xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.แจงชัด รพ.เก็บค่า "ยานอกบัญชี" ไม่ได้ หากหมอสั่งจ่ายเอง พบ 80% ไคนไข้ไม่กล้าร้องเรียน หวั่นกระทบการรักษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาผู้บริโภคเผย "บัตรทอง" ร้องเรียนถูกเรียกเก็บค่ารักษา เป็นค่ายานอกบัญชีฯ มากที่สุด ปี 65 พบ 32 ราย เป็นเงิน 1.72 ล้านบาท สำรวจพบ 80% ไม่อยากร้องเรียน หวั่นเจอปัญหาเข้ารักษา บางที่หัวหมอให้จ่าย 30 บาทก่อนถึงได้เวชระเบียน จี้ สปสช.-สธ.สางปัญหา รพ.ปรับระบบออกใบเสร็จ ด้านรองเลขาธิการ สปสช.ย้ำชัดเส้นแบ่งใช้ "ยานอกบัญชี" หากหมอสั่งจ่ายเองตามจำเป็น คนไข้ไม่ร้องขอ ไม่มีสิทธิเก็บ เผย รพ.ให้เซ็นชื่อสละใช้สิทธิบัตรทอง เป็นโมฆะ ไม่มีผลทางกฎหมาย

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ในงานเสวนา สิทธิบัตรทองใช้ยานอกได้หรือไม่ รพ.สามารถเรียกเก็บเพิ่มจากผู้ป่วยได้หรือไม่ จัดโดยสภาองค์กรของผู้บริโภคและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลสิทธิบัตรทองยังเกิดต่อเนื่อง หลักๆ มาจากเรียกเก็บค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ บริการฉุกเฉินที่บอกว่าไม่ฉุกเฉิน และใช้วัสดุอุปกรณ์ที่บอกว่ามีคุณภาพดีกว่า เมื่อมีการร้องเรียน กรรมการควบคุมคุณภาพการให้บริการบัตรทองก็วินิจฉัยให้ รพ.จ่ายเงินคืนทั้งหมด จึงไม่อยากเห็น รพ.ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 โดยไม่จำเป็น คนไข้ก็เข้าถึงบริการล่าช้า ไม่มั่นใจในระบบหลักประกันฯ ทั้งนี้ ตั้งแต่ตั้งสภาฯ ถึง 30 มี.ค. 2566 มีเรื่องร้องเรียน 1,979 ในเรื่องด้านบริการสุขภาพ เป็นบัตรทอง 34.82% ประกันสุขภาพเอกชน 25.82% เจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน 11.72% ประกันสังคม 6.11% และมีเรื่องค่ารักษาแพง 22% ส่วนข้อมูล สปสช.ปี 2565 มีการร้องเรียนเรื่องถูกเรียกเก็บเงินเข้ารับบริการบัตรทอง 577 เรื่อง เป็นเงิน 9.11 ล้านบาท เฉพาะค่ายานอกบัญชียาหลักฯ 32 เรื่อง เป็นเงิน 1.72 ล้านบาท แม้ดูไม่ได้เยอะจากระบบบัตรทองทั้งหมด แต่คนที่ร้องเรียนมีทั้งกลุ่มที่การเรียกเก็บเงินเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการ ไม่มั่นใจว่ายาที่ได้รับดีหรือไม่ คุณภาพที่ได้รับ และบางคนไม่ใช่เรื่องเงินแต่ทำไม รพ.เรียกเก็บ ทั้งที่ไม่ควรเรียกเก็บ


น.ส.สารีกล่าวว่า เรายืนยันเสมอว่า บัตรทองไม่ควรเรียกเก็บเงินเลย ยกเว้นเสริมสวย ไม่ว่าเข้าใช้บริการฉุกเฉินหรือกรณีใดก็ตามไม่ควรถูกเรียกเก็บเงิน หากไปใช่หน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับระบบหลักประกัน ทั้ง รพ.รัฐทั้งหมด รพ.เอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับระบบ อย่างกรณีหญิงอายุ 65 ปี ไปรักษาที่คลินิกชุมชนอบอุ่นและส่งต่อ รพ.ผ่าตัดลำไส้อุดตัน หลังรักษา รพ.เรียกเก็บเงิน 9,440 บาท แจ้งเป็นค่ายานอกบัญชียาหลักฯ เบิกจาก สปสช.ไม่ได้ ซึ่งถ้าเป็นยาที่จำเป็นและ รพ.ให้คนไข้ คนไข้ไม่ควรชำระเงิน กรณีนี้ก็ได้รับเงินคืน หรือกรณีหญิงอายุ 23 ปี สิทธิบัตรทองที่เชียงใหม่ มีประวัติโรคซึมเศร้า มีหนังสือส่งตัวถูกต้อง เข้ารักษา 2 ครั้ง ถูกเรียกเก็บเงิน 13,795 บาทในช่วง 3 เดือน ต.ค.-ธ.ค. ถือว่าไม่น้อยในกลุ่มผู้เริ่มต้นทำงาน คนไข้ก็ได้เงินคืน

