นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาคว้าชัยชนะมาครองเป็นครั้งแรก จากนวัตกรรม CS-M Tool : Cardiac Self-Monitoring Tool หรือ เครื่องมือการตรวจสอบการเต้นของหัวใจด้วยตนเอง ซึ่งนำเอาเทคโนโลยี AI มาทำงานร่วมกับอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างหูฟังทางการแพทย์ (Stethoscope) ติดเข้ากับอุปกรณ์ที่ทุกคนใช้อย่างสมาร์ทโฟน ที่มีการติดตั้ง แอปพลิเคชันที่จัดทำโดยทีม
เพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถตรวจหาความผิดปกติของหัวใจได้ด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ โดย AI จะประเมินจากจังหวะและรูปแบบการเต้นของหัวใจและแสดงผลออกมาเป็นแดชบอร์ดพร้อมแสดงความเป็นไปได้ของทิศทางโรคจากค่าความผิดปกติ ช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงจากโรคหัวใจได้มากขึ้น จากการประเมินตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
ทีมได้มีการทดสอบการใช้งานนวัตกรรมนี้จากกลุ่มเป้าหมาย กว่า 34,000 คน และได้มีการทำ focus group โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการจัดเตรียม และตรวจสอบ dataset จำนวนกว่า 4,000 เสียง ตลอดจนการทดสอบเครื่องมือ กับทีมแพทย์และวิศวกรที่ปรึกษาประจำโครงการ เพื่อสอนให้ AI เข้าใจรูปแบบ แพทเทิร์นของจังหวะหัวใจและความเป็นไปได้ของโรคจากกลุ่มตัวอย่าง ผลงานของทีม CS-M เป็นหนึ่งในนวัตกรรมจากตัวแทนของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศรวมกว่า 38 ทีมที่ลงชิงชัยในระดับประเทศ
ทั้งนี้ โครงการอิมเมจิ้นคัพของไมโครซอฟท์ ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลารวมกว่า 21 ปี เพื่อสนับสนุนแนวคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนและนักศึกษา ในการนำเทคโนโลยีมาช่วยเปลี่ยนแปลงโลกไปในทางที่ดียิ่งขึ้น โดยแบ่งหัวข้อการแข่งขันเป็น 4 ด้าน คือ Earth, Education, Health และ Lifestyle ซึ่งระหว่างการแข่งขันพวกเขาจะได้รับการฝึกฝนจากทีมงานไมโครซอฟท์ และได้เข้าร่วมกลุ่มกับผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และแชร์ไอเดีย โดยนอกจากนักเรียนและนักศึกษาจะได้รับประสบการณ์อันหาได้ยากที่มาพร้อมเงินรางวัลแล้ว พวกเขายังจะได้รับโอกาสในการนำแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่มาทำให้เกิดขึ้นจริงด้วยเทคโนโลยีและเงินทุนสนับสนุนจากไมโครซอฟท์อีกด้วย
นายวสุพล ธารกกาญจน์ ผู้อำนวยกลุ่มธุรกิจ Azure Cloud Platform บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “สุขภาพเป็นเรื่องที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะโรคหัวใจที่ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขในปีที่ผ่านมา เผยว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน หรือประมาณ 58,681 คนต่อปี โดยพบได้ในทุกช่วงอายุ ซึ่งสำหรับผมถือว่าสูงมาก การแก้ไขคือการเข้าถึงการตรวจหัวใจขั้นพื้นฐาน ยิ่งบ่อยยิ่งดี ทำอย่างไรจะนำเทคโนโลยีเข้าไปสนับสนุนในจุดนี้ พอมาเจอสิ่งที่น้องๆ ทำผมว่ามันใช่และตอบโจทย์เป็นอย่างมาก เพราะเครื่องมือไม่ได้ยุ่งยาก และทุกคนสามารถมีได้ แอปพลิเคชันที่มี AI embeded ก็มีความสามารถสูง ยิ่งผูกกับคลาวด์ ยิ่งเพิ่มความสามารถได้มากขึ้นไปอีก