xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์ลุยตรวจเลือดหา "ยีน" ป้องกันไม่ติดเชื้อโควิด พัฒนายาปิดทางด่วนรับเชื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมวิทย์ลุยตรวจเลือดคนไทย ค้นหายีน ทำติดโควิดซ้ำ อาการรุนแรง ภูมิไม่ขึ้น และคนไม่ติดเชื้อหายีนป้องกันการติดเชื้อ พัฒนายาปิดทางด่วนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผอ.สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้สถาบันฯ กำลังดำเนินโครงการพิเศษตรวจเลือดกลุ่มตัวอย่างราวๆ 2,000 คน ครึ่งหนึ่งเป็นคนที่เคยติดเชื้อโควิด 19 มาก่อน และครึ่งหนึ่งไม่เคยติดเชื้อมาก่อน เพื่อหายีนเฉพาะที่ทำให้บางคนมีการติดเชื้อซ้ำ อาการรุนแรง ฉีดวัคซีนแล้วภูมิไม่ขึ้น และหายีนบางตัวที่ทำให้คนไม่ติดเชื้อ แม้ว่าจะเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงก็ตาม โดยโครงการจะสิ้นสุดในปี 2566 จะสามารถวิเคราะห์ผลได้ประมาณปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

นพ.สุรัคเมธ กล่าวว่า ในยุโรปก็มีการศึกษา พบว่า คนที่ติดเชื้ออาการหนักนั้นมียีนที่รับมาตั้งแต่มนุษย์ในสมัยก่อน ส่วนในเอเชียไม่ค่อยมีการศึกษาตรงนี้ เราก็เริ่มศึกษาตั้งแต่ที่มีการระบาดที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร การระบาดที่หลักสี่ กทม. โดยตรวจเลือดดูว่าใครอาการหนัก ไม่หนักอย่างไร ตอนนี้วิเคราะห์ได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่เจอยีนเฉพาะที่ทำให้อาการหนักในคนไทย จึงต้องศึกษาต่อ ซึ่งต่อมามีความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นเมื่อประมาณ ส.ค.2565 ส่งตัวอย่างเลือดไปตรวจวิเคราะห์เพิ่มเติม พบข้อมูลว่ามียีนที่ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส แต่ยีนนี้ในบางรูปแบบ ในคนไทยบางคนต่อให้มีการฉีดวัคซีนแล้ว หรือติดเชื้อมาแล้ว แต่ก็ยังสามารถติดเชื้อซ้ำได้ง่ายๆ ดังนั้นทำให้เห็นว่าปัจจัยที่ทำให้คนติดเชื้อและติดเชื้อซ้ำนั้น นอกจากปัจจัยจากความเปลี่ยนแปลงของเชื้ออยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังอยู่ที่ยีนของแต่ละคนด้วยว่ามีโอกาสติดเชื้อง่ายกว่า หรือมีโอกาสรุนแรงกว่า

ส่วนการตรวจคนที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อนนั้น ก็เพื่อหายีนบางตัวที่ป้องกันการติดเชื้อ เหมือนกับที่เคยมีการศึกษาในโรคอื่นๆ เช่น เชื้อ HIV ที่พบว่ามียีนกลุ่ม ซึ่งปกติจะจับกับเชื้อ HIV ได้ดี เหมือนเป็นช่องทางด่วนให้เชื้อเข้ามา แต่ยีนมีการกลายพันธุ์ ทำให้คนที่มียีนนี้แม้สัมผัสเชื้อ เช่น สามีภรรยา แต่ก็ไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อดังกล่าว และนำมาสู่การพัฒนายารักษาปิดช่องทางด่วนเพื่อไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นเชื้อ SARS-CoV-2 ก็เช่นกัน ซึ่งปกติจะมีตัวจับเชื้อ ACE 2 receptor ในทางเดินหายใจ ดังนั้นหากเรารู้ตรงงนี้ ก็เอาไปพัฒนายาปิดช่องทางด่วนการติดเชื้อโควิดได้ หรืออาการไม่หนักได้


กำลังโหลดความคิดเห็น