"ทำไมคนไข้ต้องร้องเรียน ทำไม รพ.ต้องเรียกเก็บเงิน ตรงนี้เป็นส่วนที่อาจเป็นระบบออกใบเสร็จ รพ. ตั้งไว้ว่ายานอกบัญชีออกใบเสร็จเก็บเงินเลย รพ.ควรช่วยสนับสนุนเรื่องนี้เปลี่ยนระบบออกใบเสร็จ สุดท้าย รพ.ก็ต้องคืนเงิน ไม่เป้นประโยชน์ต่อฝ่ายไหน ทุกคนต้องการบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกันรักษาพยาบาล เป็นต้นเหตุสำคัญที่ต้องผลักดันการรักษาพยาบาลมีมาตรฐานเดียว เพื่อให้การเก็บเงินมีน้อยลงจนไม่มีเลย" น.ส.สารีกล่าว


น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า จากการสำรวจของสมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก ในคนอายุ 15 ปีขึ้นไปที่เคยเข้ารับบริการใน รพ. จำนวน 303 คน พบว่า เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล 22.9% เรียกเก็บค่ายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ 10% ปฏิเสธการรักษา 5.7% ไม่อำนวยความสะดวกส่งต่อ 4.3% และปฏิเสธผู้ป่วยฉุกเฉิน 2.9% ประเด็นคือเจอปัญหาแล้วร้องเรียนหรือไม่ พบว่า ไม่อยากร้องเรียน เพราะกลัวได้รับผลกระทบจากการรักษาพยาบาล กลัวว่าร้องไปแล้วเวลาเข้ารักษาจะมีปัญหาในการรักษาถึง 80.6% และค่าใช้จ่ายไม่มากพอรับได้ 300-500 บาท จะได้จบๆ ไม่มีปัญหา 1.6% และเข้า รพ.เอกชนสบายใจกว่า 1.6% ไม่มีเวลาเดินเรื่อง ต้องทำมาหากิน 1.6% ไม่อยากทำลายชื่อเสียง รพ. 1.6% และกลัวโดนกลั่นแกล้ง 1.6%

"อย่างกรณีคนไข้ต้องไปฟอกเลือด 2 ครั้ง รพ.ตามสิทธิฟอกได้ครั้งเดียว ก็ต้องส่งต่อไป รพ.เอกชน ซึ่งก็ไปถูกเก็บ 500 บาท และต้องเสียอย่างนี้ต่อเนื่อง เมื่อมีการสอบถาม ทางตนจึงทำเรื่องร้องเรียนไปที่ สปสช.เขต ทาง รพ.เอกชนก็คืนเงินให้ แต่ไม่รับเคสแล้ว เพราะเก็บเงินไม่ได้ บอกเป็นค่าบริการ เขาบอกว่าไม่จ่ายก็ไม่ล้าง เรามีระบบหลักประกันฯ ทำไมไปใช้สิทธิต้องเผชิญปัญหา ไม่ว่า สปสช.จะเพิ่มสิทธิอย่างไร แต่สิทธิพื้นฐานเดิมยังติดขัดถูกเรียกเก็บเงิน มีบางที่หัวหมอให้จ่าย 30 บาทก่อนถึงจะได้เวชระเบียนไปหาหมอ สปสช.และกระทรวงสาธารณสุขต้องร่วมมือกันหาวิธีการแก้ไขเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิโดยไม่ถูกละเมิด" น.ส.บุญยืนกล่าว