การเข้าถึงการใช้งานก็ถือว่าง่ายและพร้อมใช้กับอุปกรณ์ที่คนส่วนใหญ่มีซึ่งนับเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยทำให้เกิดขึ้นได้จริง มือถือเครื่องเล็กๆ จะเปลี่ยนเป็นเครื่องมือช่วยชีวิตคนได้จาก AI technology ไมโครซอฟท์จึงมุ่งมั่นในการเสริมสร้างทักษะเยาวชนไทย ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของทุกชีวิตในทุกๆ ด้าน ซึ่งสอดคล้องกับโครงการ AI for Good และ AI for All ของเรา ซึ่งรวมถึงการเข้าถึง AI ที่ช่วยในด้านสุขภาพด้วย ผมขอเป็นตัวแทนของไมโครซอฟท์ประเทศไทยแสดงความยินดีกับน้องๆ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักเรียนและนักศึกษาจะได้รับประโยชน์จากโครงการอิมเมจิ้นคัพ และได้พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมนี้ให้ใช้งานได้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้นในอนาคต”
นายจีระวัฒน์ กุลทรัพย์อุดม Chief Growth Officer บริษัท แอพพลิแคท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ผมว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมันดูได้จากความสามารถที่ดึงมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนวัตกรรมถูกนำมาปรับใช้กับไอเดียที่ดีและนำมาสู่การใช้งานจริงที่เหมาะสม ผมในฐานะตัวแทนของกรรมการที่ได้เห็นการเติบโตของอิมเมจิ้นคัพไทย เห็นแนวคิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มองว่าจุดเริ่มต้นนี้เป็นก้าวสำคัญที่พวกเขาน่าจะประสบความสำเร็จได้จากการนำความสามารถของเทคโนโลยีเข้ามาช่วยคนหมู่มากได้ เครื่องมือไม่ยุ่งยาก ซอฟต์แวร์ที่มีกระบวนการที่ดีทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เป็น innovative app ที่พร้อมจะเติบโตและเติมเต็มด้วยความสามารถของ AI สุดท้ายนี้อยากจะบอกว่าผมและกรรมการทุกท่านดีใจและยินดีเป็นอย่างมากที่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการผลักดันการสร้างสรรค์ในครั้งนี้ ของโครงการไมโครซอฟท์ อิมเมจิ้นคัพ ”
ทีม CS-M ทีมผู้ชนะการแข่งขันรายการ อิมเมจิ้นคัพ ประเทศไทย 2023 ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 4 คน ได้แก่ นายธนภัทร จรัญวรพรรณ นายนพวิชญ์ ฉุนรัมย์ นายแมท แทนไทน คอช และ นายเลนนี โทมัส จากมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เชียงใหม่ เจ้าของแนวคิดนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ “เครื่องมือการตรวจสอบหัวใจด้วยตนเอง (Cardiac Self-Monitoring Tool)” ซึ่งเป็นการนำเอาอุปกรณ์ทางการแพทย์ คือ หูฟังทางการแพทย์ มาปรับแต่งให้สามารถใช้ร่วมกับสมาร์ทโฟน รวมถึงนำเอาเทคโนโลยี AI มาช่วยคำนวนผลการตรวจได้อย่างแม่นยำ และอำนวยความสะดวกให้บุคคลทั่วไปสามารถใช้งานได้ง่ายในชีวิตประจำวัน เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการตรวจสุขภาพหัวใจของตนเองอย่างสม่ำเสมอก่อนพบแพทย์ หรือผู้ที่อยู่พื้นที่ห่างไกล ให้การรักษาสุขภาพเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ทุกพื้นที่ทั่วไทยมากกว่าเดิม โดยในรอบการแข่งขันระดับประเทศนี้พวกเขาสามารถคว้าชัยชนะและเงินรางวัลมูลค่า 1,000 เหรียญสหรัฐไปได้สำเร็จ
