สบส.เตรียมเอาผิด 3 ข้อ "คลินิกย่านปากเกร็ด" เสริมอึ๋มจนสาวดับ ฟันผ่าตัดใหญ่ไม่ขออนุญาต แพทย์ไม่ยื่นใบ ส.พ.6 และโฆษณาไม่ได้รับอนุญาต เตรียมเรียกสอบหมอผ่าตัด ประสานแพทยสภาให้ความเห็นมาตรฐานการรักษา แจงคลินิกประกาศปิดเอง ยังไม่มีคำสั่งปิดชั่วคราว ชี้เป็นอำนาจของ สสจ.นนท์ เร่งสอบเพิ่ม "คลินิกย่านห้วยขวาง" ตรวจเลือดผู้ตายหลังใบอนุญาตหมดอายุเมื่อสิ้นปี 65 หรือไม่
เมื่อวันที่ 29 มี.ค. นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีตรวจสอบคลินิกย่านปากเกร็ดทำศัลยกรรมหน้าอกสาวไทยอายุ 37 ปี กลับมาเสียชีวิตที่บ้านพักหลังทำไม่ถึง 6 ชั่วโมง ว่า ตามที่มีข่าวว่ามีการสั่งปิดคลินิกดังกล่าว อาจเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เท่าที่ทราบคือ เจ้าหน้าที่ สบส.ไปตรวจพร้อมกับพนักงานสอบสวน ทางคลินิกเขียนป้ายติดไว้เองว่า ปิด เนื่องจากไม่มีแพทย์ ทั้งนี้ การสั่งปิดคลินิกชั่วคราวเมื่อมีข้อมูลพยานหลักฐานว่ามีเหตุออกคำสั่งอนุญาตให้ปิดได้นั้น เนื่องจากอยู่ในเขตพื้นที่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นนทบุรี ซึ่งอธิบดี สบส.มอบอำนาจให้ไปแล้ว การออกคำสั่งปิดชั่วคราวจึงต้องเป็นอำนาจของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีออกคำสั่ง ซึ่งยังไม่เห็นว่ามีคำสั่งปิดชั่วคราวออกมา
สำหรับผลการตรวจสอบคลินิกดังกล่าว ทราบว่า มีการขออนุญาตเปิดสถานพยาบาลกับ สสจ.นนทบุรี และมีห้องผ่าตัดเล็ก แต่การผ่าตัดเสริมเต้านม เคยมีการปรึกษาทางแพทยสภาและมีการตอบกลับมาตั้งแต่ปี 2562 ว่า การผ่าตัดเต้านมเข้าข่ายการผ่าตัดใหญ่ ซึ่งไม่ควรทำในห้องผ่าตัดเล็ก การให้ยาชา ยาระงับความรู้สึกต่างๆ แพทย์สามารถให้ได้ แต่ต้องมีอีกคนคอยดูเรื่องระบบทางเดินหายใจ เฝ้าระวังอาการหลังผ่าตัด แต่ข้อเท็จจริงหลังไปตรวจคือ การผ่าตัดใช้ห้องผ่าตัดเล็ก ไม่มีการขออนุญาตผ่าตัดใหญ่ และตอนไปตรวจก็ไม่เจอทั้งแพทย์ผู้ให้บริการผ่าตัด และแพทย์ที่เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาล เจอแต่เจ้าหน้าที่คลินิก เท่าที่สอบถามพบว่า วันที่ผ่าตัดมีแพทย์ผู้ให้การผ่าตัดกับผู้ช่วยอีก 2 คน ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป้นใครบ้าง แต่เราจะเรียกให้มาพบและให้ถ้อยคำต่อไป
"ความผิดของคลินิกแห่งนี้ คือ 1.โฆษณาสถานพยาบาล เนื่องจากคลินิกมีการโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งผู้ตายทราบข้อมูลจากเฟซบุ๊ก ติดต่อกับเซลส์จนมาสู่การรักษา ซึ่งไม่ขออนุญาต สสจ.นนทบุรี ในการโฆษณาก่อน จึงผิดการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต 2.การผ่าตัดใหญ่โดยไม่ขออนุญาต ใช้ห้องผ่าตัดเล็กดำเนินการ ก็จะมีความผิด กรณีไม่ขออนุญาตผ่าตัดใหญ่ ผิด พ.ร.บ.สถานพยาบาล แต่โทษไม่หนัก คือ ระวางโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท และ 3.แพทย์ผ่าตัดไม่ได้ยื่นแบบแสดงความจำนงเป็นผู้ให้บริการ หรือใบ ส.พ.6 กับทาง สสจ.ผู้อนุญาต จึงมี 3 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.สถานพยาบาล" นพ.ภานุวัฒน์กล่าวและว่า ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับผู้เสียชีวิต ทางพนักงานสอบสวนจะมีการสอบปากคำพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อดำเนินคดีต่างๆ ซึ่งก็จะมีการขอความเห็นจากทางแพทยสภาเกี่ยวกับมาตรฐานการรักษา เป็นประมาทเลินเล่อหรือไม่ ซึ่ง สบส.จะร่วมกับ สสจ.นนทบุรีประสานส่งประเด็นต่างๆ ไปด้วย
เมื่อถามถึงกรณีมีคลินิกอีกแห่งในเขตห้วยขวางร่วมดำเนินการกรณีนี้ด้วย การส่งผู้ป่วยมารับบริการกับคลินิกที่ไม่มีห้องผ่าตัดใหญ่ถือว่าผิดด้วยหรือไม่ นพ.ภานุวัฒน์กล่าวว่า การที่มีกล่าวอ้างถึงคลินิกนี้ อ้างอิงจากใบเสร็จรับเงินที่ญาติแจ้งและลงบันทึกประจำวันที่มีการพูดถึงคลินิกย่านเขตห้วยขวางนี้ ซึ่งเท่าที่ทราบผู้ป่วยติดต่อผ่านเซลส์ และเซลส์ประสานให้ไปตรวจเลือดจากคลินิกอีกที่หนึ่ง และให้เลือกคลินิกที่จะมาทำการผ่าตัดเสริมเต้านมว่ามีที่ไหนบ้าง ซึ่งผู้เสียชีวิตก็มาเลือกที่คลินิกย่านปากเกร็ดนี้ เหตุการณ์จึงซับซ้อน เพราะเกิดทั้งเขตปทุมธานี นนทบุรี และห้วยขวาง ทำให้ สสจ.นนทบุรีประสานมาที่ สบส.ให้ช่วยลงไปดำเนินการด้วย
"เท่าที่ทราบข้อมูลสถานพยาบาลอีกที่หนึ่ง เคยได้รับอนุญาต แต่ใบอนุญาตหมดอายุตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2565 จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการมาขอต่ออายุใบอนุญาต ก็ถือว่าหมดอายุไปแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ สบส.ได้ติดต่อกับผู้เคยขออนุญาตมาให้ข้อมูลในวันที่ 29 มี.ค. ว่ามีการติดต่อกันจริงหรือไม่อย่างไร ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบข้อมูลว่า ให้บริการผู้เสียชีวิตในช่วงก่อนหรือหลังหมดอายุใบอนุญาต แต่เหตุการณ์นี้ก็ไม่นาน เพราะเดินทางมาจากต่างประเทศเพื่อผ่าตัดโดยตรงตามนัด หากพบว่ามีการดำเนินการช่วงหลังปีใหม่นี้ ก็ถือว่าให้บริการทั้งที่เป็นคลินิกที่ไม่ได้รับอนุญาต" นพ.ภานุวัฒน์กล่าว