ด้าน ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การเรียกเก็บเงินเป็นปัญหาใหญ่ของระบบหลักประกันฯ จำนวนเคสที่ร้องเรียนถูกเรียกเก็บเงินตั้งแต่ปี 60 ประมาณ 127 ราย ปัจจุบันลดลงเหลือ 32 ราย หน่วยบริการก็เข้าใจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ยังเกิดเรื่องแบบนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อว่ายาในบัญชียาหลักฯ มีราคาถูก เอามาใช้ในสิทธิบัตรทอง แต่ยานอกบัญชีสิทธิราชการเบิกจ่ายได้ เป็นความเชื่อไม่ถูกต้องทั้งหมด ทั้งนี้ บัญชียาหลักฯ เป็นบัญชียาจำเป็นที่ประเทศควรมีไว้ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าให้มี เพราะหากไม่มีคนที่จะรับผลประโยชน์ขายยา คือ บริษัทยา อาจมีการส่งเสริมการขาย แพทย์รู้สึกยาดี เอามาสร้างความรู้สึกดีกับประชาชน ทั้งที่อาจไม่ได้มีความคุ้มค่าและไม่ได้ดีกว่าที่มีในยาบัญชีฯ ดังนั้น บัญชียาหลักฯ เป็นยาจำเป็นชี้แนะการใช้ยาสมเหตุสมผล ขอให้มั่นใจในยาบัญชียาหลัก เพราะกระบวนการมีผู้เชี่ยวชาญกว่า 20 สาขามาร่วมกันทำพิจารณารายการยา เหมาะสมกับมาตรฐานการรักษา หากประสิทธิภาพไม่ดี แพงเกินเหตุได้ผลนิดเดียวก็ไม่เอาเข้า

"แพทย์อาจบอกยาในบัญชีไม่มี สั่งยานอกฯ ก็เป้นสิทธิของคนไข้ทุกสิทธิว่าจะไม่เสียเงิน เพราะเป็นไปตามวินิจฉัยของแพทย์ ที่อาจจำเป็นสำหรับบางกลุ่มคน ซึ่งมีบางคนร้องเรียนมีการใช้ยารักษามะเร็งที่เป็นยานอกบัญชี อยู่ระหว่างพิจารณา อย่างนี้ก็ไม่มีสิทธิไปเรียกเก็บคนไข้ หลังคณะกรรมการสอบสวนฯ ไปดู ยานี้เป็นยาที่คนไข้ไม่ได้เรียกขอ แต่แพทย์มองว่าคนไข้มีภาวะไตแบบนี้ ควรใช้ยาตัวนี้ เพราะยาในบัญชีอาจไม่เหมาะสม แบบนี้เรียกเก็บไม่ได้" ผศ.ภญ.ยุพดีกล่าว

ผศ.ภญ.ยุพดีกล่าวว่า การใช้ยานอกบัญชีฯ และถูกเรียกเก็บเงิน สปสช.ร่วม สธ.ทำมาโดยตลอด ทำความเข้าใจหน่วยบริการ ว่าไม่สามารถเรียกเก็บจากคนไข้ได้ โดยมีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจตั้งแต่ปี 2544 ว่า หากคนไข้ไม่เรียกร้อง แต่แพทย์สั่งให้เองเพราะเห็นว่าจำเป็น จะไม่มีสิทธิเรียกเก็บ ยกเว้นคนไข้บอกว่าอยากได้ยานั้นยานี้เป็นภาระที่คนไข้ต้องรับเอง ถือเป็นเส้นแบ่ง ถ้าเราไม่เรียกร้องเขาไม่มีสิทธิเรียกเก็บ ส่วนที่ รพ.ให้เซ็นชื่อว่ายินดีไม่ใช้สิทธิบัตรทอง ปัจจุบันบอกเลยว่าหนังสือที่ รพ.ออกแบบมา เขียนถ้อยความต่างๆ ให้เซ็นชื่อถือว่าโมฆะ ไม่มีสิทธิทางกฎหมาย หากคนไข้ต้องการสละสิทธิการใช้สิทธิบัตรทอง คนไข้ต้องเขียนเองทั้งฉบับ ลงลายมือไม่ประสงค์ใช้สิทธิอะไร ไม่ใช้สิทธิเรื่องยา เรื่องต่างๆ ลงลายมือชื่อตนเองถึงมีผลทางกฎหมาย เราชี้แจงหน่วยบริการทุกแห่ง แต่ประชาชนอาจไม่ทราบ หาก รพ.บอกให้เซ็นแล้วเราเซ็นไป เรื่องเข้ามาในคณะกรรมการสอบสวนก็ถือว่าโมฆะ เพราะเอกสารไม่ชอบด้วยกฎหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น