นายธนภัทร จรัญวรพรรณ หัวหน้าทีม CS-M กล่าวว่า “ เรามองเห็นว่าผู้คนให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ เรามาพบว่า ปัญหาสุขภาพอันดับ 1 คือโรคหัวใจ โดยพบว่า โรคหัวใจเป็นโรคที่มีผู้เสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่กว่า 80% ของผู้เสียชีวิตกลับไม่เคยได้รับการตรวจมาก่อน นั่นเพราะอาการของโรคหัวใจสามารถตรวจพบได้ยาก แพทย์เฉพาะทางก็มีจำนวนจำกัด และยังไม่มีเครื่องมือที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถตรวจได้ด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เราจึงเริ่มหาข้อมูลและคิดค้นนวัตกรรมนี้เพื่อพุ่งเป้าไปที่การคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงของการเป็นโรค และการประเมินเบื้องต้นก่อนเข้าสู่กระบวนการรักษา เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต ด้วยการตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจและวิเคราะห์อาการเบื้องต้นผ่านหูฟังทางการแพทย์ (Stethoscope) ที่เชื่อมต่อผ่านแอปพลิเคชันที่เราสร้างและติดตั้งได้ในสมาร์ทโฟน เราเริ่มพัฒนานวัตกรรมนี้เป็นระยะเวลาประมาณเกือบ 2 ปี ระหว่างนั้นเราได้ให้ผู้ป่วย นักเรียนในโรงเรียน ผู้สูงอายุที่บ้านพักคนชรา ได้ทดลองใช้ตรวจด้วยวิธี Blind Test จนได้ผลการตรวจประเมินที่มีค่าความแม่นยำประมาณ 90% เราเชื่อว่าหากเราทำได้สำเร็จผู้คนในพื้นที่ห่างไกล หรือผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางมาโรงพยาบาลในทุกช่วงวัย จะมีโอกาสได้ใช้นวัตกรรมนี้ตรวจสอบหัวใจของตนเองเบื้องต้น ทำให้โอกาสในการรอดชีวิตเพิ่มสูงขึ้นครับ”
อาจารย์รุ่งกานต์ วังบุญ หัวหน้าโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพผู้เรียนด้านเทคโนโลยี โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย อาจารย์ที่ปรึกษาของทีม กล่าวว่า “เราต้องขอขอบคุณไมโครซอฟท์ และเวทีการแข่งขัน อิมเมจิ้นคัพ ที่นับเป็นประตูสู่โอกาสให้เด็กๆ ของเราให้ได้พัฒนาทักษะการสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหา และได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในเวทีการแข่งขันระดับโลก การแข่งขันนี้ช่วยให้นักเรียนของเราได้เรียนรู้และเติบโต ที่ไม่เพียงแต่เป็นนักพัฒนาแต่ยังเปิดโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานสู่การคิดต่อยอดให้มันเกิดผลอันยิ่งใหญ่ได้ในวงกว้างอย่างแท้จริง เด็กๆ ได้ประสบการณ์และเห็นความสามารถของรุ่นพี่ ทำให้เค้ามีแรงผลักดันพร้อมๆ ไปกับแรงบันดาลใจ ให้เค้าได้นำเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นไปช่วยเหลือและตอบโจทย์สังคมในลำดับต่อไป”
ทั้งนี้ทีม CS-M ผู้ชนะการแข่งขันรายการอิมเมจิ้นคัพ ประเทศไทย ประจำปีนี้ และรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ทีม O-RA จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย และรองชนะเลิศอันดับสอง ทีม IMAGINE CARE จากการรวมตัวกัน4 สถาบัน คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยทีม CS-M ผู้ชนะการแข่งขันจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันชิงแชมป์โลก ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา ในเดือนพฤษภาคม 2566 นี้ โดยเยาวชนมากความสามารถจากทั่วโลกจะมาร่วมแข่งขันเพื่อชิงถ้วยอิมเมจิ้นคัพ พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 100,000 เหรียญสหรัฐ