเพียงผู้ที่ถูกตั้งข้อหา ศาลยกฟ้อง หรือเสียค่าปรับโดยไม่ต้องรอลงอาญา ไม่มีการติดคุก แต่ชื่อ ลายนิ้วมือ และข้อมูลต่างๆ จะไม่ถูกลบออก รวมไปถึงการจะเอาชื่อออกได้ก็ต้องทำเรื่องด้วยตนเอง และลบได้รายบุคคลเท่านั้น
“ปัจจุบันทะเบียนประวัติอาชญากรมีข้อมูลของอยู่ประมาณ 10 ล้านคน แต่ที่เป็นอาชญากรซึ่งถูกศาลตัดสินว่าผิดจริงมีอยู่เพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์ ผลที่เกิดขึ้นทำให้คนที่พ้นจากข้อกล่าวจำนวนมาก ตอนไปสมัครงานและได้ยินยอมให้บริษัทตรวจประวัติอาชญากร ชื่อของพวกเขาจะปรากฎว่าเป็นอาชญากรอยู่ในระบบ ซึ่งส่งผลอย่างสำคัญต่อการตัดสินใจจ้างงาน” ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มธ. อธิบาย
สิ่งที่เกิดขึ้นยังได้ช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้ในการนำเอาความรู้มาบูรณาการเพื่อช่วยประชาชนให้ได้รับความยุติธรรมด้วย เพราะการเรียนการสอนในห้องเรียนจะมีในด้านวิชาการ และตำราเรียน ซึ่งมักสอนแยกเป็นรายวิชา เช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา นิติกรรมสัญญา ฯลฯ
ขณะที่ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้แยกเป็นวิชา ในเรื่องหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นมีความสัมพันธ์กับกฎหมาย หรือระเบียบหลากหลายกว่านั้นมาก ดังนั้นศูนย์นิติศาสตร์จึงพยายามสร้างกลไกให้ตนเองเป็นเสมือน ‘แล็บทางกฎหมาย’ ที่สามารถทำให้กับนักศึกษาได้นำสิ่งที่เรียนมาปรับใช้ในชีวิตจริง รวมถึงนำมาพัฒนาเป็นองค์ความรู้ให้กับนักศึกษาในอนาคตด้วย
สำหรับโครงการที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้ และกำลังต่อยอดไปในอนาคตมี 3 ส่วนด้วยกัน ประกอบด้วย 1. โครงการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเรื่องหนี้สิน 2. จัดตั้งศูนย์นิติศาสตร์ ที่ มธ. ศูนย์ลำปาง และ 3. จัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชน
รวมถึงในปี 2566 นี้ทางศูนย์นิติศาสตร์ มธ. จะจัดการประชุมผ่าน Video Conference ครั้งแรก โดยเชิญชวนศูนย์นิติศาสตร์กว่า 20-30 แห่งทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการจะยกระดับให้ศูนย์นิติศาสตร์ทั่วประเทศเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือประชาชน พร้อมกับให้นักศึกษาได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ
ทางด้าน พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษก สตช. กล่าวว่า สตช. ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับ มธ. ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เป็นผู้รับผิดชอบการขับเคลื่อนร่วมกับศูนย์นิติศาสตร์ธรรมศาสตร์อย่างใกล้ชิด
เป้าหมายสำคัญคือจะทำให้ประชาชนได้ใช้สิทธิความเป็นประชาชนอย่างแท้จริง กรณีตกเป็นผู้ต้องหา แต่ว่ายังไม่ได้รับการตัดสินจากกระบวนการยุติธรรมอย่างสมบูรณ์
พล.ต.ต.อาชยน กล่าวถึงความร่วมมือในการแก้ไขระเบียบนำเข้าข้อมูลอาชญากรว่า เป็นเรื่องที่ดีและจะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนโดยตรง เพราะระหว่างที่รอการตัดสินจากศาล ประชาชนก็ยังสามารถไปใช้ชีวิต ไปสมัครงานได้ ทำให้ไม่ได้ถูกตัดสิทธิ หรือถูกตัดสินจากสังคมไปก่อนว่าเป็นอาชญากร
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สะท้อนอีกว่า การทำงานร่วมกันกับภาควิชาการ อย่างศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือว่ามีความสำคัญ และจำเป็นอย่างมากในการบูรณาการการทำงาน เพื่อสร้างความเท่าเทียม และความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมร่วมกัน เพราะภาควิชาการจะมีมุมมองที่จะช่วยให้ทางตำรวจได้อำนวยความยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำให้เกิดขึ้นได้จริง เป็นการรักษาสิทธิของมนุษยชน ของคนไทยอย่างเท่าเทียมกันทุกคน