xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เฝ้าระวัง XBB.1.16 จาก "อินเดีย" คาดเป็น "โควิด" ตัวหลักใหม่ สั่งลุยฉีด LAAB 3 กลุ่มเสี่ยงให้จบก่อน พ.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เผย "โควิด" ในไทยลดลง ป่วยใหม่เหลือ 21 รายต่อวัน ตายวันละ 1 ราย สายพันธุ์ XBB.1.16 จากอินเดีย หลังผู้เชี่ยวชาญคาดเป็นตัวหลักใหม่ คาดจะเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดช่วงหน้าฝน รณรงค์ฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงพร้อมไข้หวัดใหญ่ สั่งเร่งฉีด LAAB กลุ่มเสี่ยงบ้านพักคนชรา ติดบ้านติดเตียง ผู้ป่วยฟอกไต ให้เสร็จก่อน พ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมติดตามสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ทั่วโลก มีแนวโน้มพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตลดลง เช่นเดียวกับประเทศไทย โดยข้อมูลวันที่ 19-25 มี.ค. 2566 พบผู้ป่วยรายใหม่ 150 ราย เฉลี่ย 21 รายต่อวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 30 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 19 ราย และผู้เสียชีวิต 6 ราย เฉลี่ย 1 รายต่อวัน อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตทั้งหมดยังเป็นกลุ่ม 608 และส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับเกิน 3 เดือน ส่วนภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ซึ่งฉีดไปแล้วกว่า 6 หมื่นราย พบว่ามีความปลอดภัยสูง ไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง ที่สำคัญ ช่วยลดอัตราเสียชีวิตได้ถึง 48% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือ LAAB และในกลุ่มเสี่ยงที่เข้ารับการรักษาใน รพ จากโรคโควิด 19 พบว่าช่วยลดการเสียชีวิตลงได้ประมาณ 1 ใน 4 จึงให้แจ้งหน่วยงานในพื้นที่เร่งรัดการฉีด LAAB ให้กับกลุ่มเสี่ยงในบ้านพักคนชรา ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้ป่วยฟอกไต โดยให้
ผู้ตรวจราชการ สธ.ทุกเขตสุขภาพ กำกับติดตามให้เสร็จก่อน พ.ค.นี้ พร้อมรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด 19 ในกลุ่มอื่นควบคู่กันไป

“สถานการณ์โรคโควิด 19 ขณะนี้เริ่มมีลักษณะใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่ คือจะมีการระบาดในช่วงหน้าฝน พ.ค. - มิ.ย.จึงให้มีการทบทวนมาตรการทั้งการเฝ้าระวังสอบสวนโรค การเฝ้าระวังสายพันธุ์ แนวทางการรักษา รวมถึงการฉีดวัคซีนที่จะเน้นฉีดในกลุ่มเสี่ยงจำนวน 1-2 เข็ม ซึ่งคณะกรรมการวัคซีนจะพิจารณาออกแนวทางคำแนะนำให้เหมาะสมต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับการเฝ้าระวังสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในไทย สายพันธุ์ที่พบมากสุดยังเป็น BA.2.75 แต่มีแนวโน้มลดลง ขณะที่สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.5 และ XBB.1.9.1 มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนสายพันธุ์ XBB.1.16 ที่พบในอินเดียและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีตำแหน่งกลายพันธุ์ที่สัมพันธ์กับความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันทั้งจากการติดเชื้อธรรมชาติและจากวัคซีน มีการเติบโตสูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าจะส่งผลต่อความรุนแรงของโรค และผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีแนวโน้มที่จะกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักในที่สุด ขณะนี้ยังไม่พบ XBB.1.16 ในประเทศไทย ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายห้องปฏิบัติการของไทย ยังคงเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น