กรมควบคุมโรคเตือน ช่วงนี้อาจพบโรคคอตีบ-ไอกรนมากขึ้น เหตุช่วง "โควิด" ฉีดวัคซีนป้องกันน้อย เผยพบป่วยไอกรนแล้ว 4 ราย สงสัยคอตีบ 10 เหตุการณ์ แนะพ่อแม่พาลูกฉีดวัคซีนตามกำหนด
เมื่อวันที่ 4 เม.ย. กรมควบคุมโรคเผยแพร่พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ วันที่ 2 – 8 เม.ย. 2566 ระบุว่า สถานการณ์โรคไอกรน ในปี 2565 พบผู้ป่วย 19 ราย กลุ่มอายุ 0-4 ปี มีอัตราป่วยสูงสุด ช่วงต้นปี 2566 พบผู้ป่วยแล้ว 4 ราย เป็นกลุ่มอายุ 0-4 ปีสูงสุดเช่นกัน ส่วนโรคคอตีบแม้ภาพรวมปี 2564 – 2566 จะยังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันตามระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา แต่จากการตรวจสอบข่าวการเฝ้าระวังเหตุการณ์ในช่วงต้นปี 2566 พบผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์รายงานสงสัยโรคคอตีบแล้ว 10 เหตุการณ์ คาดว่าช่วงนี้มีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนลดลง จากการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ในบางพื้นที่เด็กอาจยังไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์
โรคคอตีบ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (C. diphtheria) ติดต่อง่ายผ่านไอ จาม สัมผัสสารคัดหลั่ง ของใช้ผู้ป่วย แสดงอาการหลังติดเชื้อ 2-5 วัน มีไข้สูง หนาวสั่น น้ำมูก เจ็บคอ คออักเสบ กลืนอาหารลำบาก รู้สึกเจ็บเวลากลืน คอบุ๋ม หอบ หายใจลำบาก หากอาการรุนแรงมากอาจทำให้หายใจไม่ออก อันตรายถึงชีวิต อาจพบแผ่นฝ้าสีขาวปนเทาขึ้นบริเวณลำคอ ต่อมทอนซิล หรือลิ้นไก่ อาจพบภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเส้นประสาทอักเสบ
ส่วนโรคไอกรน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (B. pertussis) ทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจอักเสบ ติดต่อง่ายไอ จาม สัมผัสสารคัดหลั่ง ของใช้ผู้ป่วย ส่วนใหญ่พบติดเชื้อในเด็กซึ่งจะรุนแรงมากอาจเสียชีวิตได้ แสดงอาการหลังรับเชื้อ 6-20 วัน มีไข้ต่ำๆ น้ำมูก ไอ อาจเป็นต่อเนื่อง 1 สัปดาห์ จากนั้นจะเริ่มแสดงอาการสำคัญคือ ไอซ้อนๆ ถี่ๆ ติดกัน 5-10 ครั้งหรือมากกว่านั้น ทำให้หายใจไม่ทัน จึงหยุดไอ และพยายามหายใจเข้าลึกๆ และมีเสียงดังวูบ สลับไอเป็นชุด อาจเป็นเรื้อรังติดต่อกันนานถึง 2-3 เดือน
วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กทุกคนจำเป็นต้องได้รับ ตั้งแต่ปี 2538 เนื่องจากโรคเหล่านี้เป็นโรคร้ายแรง หากเกิดขึ้นกับเด็กเล็กและไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจอันตรายถึงชีวิต ขอแนะนำให้ประชาชนนำบุตรหลานไปรับวัคซีนให้ครบตามช่วงเวลาที่กำหนด ตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไป ควรสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากมีอาการให้รีบไปพบแพทย์